LTRO 2 คือการซื้อเวลา
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
LTRO ย่อมาจาก Long-Term Refinancing Operations หรือมาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank)
หรืออีซีบี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะว่าการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลให้กับสถาบันการเงินของยุโรปได้ช่วยทำให้นักลงทุนคลายความกังวลที่เคยมีเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่องของระบบการเงินในยุโรป ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะนำไปสู่ฦ37 ?่ผ่านมา เพราะว่าการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลให้กับสถาบันการเงินของยุโรปได้ช่วยทำให้นักลงทุนคลายความกังวลที่เคยมีเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่องของระบบการเงินในยุโรป ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะนำไปสู่วิกฤติทางการเงินในยุโรปที่อาจฉุดเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จึงสรุปได้ว่า LTRO นั้นเสมือนกับยาวิเศษ แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ยังมองว่า LTRO เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น กล่าวคือ เป็นการซื้อเวลาโดยหวังว่าผู้ดำเนินนโยบายจะใช้เวลาดังกล่าวไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เบ็ดเสร็จในปีนี้
LTRO รอบแรกถูกนำออกมาใช้ในเดือนธันวาคม เป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารทุกแห่งของยุโรปสามารถขอกู้เงินในจำนวนที่ไม่จำกัดจากอีซีบี ทั้งนี้ จะเป็น เงินกู้ระยะยาว 3 ปีที่ดอกเบี้ย 1% และแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ที่ขอกู้ จะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ก็ได้มีการผ่อนผันให้สามารถนำเอาพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์อื่นๆ มาใช้ในการนี้ได้ แม้จะเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่อาจมีปัญหาก็ตาม ผลปรากฏว่า LTRO รอบแรกมีการปล่อยกู้รวมทั้งสิ้น 489,000 ล้านยูโร โดยมีสถาบันการเงินเข้าขอกู้จำนวน 523 ราย ผลที่ตามมา คือ สภาพคล่องของระบบธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและมีส่วนทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่นักลงทุนเคยแสดงความเป็นห่วงอย่างมาก เช่น อิตาลีและสเปนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จริงอยู่ประเทศดังกล่าวได้พยายามปรับนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้มีวินัยทางการคลังและมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่น่าจะมองได้ว่า LTRO เป็นปัจจัยสำคัญที่นำความมั่นใจกลับคืนมา
จึงไม่แปลกอะไรที่อีซีบีได้เปิดโอกาสให้ ธนาคารพาณิชย์ยุโรปกู้เงิน LTRO รอบ 2 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสถาบันการเงินยุโรปก็ตอบรับเป็นอย่างดียิ่งกว่าเดิม กล่าวคือ มีสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 800 แห่งกู้เงิน 529,000 ล้านยูโรจากอีซีบี แปลว่าในช่วงไม่ถึง 3 เดือนที่ผ่านมาอีซีบีได้ปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินยุโรปกว่า 1 ล้านล้านยูโร ทำให้ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าธนาคารกลางของสหรัฐมากนักซึ่งได้ทำคิวอีรอบหนึ่งและรอบสองไปแล้ว และนักลงทุนกำลังรอคอยคิวอีรอบ 3 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า
สำหรับ LTRO นั้นคอลัมน์ “Heard on the Street” ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (วันที่ 1 มี.ค.) เริ่มต้นบทความว่า “Who could resist the lure of almost free money?” หรือ ใครจะไม่ตอบรับเงินที่ได้มาเกือบฟรี? และยอมรับว่า LTRO ทั้งรอบ 1 และรอบ 2 ที่มีธนาคารมาขอกู้เงินอีซีบีถึง 800 แห่ง แปลว่าธนาคารต่างๆ ได้เข้ามากู้เงินอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่อย่างใดแล้วทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กจะต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มกำไรโดยการไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น กู้มาที่ดอกเบี้ย 1% แต่ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่จ่ายดอกเบี้ย 5% ซึ่งจะเป็นการช่วยรัฐบาลของประเทศอิตาลีพร้อมกันไปด้วย นอกจากนั้น ก็อาจเป็นเงินกู้ที่จะช่วยให้ธนาคารลดความเสี่ยงจากการที่จะต้องไปให้ความช่วยเหลือสาขาในต่างประเทศที่เผชิญกับความเสี่ยงด้วย
