สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้หญิง2.7หมื่นตกเป็นเหยื่อรุนแรงทางเพศ-ครอบครัว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

มูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่าผู้หญิงยังเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศและครอบครัวสูงขึ้นปี2554ถูกกระทำถึง2.7หมื่นคน ปี2555ขอความช่วยเหลือแล้ว500คน
ในวันที่ 8 มีนาคม "วันสตรีสากล" กลุ่มผู้หญิงได้ออกมารณรงค์สิทธิสตรี พร้อมรายงานสถานการณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงไทย นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของทางศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่ามีผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงเข้าไปรักษาตัวที่ศูนย์พึ่งได้ถึงกว่า 2.7 หมื่นคน ส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและปัญหาการทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว
   
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับมูลนิธิเพื่อนหญิงที่พบว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2555 มีผู้หญิงที่มาความช่วยเหลือกว่า 500 คน โดยในจำนวนนี้ 80% เป็นปัญหาภายในครอบครัว อีก 20% เป็นปัญหาความรุนแรงทางเพศ ขณะที่ในปี 2554 มีผู้หญิงที่เข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 1.3 พันคน
    
"ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วยังมีความรุนแรงกับผู้หญิงอีกมากที่ไม่กล้าเปิดเผย เพราะความอาย กลัวเสียชื่อเสียงและกลัวแฟนหรือญาติพี่น้องรับไม่ได้ บางรายถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลไม่ให้ไปแจ้งความ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญมองเป็นเรื่องครอบครัว " นางสาวธนวดี กล่าว
พบผู้หญิงถูกทำร้ายไม่แจ้งความ
   
หากลองเปรียบเทียบตัวเลขกับศูนย์พึ่งได้ของ สธ. ในปี 2554 มีผู้หญิงเข้ารับการรักษาถึงกว่า 2.7 หมื่นคนที่ถูกกระทำรุนแรง ขณะที่ตัวเลขของผู้หญิงแจ้งความกับตำรวจในปี 2554 มีแค่ 3-4 พันคนเท่านั้น จะเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่กล้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำกับเหยื่อผู้หญิงรายเดิมๆ และอาจจะไปกระทำกับเหยื่อรายใหม่ๆ และหากสังเกตเวลาตำรวจจับคนร้ายได้พบว่า เป็นผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายผู้หญิงมาก่อนหลายครั้ง
   
นางสาวธนวดี กล่าวต่อไปว่า ส่วนผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมีเพียงแค่ 1.3 พันคนที่เข้าถึงความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงขอให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้หญิง เร่งสร้างมาตรการที่จะขับเคลื่อนกลไกในการคุ้มครองผู้หญิงของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ขอให้จัดสรรงบประมาณ เครื่องมือที่จะขับเคลื่อนกลไกให้มีประสิทธิภาพ

เรียกร้องช่วยแรงงานหญิง
   
ส่วนสถานการณ์แรงงานหญิง ยังพบว่าในสถานประกอบการจำนวนมากที่ยังเอาเปรียบแรงงานและกดขี่ทางเพศ โดย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงานหญิงจากหลายภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆ รวมกว่า 1 พันคน ได้รวมตัวกันด้านหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อเดินขบวนรณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 6 ข้อ ในการคุ้มครองสตรี
   
นางสาวธนพร  วิจันทร์     ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ คือ 1.การให้ความช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา โดยรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมกับแรงงาน ทั้งการจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย หรือเงินชดเชยตามกฎหมาย
    
นอกจากนี้ควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ รวมถึงแก้ไขกรณีประกันการว่างงานให้ใช้สิทธิกรณีที่เกิดวิกฤตินายจ้างประกาศหยุดโรงงาน เนื่องจากเชื่อว่าในจำนวนแรงงานกว่า   5.1 หมื่นคน ที่ถูกเลิกจ้าง และอีก 1.6 แสนคนที่ยังไม่กลับเข้าทำงาน มีแรงงานหญิงกว่าครึ่งที่ได้รับผลกระทบ เพราะแรงงานหญิงมีสัดส่วนมากถึง 17.6 ล้านคนหรือ ร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมดกว่า 38 ล้านคน
   
“แรงงานหญิงกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปจังหวัดอื่นและหลายแห่งก็ประกาศเลิกจ้าง ลดจำนวนคนงาน ทั้งปัญหาเรื่องปากท้องครอบครัว กระทบต่อแรงงานหญิงที่ต้องดูแลครอบครัวต้องแบกรับภาระหนัก รวมทั้งนายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยแถมยังแจ้งประกันสังคมว่าคนงานลาออก ทำให้เสียสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 50” นางสาวธนพร กล่าว

ลูกจ้างหญิงนอกระบบขาดอาชีพ
              
นางสาวธนพร กล่าวอีกว่า   ขณะเดียวกันแรงงานหญิงนอกระบบไม่สามารถประกอบได้ในช่วงน้ำท่วมและหลายครอบครัวสูญเสียเครื่องมือประกอบอาชีพ ไม่สามารถหามาทดแทนได้ ขณะที่แรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบภัยน้ำท่วมพบปัญหาไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ
   
ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ 2 คือการเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกระบบ   ซึ่งพบว่าเนื้อหาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกองทุนนี้มีข้อบกพร่องหลายประเด็น
   
นอกจากนี้  ยังมีเรื่องที่ต้องติดตามอีก  4 เรื่อง ได้แก่  1.การไม่จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานสำหรับแรงงานหญิงในย่านอุตสาหกรรม  2.การไม่รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 183  ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาลางานมาดูแลบุตรหลังคลอดได้ โดยต้องมีจำนวนวันลาสำหรับการคลอดและเลี้ยงดูบุตรไม่น้อยกว่า 3 เดือนครึ่ง และต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของค่าจ้างที่ได้รับ
 
ติงกองทุนสตรีศึกษาก่อนเดินหน้า
   
ที่การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานวันสตรีสากลและการประกาศเกียรติคุณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ด้านสตรีและครอบครัว โดย ดร.กรวิภา วิลลาศ นักวิชาการประจำกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สภาผู้แทนฯ กล่าวในหัวข้อผู้หญิงกับการจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ว่า เข้าใจว่าเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยหลักการแล้วเป็นกองทุนที่ดีจะสามารถครอบคลุมในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่จะทำให้ผู้หญิงยืนได้ด้วยตัวเอง เรื่องสังคมที่จะทำให้มีการมองผู้หญิงเป็นคนมากขึ้นเหมือนกับมองผู้ชาย
   
"โจทย์ของกองทุนสตรี คือ งบประมาณกว่า 7,700 ล้านบาท ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะยกระดับพัฒนาสตรีให้ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลควรที่จะมีการศึกษาว่าอาชีพใดที่ทำให้ผู้หญิงมีอาชีพหรือรายได้จริง รวมทั้งการส่งเสริมให้สตรีเป็นผู้นำ การส่งเสริมลดความรุนแรงทางเพศ กองทุนจะทำอย่างไร"
       
ดร.กรวิภา กล่าวอีกว่า วิธีคิดของกองทุนฯนั้นมีกลไกอยู่แล้ว และเชื่อว่าสตรีจะเข้าไปตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันควรที่จะมีศึกบทเรียนจากกองทุนหมู่บ้านว่ามีจุดด้อยอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นพบปัญหาสตรีไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้ และปัญหาเรื่องกรรมการของทุน นำเงินออกไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งไม่ควรมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
   
“อย่าสนใจว่ากองทุนนี้เป็นของแดงหรือเหลือง แต่ขอให้สตรีได้เข้าไปใช้ เพราะเป็นภาษีของเรา ตนก็ได้ขอให้มีการเปิดรับสมาชิกไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งปิด กองทุนไม่ควรรีบร้อนควรจะเปิดรับสมัครไปก่อนยังไม่ควรปิด ซึ่งมีเรื่องที่มีความเป็นห่วงว่าจะสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ เพราะขณะนี้เริ่มมีปัญหาด้านการสื่อสารข้อมูลที่ยังไม่ลงถึงพื้นที่ ประชาชนยังไม่รู้เรื่อง แต่” ดร.กรวิภา กล่าว
ชี้ควรเริ่มนำร่องภาคละ 2 จังหวัด
   
นอกจากนี้ ดร.กรวิภา กล่าวอีกว่า การดำเนินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้น ควรที่จะเริ่มทำในลักษณะนำร่องก่อน เช่นภาคละ 2 จังหวัด อย่างทำครั้งเดียวทั้ง 77 จังหวัด หลักจากมีการนำร่องแล้ว ก็ควรมีการถอดบทเรียน ก่อนที่จะปรับปรุง

"ยิ่งลักษณ์" ติด 1 ใน 150 นักสู้ของโลก
   
นิตยสาร นิวสวีค จัดอันดับสุดยอดผู้หญิงนักสู้ของโลก 150 คน เนื่องในวันสตรีสากล โดยใช้ชื่อว่า 150 ผู้หญิงที่ไร้ความหวั่นเกรง เป็นการรวบรวมรายชื่อของผู้หญิงที่เป็นทั้งผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล แกนนำการประท้วงทั้งในเมืองใหญ่และหมู่บ้านเล็กๆ ผู้หญิงที่ต่อสู้ทั้งทางด้านการศึกษา ธุรกิจ และการคอร์รัปชัน ผู้หญิงที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และลบล้างแนวความคิดผิดๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิต และสิทธิมนุษยชน และ ใน 150 คนนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย  ติดอันดับอยู่ด้วย
   
โดย นิวสวีค ระบุว่า นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ด้วยการหาเสียงชูนโยบายการกำจัดปัญหาความยากจน ด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สร้างรถไฟความเร็วสูง และแจกคอมพิวเตอร์ฟรีให้นักเรียนทุกคน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้หญิง ตกเป็นเหยื่อ รุนแรงทางเพศ ครอบครัว

view