สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้รัฐธรรมนูญด้วยความกลัว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นโครงสร้างของการปกครองประเทศ โดยทั่วไปในนานาอารยประเทศ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้วจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองประเทศ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองกันเลย จะแก้ไขบ้างก็เป็นส่วนปลีกย่อยที่ไม่กระทบโครงสร้างการปกครอง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 เป็นเหมือนการปรับโครงสร้างใหญ่ แต่ยังคงลักษณะของการปกครองไว้ เปรียบเหมือนกับการปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยภายในบ้าน เปลี่ยนห้องหับภายในบ้าน แต่ยังคงเป็นมีลักษณะของบ้านทรงไทยไว้เช่นเดิม ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นทรงยุโรป

หากเราติดตามการยกร่างกฎหมาย เราจะทราบถึงที่มาของการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ ว่ามีเหตุผลอย่างไร เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้นคืออะไร

รัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะยังคงโครงสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มี 3 อำนาจอธิปไตยอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศอย่างมาก สร้างองค์กรอิสระให้มีอำนาจในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่นักเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่มองเห็นปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ว่า นักการเมืองคือนักเลือกตั้ง คือปัญหาของประเทศ เมื่อได้อำนาจมาจากประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งแล้ว ก็จะใช้อำนาจนั้นเพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยไม่สนใจว่าการได้อำนาจนั้นๆ จะใช้วิธีการใด การบริหารราชการแผ่นดินผ่านฝ่ายบริหาร จึงเป็นสมบัติที่ผลัดกันชมในกลุ่มนักการเมือง โดยไม่ต้องเกรงกลัวการตรวจสอบ

สส.เองก็นิยมชมชอบที่ตัวเองมีความสำคัญ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงสร้างกติกาให้พรรคเข้มแข็ง ให้พรรคสามารถควบคุม สส.ได้ เหมือนอย่างที่เสี่ยดูไบเคยพูดไว้ว่า ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 นายกรัฐมนตรีเห็น สส.เดินเข้ามาหาแล้วขาสั่น เพราะไม่รู้ว่า สส.จะมาข่มขู่ มาเรียกร้องอะไร

นอกจากสร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็งแล้ว ยังสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาควบคุมนักการเมือง เพราะระบบการค้านและดุลอำนาจกันของ 3 อำนาจอธิปไตย ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับนักการเมืองพันธุ์พิเศษของไทยได้ นักการเมืองไทยเป็นยิ่งกว่าศรีธนญชัยที่ไม่มีความสำนึกในด้านคุณธรรม จริยธรรม มีแต่ความสำนึกที่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจ จะได้นำมาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย และเกียรติยศชื่อเสียง มีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง

ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ทราบดีว่าการควบคุมนักการเมือง ต้องไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จะไม่ได้คนดีๆ ที่ไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง ผู้ร่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาผู้แทนได้ จึงได้ออกแบบให้วุฒิสภาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ เริ่มจากให้วุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อให้พ้นจากวังวนของการ เมือง

แต่จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ที่ที่มาของวุฒิสภา ซึ่งหนีไม่พ้นที่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งด้วยการกำหนดห้ามสังกัดพรรคการ เมือง โดยคาดหวังว่านักการเมืองไทยจะมีคุณธรรมจริยธรรมยอมรับกติกาที่จะไม่ยุ่งกับ วุฒิสภา

คงต้องยอมรับว่าสมัยแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 นักการเมืองยังตั้งตัวไม่ติด ยังไม่เห็นอำนาจของวุฒิสภา ยังไม่เห็นอิทธิฤทธิ์องค์กรอิสระ จึงไม่ทันได้เข้าครอบงำวุฒิสภา

วุฒิสมาชิกสมัยแรกรวมทั้งองค์กรอิสระ จึงค่อนข้างจะมีคุณภาพ อันจะเห็นได้จากผลงานที่นักการเมืองระดับรัฐมนตรีหลายคนต้องจบชีวิตทางการ เมืองด้วยโทษทางอาญา บางคนต้องหลบหนีคดีไปต่างประเทศ บางคนต้องติดคุกจากผลของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540

แต่นักการเมืองไทยปรับตัวเร็วเก่งกว่าศรีธนญชัย เพียงไม่ครบเทอมแรกของวุฒิสภาที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 นักการเมืองไทยก็รู้แล้วว่าต้องควบคุมที่มาของวุฒิสภา ผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระ

คนที่เก่งที่สุดในเรื่องนี้ต้องยกให้นายห้างใหญ่ดูไบ ด้วยความเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ นายห้างใหญ่มีความสามารถทำให้องค์กรอิสระขาดความเป็นอิสระ ควบคุมองค์กรอิสระได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในการเลือกตั้งวุฒิสภาสมัยที่ 2 วุฒิสภาจึงอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง และเป็นที่มาของประธานสภาได้ฉายาจากสื่อว่า สุชิน (คุณสุชน ชาลีเครือ) และเป็นที่มาของปรากฏการณ์คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 หนา 5 ห่วง

เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งองค์กรอิสระ เป็นเหมือนหน่วยงานหนึ่งของบริษัทภายใต้ตระกูลชิน ที่ไม่สามาถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาของตุลาการภิวัฒน์ที่ต้องใช้บริการฝ่ายตุลาการที่ยังมีความเป็น อิสระและไว้วางใจได้ ทำให้ตุลาการต้องเข้ามามีบทบาทในหลายด้านทางการเมืองซึ่งเป็นอันตรายกับฝ่าย ตุลาการเอง เพราะการเมืองย่อมไม่ปล่อยให้เป็นอิสระนอกเหนือการควบคุมของฝ่ายการ เมืองอย่างแน่นอน

รัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของไทย แต่ไม่สามารถควบคุมนักการเมืองไทยได้

เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี 2549 เมื่อต้องร่างรัฐธรรมนูญสำหรับใช้ปกครองประเทศ จึงได้มีความพยายามที่จะอุดจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 จนได้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะถูกยกเลิกโดยพรรคเพื่อดูไบ

รัฐธรรมนูญ ทั้งปี 2550 และที่กำลังจะร่างขึ้นใหม่ ก็หนีไม่พ้นการร่างด้วยความกลัว

เอาไว้วันจันทร์หน้า เราค่อยมาดูกันว่า เขากลัวอะไรกัน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้รัฐธรรมนูญ ความกลัว

view