ประเด็นหลังนี้จะต้องขอขยายความให้เกิดความเข้าใจโดยยกตัวอย่างรายงานข่าวของ Wall Street Journal วันที่ 5 มีนาคมที่ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส คือ Credit Agricole (CA) มีธนาคารลูกที่ทำธุรกิจในประเทศกรีก คือ ธนาคาร Emporiki ซึ่งเป็นภาระทางการเงินสำหรับ CA อย่างมาก โดย CA ต้องปล่อยกู้ให้กับ Emporiki ถึง 10,000 ล้านยูโร ที่สำคัญ คือ Emporiki เป็นสาขาธนาคารต่างประเทศจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการของกรีก แต่ปรากฏว่า Emporiki สามารถกู้เงินอีซีบีผ่าน LTRO ได้ กล่าวคือ Emporiki กู้เงิน 1,800 ล้านยูโรจากอีซีบีในส่วนของ LTRO รอบที่ 1 และรายงานข่าวเชื่อว่าน่าจะกู้เงินเพิ่มอีกมาก จาก LTRO รอบที่ 2 เพราะมีรายงานว่า CA สามารถลดเงินที่ปล่อยกู้ให้กับ Emporiki ลงจาก 10,000 ล้านยูโรเหลือเพียง 5,500 ล้านยูโร เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ดียิ่งสำหรับ CA เพราะจะสามารถ “ตัดหางปล่อยวัด” Emporiki ได้โดยการโยกภาระทั้งหมดไปให้กับอีซีบี
โดยรวมนั้นธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรปเกรงว่าธนาคารลูกของตนในประเทศที่มีปัญหา คือ กรีก โปรตุเกส สเปน และอิตาลี นั้นจะมีสินทรัพย์ที่ธนาคารแม่ไม่สามารถเข้าถึงได้หากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้นต้องแยกตัวออกจากการใช้เงินสกุลยูโร ธนาคารขนาดใหญ่จึงมีความประสงค์จะลดการปล่อยกู้ให้กับธนาคารลูกดังกล่าวหรือปิดธนาคารลง ดังนั้น LTRO จึงเป็นทางออกให้กับธนาคารใหญ่ของยุโรปที่จะโยกภาระทั้งหมดไปให้กับอีซีบี โดยผลักดันให้ธนาคารลูกไปกู้เงินจากอีซีบีแทนที่จะกู้จากธนาคารแม่ เช่น กรณีของธนาคาร Barclays ของอังกฤษ ซึ่งมองว่าการที่ธนาคารลูกของตนไปกู้เงินกับอีซีบีนั้นเป็นการจำกัดความสูญเสียของ Barclays จากการทำธุรกิจในประเทศโปรตุเกสและสเปน ในทำนองเดียวกันธนาคาร KBC ของเบลเยียมสาขาที่ไอร์แลนด์ก็กู้เงินจากอีซีบีผ่าน LTRO รอบที่ 1 มูลค่า 3,000 ล้านยูโร และ จาก LTRO รอบที่ 2 อีก 5,000 ล้านยูโร แต่ไม่ทราบว่าเงินนี้กู้ผ่านสาขาของ KBC ที่ประเทศใด สรุป คือ LTRO กำลังช่วยให้ธนาคารใหญ่ของยุโรป “ล้มบนฟูก” นั่นเอง แต่ก็ไม่ทราบว่าอีซีบีจะบริหารความเสี่ยงของตัวเองที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร
LTRO นั้นช่วยให้ระบบธนาคารหลีกเลี่ยงความตึงตัวที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วและเชื่อว่าสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นจะ “ซื้อเวลา” ให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า (เท่ากับอายุของเงินกู้ LTRO) แต่ Wall Street Journal ติงว่าธนาคารจะมิได้นำเอาเงินกู้ LTRO ไปปล่อยกู้ต่อให้กับธุรกิจและครัวเรือน เพราะทั้งสองส่วนนี้น่าจะต้องการกู้เงินนานกว่า 3 ปีขึ้นไป กล่าวคือ ธนาคารจะต้องการช่วยตัวเองมากกว่าช่วยลูกค้านั่นเอง
นอกจากนั้น จะมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อสภาวการณ์ผ่อนคลายลง รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาก็อาจจะชะลอการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนลง เช่น ในปี 2011 สเปนขาดดุลงบประมาณคิดเป็นมูลค่า 8.5% ของจีดีพี แม้ว่าจะตั้งเป้าเอาไว้ที่ 6.0% ของจีดีพี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสเปนได้ประกาศแล้วว่าสเปนคงจะทำตามเป้าการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 4.4% ของจีดีพีไม่ได้ในปีนี้ หมายความว่าสเปนอาจขาดดุลงบประมาณสูงกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยุโรปจะฟื้นตัวได้จากมาตรการ LTRO ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการลดการขาดดุลงบประมาณหรือไม่ กล่าวคือ LTRO ซึ่งลดความตึงตัวทางการเงินจะช่วยซื้อเวลาให้นโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ มีเวลาทำงานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหรือจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับสถาบันการเงินโดยการเอาอีซีบีเข้าไปเสี่ยง แต่ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ให้กับภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้การฟื้นตัวไม่เกิดขึ้นและการปฏิรูปเศรษฐกิจอาจชะลอลงอีกด้วย ซึ่งหากเป็นกรณีหลังนี้ ยุโรปก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นอีกในวันหน้า ตัวอย่างเช่น LTRO นี้เป็นเงินกู้อายุ 3 ปี ดังนั้น เมื่อเงินกู้ดังกล่าวครบกำหนดก็ต้องตั้งความหวังว่าระบบธนาคารและเศรษฐกิจโดยรวมกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ทำให้สามารถคืนเงินกู้ให้กับอีซีบีได้เต็มจำนวน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ รัฐบาลต่างๆ และสถาบันการเงินก็ยังอ่อนแออยู่ อีซีบีก็จะตกที่นั่งลำบากและไม่เห็นทางเลือกอื่นใดที่จะกอบกู้สถานการณ์ได้ครับ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน