สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำความรู้จักอัตราดอกเบี้ย BIBOR

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อาสา อินทรวิชัย



ทำความเข้าใจเบื้องต้น เปิดโลกทัศน์อัตราดอกเบี้ย BIBOR
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท. ได้จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนเรื่อง “อัตราดอกเบี้ย BIBOR อีกทางเลือกสำหรับการบริหารเงินองค์กร” ให้แก่สถาบันการเงิน และ บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ  แม้ว่าการสัมมนาในครั้งนี้อาจมุ่งเน้นให้แก่กลุ่มลูกค้าฝั่งเงินกู้ (Liability-side) ซึ่งมีความต้องการจัดการโครงสร้างเงินกู้ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและ/หรือ ให้มีความสอดคล้องกับโครงสร้างรายได้มากขึ้น (สร้าง Natural hedge) ก็ตาม ผมคิดว่าสัมมนานี้เป็นการให้ความเข้าใจเบื้องต้นที่ดี และถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักลงทุนทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี


ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา หัวข้อที่ผมเขียนถึงมากที่สุดคือ เรื่อง Cross-currency swap และความผิดปกติของ THBFIX ในบางช่วงเวลา โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราดอกเบี้ย THBFIX ในบางช่วงเวลามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ก็คือ เรื่อง สภาพคล่องของ USD ในประเทศ ซึ่งมีน้อยกว่าความต้องการใช้ USD นั่นเอง   ความผิดปกติของ THBFIX ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถแสดงได้ดัง 3 จุดสีแดงในกราฟ เราพบว่า THBFIX (เส้นกราฟสีฟ้า) มีความผันผวนอย่างมากเมื่อเทียบกับ Repo 1 วัน (กราฟสีน้ำเงิน) และ BIBOR 3 เดือน (กราฟสีม่วง)  เมื่อมองย้อนไป เราพบว่าสภาวะขาดสภาพคล่องสกุลเงิน USD อย่างรุนแรงทั่วโลกมาจาก (1) Lehman crisis ในปี 2008 และ (2) Dubai World ปี 2009 ในขณะที่ ประเด็นที่ (3) การส่งเงินช่วยเหลือจากบริษัทญี่ปุ่นเพื่อช่วยโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปลายปี 2011  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น  


 ทั้ง 3 กรณีทำให้เกิดความผิดปกติในอัตราดอกเบี้ย THBFIX (THBFIX ถูก derive มาจาก อัตรากู้ยืม SIBOR ในสกุล USD พร้อมทำธุรกรรม FX Swap เพื่อเปลี่ยนสกุลเงินจาก USD เป็นสกุล THB และทำการตกลงขาย THB เพื่อแลกเป็น USD คืนในอนาคต) และความผิดปกติดังกล่าวเป็นต้นทุนที่สูงต่อลูกค้าบริษัทที่มีเงินกู้อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX และลูกค้ากองทุนที่ผลตอบแทนของ portfolio อ้างอิงกับดอกเบี้ยดังกล่าว รวมถึงยังกระทบต่อธนาคารที่เป็นตัวกลางในการให้ราคาแก่ลูกค้าอีกด้วย … นี่คือ ที่มาของการเกิดขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงชื่อ “BIBOR”


“BIBOR” หรือ “Bangkok Interbank Offer Rate” คือ อัตราดอกเบี้ยด้านปล่อยกู้ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (หากเป็นด้านกู้ จะเรียกว่า “BIBID”) ดอกเบี้ย BIBOR มีความสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo rate) มาก และไม่ขึ้นกับสภาพคล่องของ USD ภายในประเทศ  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้น สกุล THB อื่นๆ แล้ว เรามักนึกถึง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น หรือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันไป สรุปได้ดังนี้


ผู้ดำเนินการในการกำหนด Fixing ของอัตราดอกเบี้ย BIBOR ในแต่ละวันคือ ธปท. โดยประมวลจากราคาที่ส่งเข้ามาโดยธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง (ตัดค่าสูงสุด และต่ำสุด อย่างละ 2 ค่าออก) สำหรับช่วงอายุ 1 วัน 1 สัปดาห์ และ 1, 2, 3, 6, 9 เดือน และ 1 ปี  ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรายละเอียดของธุรกรรม BIBOR ได้จาก www.bot.or.th  และ Reuters page BOT104


เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ย BIBOR อายุ 1 วัน 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน เปรียบเทียบกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 วัน พบว่า BIBOR Overnight (หรือ การกู้วันนี้ และคืนพรุ่งนี้) อยู่ในระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกช่วงเวลา  ในขณะที่ BIBOR 3 เดือน และ 6 เดือน นั้นสามารถสะท้อนการคาดการณ์ของดอกเบี้ยนโยบายดังเช่นที่เกิดขึ้นกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ย BIBOR 6 เดือน ในบางช่วงเวลาอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากนักลงทุนคาดว่า กนง.จะปรับลด Policy rate ลงในการประชุมครั้งถัดไป


ผู้ใช้ BIBOR ซึ่งอยู่ในฝั่ง Asset side เช่น Fund manager สามารถใช้ BIBOR bond ช่วยในการบริหารความเสี่ยงได้เช่นกัน เช่น  สามารถทำธุรกรรม BIBOR Futures เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้ หรือ สามารถทำธุรกรรม IRS เพื่อปรับต้นทุนหรือผลตอบแทนให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย  สามารถกล่าวได้อย่างไม่ลังเลว่า ธปท. จะสนับสนุนให้มีการเสนอราคาในลักษณะ BIBOR-IRS เพิ่มมากขึ้น อย่างแน่นอน


ความสำคัญของ BIBOR ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับกลุ่มลูกค้าฝั่ง Asset-side (Fund management) เท่านั้น  แต่ BIBOR ยังมีความสำคัญต่อบริษัทในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการบริหารโครงสร้างเงินกู้อย่างมาก (Liability side)  ผมขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีของ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ธุรกิจมีความผันผวนมาก รายได้ของบริษัทมี correlation ที่สูงมากกับ GDP ของประเทศ และในช่วง down cycle, spread ของ product จะแคบมากจนอาจทำให้บริษัทมี shortfall เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจ่ายคงที่  ด้วยปัจจัยดังกล่าว การบริหารจัดการโครงสร้างเงินกู้จึงมีความสำคัญมากต่อบริษัท

 

สมมติว่า Flow เงินกู้ยืมของบริษัทปิโตรเคมี เดิมมีภาระดอกเบี้ยคงที่ที่ 4.50% ต่อปี และดังที่ได้กล่าวข้างต้น พบว่าในช่วง Down cycle ภาระดอกเบี้ย 4.50% อาจกลายเป็นภาระที่หนักหน่วงของบริษัท ดังนั้น CFO ของบริษัท จึงพิจารณาการใช้ BIBOR เพื่อเปลี่ยนภาระดอกเบี้ยคงที่ที่ 4.50% ต่อปี ไปเป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่ BIBOR + 1.30% ต่อปี  เนื่องจาก BIBOR เป็นดัชนีที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ดี เมื่อประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย  GDP จะลดต่ำลง อัตราดอกเบี้ย BIBOR ก็จะลดต่ำลงในลักษณะเดียวกับ GDP  เป็นผลให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงด้วย  ในทางกลับกัน หาก GDP เติบโตสูงถึง 6-7% ต่อปี คงจะไม่เป็นผลเสียต่อบริษัท นักที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ย BIBOR ที่สูงขึ้น เนื่องจากรายได้ของบริษัท คงจะเติบโตมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย หรือหากไม่ต้องการให้เกิดกรณีนั้น บริษัทอาจพิจารณา Swap จาก BIBOR กลับไปเป็น Fixed rate ได้เช่นกันครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำความรู้จัก อัตราดอกเบี้ย BIBOR

view