สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เทียบ ทักษิณ-จอมพลป.-สฤษดิ์ วิเคราะห์จุดต่าง นิติราษฎร์-คณะราษฎร

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์



นับจากปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475

วันนี้วงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยหมุนมาบรรจบครบ 80 ปี

"รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" แยกแยะความเหมือน-ความต่าง การเมืองไทยช่วงก่อนและหลัง 2475 กับ 2555 ในเชิงตรรกะทางประวัติศาสตร์ ในวันที่กลุ่มเจ้านายครั้งอดีตถูกลดบทบาท และมีกลุ่มทุนขนาดยักษ์เข้ามาแทนที่

เขายังเปรียบเทียบความเด็ดขาด ของ "ทักษิณ" คล้าย 2 ผู้นำเผด็จการ คือ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" และ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ไว้อย่างน่าสนใจ

- ปรากฏการณ์ทางการเมืองก่อนและหลังเปลี่ยนแปลง 2475 กับปัจจุบันเหมือนหรือคล้ายกันอย่างไร

ผม คิดว่าความต่างกันมันมีมากกว่า โดยเฉพาะตัวโครงสร้างของสถาบันการเมืองและโครงสร้างของการปกครอง เรื่องใหญ่ที่สุดก่อน 2475 ประเทศปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐ และเป็นประมุขฝ่ายบริหารในเวลาเดียวกัน แต่หลัง 2475 พระองค์เป็นประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียว พระองค์ท่านปลอดจากการเมืองเชิงบริหาร การตัดสินใจเป็นของนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนตัดสินใจ นี่คือบริบทที่ต่างกันมาก

- จุดโดดเด่นในช่วงก่อน 2475 กลุ่มเจ้านายมีบทบาทอย่างสูง แต่ตอนนี้กลุ่มเจ้านายแทบไม่มีบทบาท

(สวน ทันที) แน่นอนคุณก็เห็นชัด กลุ่มเจ้านายเดี๋ยวนี้เป็นกลุ่มที่เล็กมาก เพราะว่าเจ้านายไม่มีบทบาทในเชิงบริหารอีกแล้ว เหลนของสมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นแค่

ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ เหลนของกรมพระยาดำรงฯ คนก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยแท้ ๆ เดี๋ยวนี้ยังเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นปลัดกระทรวงด้วย รมว.มหาดไทยก็ไม่ใช่ด้วย มาจากฝ่ายการเมือง ธุรกิจการเมืองทั้งหมดแล้ว

- มีคนพูดถึงโครงสร้างกลุ่มอำนาจในปัจจุบันว่าเป็นกลุ่มอำมาตย์ เป็นผู้มีบารมีอยู่นอกรัฐบาลเสมอ

นัก ประวัติศาสตร์ตีความเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือปีกหนึ่งเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีกฎของมัน เมื่อมีพระเจ้าวางแผนการของมันแล้วว่าประวัติศาสตร์จะไปอย่างไร ประวัติศาสตร์มันต้องคลี่คลายไปตามจังหวะจะโคนของมัน แต่ประวัติศาสตร์อีกสกุลหนึ่งต้องมองว่าประวัติศาสตร์มีเหตุการณ์เฉพาะ มีวิวัฒนาการในส่วนของมันเอง

และไม่ซ้ำกันเลย เมื่อมันจบเหตุการณ์ไปแล้วมันก็จบไปเลย เช่น การปฏิวัติ 2475 มันจบไปแล้วก็คือจบไปเลย

แต่บางคนพยายามจะบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันไม่จบ เพราะมัน

ยังมีบางเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย

- กลุ่มนิติราษฎร์มีลักษณะเชื่อมโยงให้มีบริบทที่คล้ายกลุ่มคณะราษฎรกับในอดีต

นั่นเป็นสิ่งที่พูดตรง ๆ ว่าผมเห็นต่าง กลุ่มพวกนี้เชื่อว่าประวัติศาสตร์มันยัง

ไม่จบ เพราะว่ายังทำเรื่องนั้นเรื่องนี้

ไม่เสร็จ นี่คือการตีความสายหนึ่งทางประวัติศาสตร์ ที่เขาพยายามเชื่อมโยงเพราะต้องการให้เกิดพลัง

- คณะนิติราษฎร์ กับความเคลื่อนไหวในรัฐสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าสองภาพนี้ต่อกันได้หรือไม่

มัน ต่อกันได้หรือไม่ คงต้องดูการเคลื่อนไหวนับจากนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. แต่ผมเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยเขามีแผนการของตัวเอง รัฐบาลคงไม่ต้องการแก้ไขให้มันยุ่งมากมาย ผมคิดว่าคณะนิติราษฎร์มีกรอบที่กว้างใหญ่กว่าวัตถุประสงค์ของแกนนำพรรคเพื่อ ไทย หรือนักการเมืองในสภา เพราะฉะนั้นมันจะเชื่อมโยงกันหรือไม่ อยู่ที่การจัดตั้ง ส.ส.ร. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

- มองในกรอบปรากฏการณ์การเมือง ขณะนี้ต่างจากอดีตอย่างไร

มัน ต่างไปอย่างสิ้นเชิง กลุ่มเจ้านายมันไม่มีอำนาจหรือพลังที่จะกำหนดทิศทางเชิงกลไกทางบริหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงบริหารประเทศเอง ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่เมืองไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปก็คือนักธุรกิจ คนชั้นกลางในเมืองในกรุงเทพฯ มันมีมหาศาล จึงทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไป ส่วนกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างที่เติบโตมาในเขตชนบท ก็ผันตัวมาเป็นนักการเมือง เรามีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในสมัยก่อนไม่มี

- ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นทศวรรษของทักษิณหรือเป็นทศวรรษของอะไร

เป็น การเผชิญหน้ากันของค่านิยมสองชุดใหญ่ คือ ค่านิยมของรัฐไทยที่เติบโตมาจากระบบราชการไทย มีขั้นตอน กฎเกณฑ์ หรือมารยาท กับอีกค่านิยมหนึ่งที่เติบโตมาจากกลุ่มทุน หรือกลุ่มธุรกิจซึ่งต้องการความรวดเร็ว ต้องการความคล่องตัว ต้องการประสิทธิภาพในผลสุดท้าย โดยไม่ต้องสนใจวิธีการ ค่านิยมสองชุดนี้เผชิญหน้ากัน คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินรอยตามนี้ เพราะเขามาจากภาคธุรกิจ

- จะทำอย่างไรให้นักธุรกิจปรับตัวเข้ากับค่านิยมในระบบการเมืองไทย

คุณ ยิ่งลักษณ์ก็เรียนรู้หลายเรื่อง หรือแม้กระทั่งคุณทักษิณจะมีวุฒิภาวะมากขึ้นพอสมควรว่าอะไรจะได้เร็ว อะไรจะได้ช้า อะไรจะทุบโต๊ะเอาได้ อันไหนควรจะแบ่งปันคนอื่น

- ในประวัติศาสตร์ นักการเมืองคนไหนมีอิทธิพลแบบคุณทักษิณ

มัน ก็มีนะ แต่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่ก้าวกระโดด เช่น จอมพล ป. เป็นผู้นำม้ามืดที่ขึ้นมาในปี 2481 เด็ดขาดตัดสินใจรวดเร็ว เปลี่ยนชื่อประเทศ ประกาศเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ตอนนั้นวุ่นวายไปหมด ร่วมรบสงครามโลกกับประเทศญี่ปุ่นอีก โอ้โห...ยิ่งวุ่นวายอีก

จอมพล สฤษดิ์เองก็เป็นม้ามืด ผู้นำม้ามืดในอดีต ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์ ส่วนใหญ่จะมีอำนาจทางการเมืองอย่างเดียว เขาไม่ได้ร่ำรวย ผมว่าคุณทักษิณมีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากจะมีอำนาจทางการเมืองแล้วยังมีกำลังทรัพย์อันมหาศาล

- หากเทียบคุณสมบัติระหว่างจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และทักษิณ มีอะไรที่เหมือนหรือต่างกัน

ความ เด็ดขาดที่เหมือนกัน ทั้ง 3 คนมีความคิดความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนประเทศไทย จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และคุณทักษิณก็มีความมุ่งมั่นว่าประเทศไทยที่เป็นมาแต่เดิมมันใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไป อย่างจอมพลสฤษดิ์เขาใช้อำนาจเผด็จการไม่ต้องแคร์ใครอยู่แล้ว เปลี่ยนประเทศไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่าลืมว่าจอมพลสฤษดิ์เปลี่ยนประเทศไทยไปมหาศาล

- จอมพล ป.กับคุณทักษิณตัดสินใจเด็ดขาดเหมือนกัน ทำให้ทั้ง 2 คนประสบปัญหาทางการเมืองกัน

ก็ มีอยู่ ปัญหาของผู้นำที่ใช้อำนาจเด็ดขาดต้องเผชิญหน้าอยู่คือ ปัญหากับผู้ร่วมงานเอง จอมพล ป.มีเรื่องระหองระแหงกับคณะราษฎรทั้งหมด อ.ปรีดีก็แยกไปตั้งวงอื่น คุณทักษิณก็มีปัญหาเหมือนกัน พรรคไทยรักไทยตอนที่รุ่งเรืองที่สุด คุณทักษิณดูใหญ่มาก แต่พอตอนทักษิณสมัยที่สอง คุณทักษิณเหลือคนใกล้ชิดอยู่ 3-4 คน คนอื่น ๆ เขาหนีหมดแล้ว

- รัฐบาลเสียงข้างมาก บวกแนวร่วมมวลชนทั้งในและนอกสภา บวกกับแนวร่วมกลุ่มธุรกิจเสียงข้างมากจะลากประเทศไทยไปทางไหน

ผม ตอบไม่ได้นะ แต่คงลากไปอีกสักพักหนึ่ง ตัวที่ทำให้คลายมีความเป็นไปได้สองอย่างคือ 1.การแตกขั้วของมันเอง อาจเป็นเพราะอุดมการณ์และผลประโยชน์ขัดกัน 2.การเกิดพลังของขั้วใหม่ ประทานโทษผมอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ปรับตัวมากกว่านี้สักนิดหนึ่งก็อาจเป็น ตัวเลือก อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากกว่านี้ หากเมืองไทยมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งกว่านี้ เราก็อาจมีพรรคแรงงานจริง ๆ เสียที เพราะความรู้สึกของประชาชนอ่อนไหว อย่าคิดว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งเปลี่ยนใจไม่ได้


บจ.สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา

Tags : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เทียบ ทักษิณ จอมพลป. สฤษดิ์ วิเคราะห์จุดต่าง นิติราษฎร์ คณะราษฎร

view