จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 อนุมัติเงิน 2,000 ล้านบาท เยียวยาฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมือง ปี 2548-2553 ตาม “หลักมนุษยธรรม” ปรากฏว่า ไม่มีใครคัดค้านเรื่องการเยียวยา แต่เสียงวิจารณ์จนถึงขณะนี้อยู่ในประเด็นที่ว่าจำนวนเงินสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้คนก่อความรุนแรงในโอกาสต่างๆ เพราะทำแล้วได้เงิน ผู้ชุมนุมที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ละเมิด “สิทธิสาธารณะ” ควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ การเยียวยานี้ควรครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์อื่นหรือไม่อย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ฯลฯ
แม้แต่ประธาน “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ยังออกตัวว่า คอป.เพียงแต่เสนอจ่ายเงินเยียวยาตามหลักการสากลขององค์การสหประชาชาติเท่า นั้น แต่ไม่ได้คำนวณตัวเลขว่าจะต้องจ่ายเท่าใด เพราะการเยียวยามีหลายรูปแบบทั้งเป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ การเยียวยาทางการแพทย์ จิตใจ ทางกฎหมาย การลงโทษผู้กระทำผิด คำขอโทษ การมีงานทำ ฯลฯ ทำให้เราได้รู้ว่าตัวเลขที่เสนอไปนั้นเป็นฝีมือของ “คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน คำนวณกันเอง
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการเยียวยา คือ ตอบแทนคนเสื้อแดงที่มีส่วนสำคัญในการล้มรัฐบาลชุดก่อน และทำให้รัฐบาลปัจจุบันขึ้นมามีอำนาจโดยใช้เงินหลวง อีกทั้งเป็นเงิน “มัดจำ” สำหรับงานต่อไปด้วย แต่จะให้คนเสื้อแดงอย่างเดียวก็คงโดนสังคมนินทา เลยรวมพวกเสื้อเหลือง ซึ่งได้รับผลกระทบไม่กี่คนเข้าไปด้วย พอมีเสียงวิจารณ์กันมากก็เลยให้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน สื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อลดแรงกดดัน แต่เรื่องนี้คงขยายต่อไปเรื่อยๆ
ผู้ที่ได้รับการเยียวยาที่ถูกกำหนดไว้ คือ “ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสื่อมวลชน ที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ อวัยวะไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส หรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) โดยที่ตนมิได้เป็นบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง หรือปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบก่อนให้ความ ช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม”
กระบวนการดังกล่าวควรนำหลักการของ “ความยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน” และ “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” มาใช้ประกอบเสริม “กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก” เพื่อประคับประคองสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งของคนในสังคมไปสู่ ความสามัคคีปรองดอง สันติภาพ และความมั่นคง ตามขั้นตอน ดังนี้
1.การค้นหาความจริง เริ่มต้นด้วยการค้นหาความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เปิดเผยต่อสังคมและครอบครัวผู้เสียหายให้รู้ความจริงว่าอะไรเกิดขึ้น ไม่ใช่ความจริงของเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง
ความจริงต้องมีชุดเดียวเท่านั้น ถูกเป็นถูกผิดเป็นผิด อย่าให้ความจริงถูกบิดเบือน
2.ผู้ทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด เรื่องนี้สำคัญมาก เพื่อป้องกันและป้องปรามไม่ให้คนอื่นทำตามอย่างหรือเห็นผิดเป็นชอบ มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าคนเผาบ้านเผาเมืองได้ดี คนเลวถูกสร้างภาพให้เป็นคนดี ทหารเข้าระงับเหตุถูกป้ายสีให้เป็นผู้ร้าย
3.ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน คำขอโทษ
4.เผยแพร่บทเรียนให้สังคมได้ตระหนัก และเกิดจิตสำนึกทางศีลธรรมเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก
5.ปฏิรูปกลไกรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความรุนแรงทางการเมือง เช่น กองทัพ ตำรวจ สื่อมวลชน กระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก
6.ทำให้สังคมก้าวข้ามความขัดแย้ง นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด อย่าช่วยคนผิดให้เป็นถูก และอย่าทำให้คนถูกเป็นผิด หากหลับตาไม่ยอมรับรู้ว่าใครถูกใครผิด ก็ไม่มีทางปรองดองได้
91 ศพที่เสียชีวิตและถูกประโคมให้เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น มี เพียง 16 ศพเท่านั้นที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งประเด็นว่าน่าจะเป็นฝีมือของเจ้า หน้าที่รัฐ เพราะกระสุนที่พบในศพเป็นกระสุนทาหัวสีเขียว ซึ่งใช้ในกองทัพบก ซึ่งต้องสอบสวนกันต่อไป ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากการกระทำของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ถูก เอ็ม 79 จากฝีมือไอ้โม่งตายและบาดเจ็บแต่ละคืน ถูกเจ้าหน้าที่เอาระเบิดแก๊สน้ำตาจีนแดงขว้างจนตายและบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตาม กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจนเสียชีวิต บาดเจ็บ ฯลฯ ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่โดนคดีทั้งที่ศาลตัดสินแล้วว่าผิดและยังไม่ได้ตัดสิน แม้คดียังไม่สิ้นสุด ต้องไม่ได้รับ รัฐจะให้การเยียวยาแก่บุคคลใดจะต้องนำรายชื่อและพฤติกรรม เหตุผลและความจำเป็นมาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้รับทราบ เพราะเงินที่จ่ายเยียวยาเป็นเงินภาษีของประชาชนทุกคน
คนที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง เช่น เผาบ้านเผาเมือง เผาศาลากลาง เผาร้านค้า ยิงอาวุธหนัก-เบา ใส่ประชาชน ยิงวัดพระแก้ว กลุ่มคนชุดดำติดอาวุธที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ คนที่ก่อวินาศกรรมยิงจรวดอาร์พีจีใส่ถังน้ำมัน วางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ คนที่ปลุกระดมให้เกิดการจลาจล คนที่เตรียมจุดไฟเผารถน้ำมันแต่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงขาต้องถูกนำตัวมาดำเนินคดี ส่งฟ้องศาล
รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เพื่อพิจารณาการให้การเยียวยาอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดเผยต่อสังคมให้ช่วยตรวจสอบ จึงจะทำให้มาตรการเยียวยายอมรับได้จากคนในสังคม
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน