สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าใช้ความยุติธรรมของผู้ชนะ

อย่าใช้ความยุติธรรมของผู้ชนะ

จาก โพสต์ทูเดย์

ถ้ามีการใช้เสียงข้างมากนำไปสู่การปรองดองจะนำไปสู่การไม่ยอมรับ แม้ว่าฝั่งหนึ่งจะมีอำนาจรัฐ หรือออกกฎหมายมาใช้ แต่ถ้าคนยังรู้สึกว่าถูกบังคับมันก็ยังฝังอยู่

โดย.......ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

อุณหภูมิปรองดองเดือดลามไปถึง "สถาบันพระปกเกล้า"หลัง เสนอวิธีสมานฉันท์สูตรต่างๆ ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรองดองแห่งชาติของสภา ที่มีอดีตผู้นำรัฐประหาร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน โดย กมธ. เสียงข้างมากจากฝ่ายเพื่อไทยลงมติเลือกแนวทางการล้างโทษทุกคดีความหลัง ปฏิวัติ 19 กันยา2549 รวมถึงคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ และคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทเล่นเอาฝ่ายต่อต้านทักษิณ ทั้งประชาธิปัตย์และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ รัฐ (คตส.) ออกมาโจมตีสถาบันพระปกเกล้าว่า รับจ็อบทักษิณ

วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้รับผิดชอบงานวิจัยชิ้นนี้ ถูกถล่มตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนเจ้าตัวโอดครวญตกเป็นจำเลยปรองดองที่ต้องอยู่ ท่ามกลางเขาควายความขัดแย้ง แต่ทำใจล่วงหน้าตั้งแต่มารับบทหนัก ทำ "พิมพ์เขียวปรองดอง" ฉบับนี้

"โพสต์ทูเดย์" พูดคุยกับ วุฒิสาร หลังนำเสนอผลวิจัยเสร็จในวันที่ กมธ.แถลงผลสรุปเมื่อ3 วันก่อน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยวันนั้น พล.ต.สนั่นขจรประศาสน์ ทิ่มคำถามไปยัง พล.อ.สนธิ ใครอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ ขณะที่ ทีมวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าก็ถูกฝ่ายประชาธิปัตย์ท้วงติงหลายประเด็น

วุฒิสารถอนหายใจ ก่อนระบายความรู้สึกกับเรา "ผมคุยกับน้องๆ ที่ทำงานวิจัยแล้วว่า ให้ทำใจนะสิ่งที่จะปกป้องเราได้คือ 1.เราไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง 2.เรามีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เรามีหลักของเรา เราเสนออะไรเราอธิบายได้ แต่ไม่จำเป็นว่าคำอธิบายนั้นทุกคนจะเห็นด้วย ผมพูดกับน้องๆ ทุกคนว่าต้องพร้อมที่เราจะต้องเจอ และมันก็คือความจริง ผมยกตัวอย่าง ถ้าผมเสนองานวิจัยอีกด้านที่อีกฝ่ายได้เปรียบ คนที่เงียบวันนี้ก็จะออกมาพูด ผมถึงบอกว่าบรรยากาศที่ต้องการความปรองดองสงบนั้นไม่เห็น

"ทุกคนก็ถามว่าทำไมเราตัดสินใจเปลืองตัว เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น แต่ผมเห็นว่าถ้าเราตั้งใจ ไม่ติดอยู่กับผลประโยชน์ใดและเราได้รับหน้าที่ ก็ต้องทำ มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วถ้าคุณต้องการจับปลา คุณก็ต้องเปียกน้ำ คุณก็ต้องลงไป ก็ต้องรู้ผลของมันก่อนการตัดสินใจว่า ถ้าลงไปแล้ว จะได้รับผลอะไร"

วุฒิสาร ยืนยันว่า คณะผู้วิจัยมีความเป็นอิสระและข้อเสนอที่ออกมาก็มาจากกลุ่มนักวิจัย ฉะนั้นถ้าอยากติติงก็ควรลงมาที่คณะผู้วิจัย อย่าตำหนิสถาบันพระปกเกล้า เพราะสถาบันไม่ได้มีส่วน และคณะวิจัยก็ไม่ต้องการจะตอบโต้อะไร แต่ข้อเสนอปรองดองไม่มีทางถูกใจคนที่อยู่สุดโต่งของสองขั้ว ไม่ต่างจากศาลตัดสินคดีคนชนะก็รู้สึกว่าเป็นธรรม แพ้ก็บอกไม่เป็นธรรม

วุฒิสาร บอกว่า ได้ทำหน้าที่ตามที่ กมธ.มอบหมายให้จบแล้ว แต่อาจมีการปรับเนื้อหางานวิจัยเล็กน้อยตามที่ผู้นำฝ่ายค้านท้วงติงในเรื่อง ข้อเท็จจริงให้รัดกุมขึ้นส่วนเนื้อหาหลักๆ เรื่องแนวทางการสร้างปรองดองจะไม่ปรับเปลี่ยน จากนี้เป็นหน้าที่ของ กมธ. ซึ่งขอเตือนว่าอย่าใช้เสียงข้างมากลากถูเพื่อให้ได้ข้อยุติเพราะจะทำให้เกิด ความขัดแย้งรอบใหม่อีก ล่าสุด ได้ทำหนังสือยื่นต่อกมธ.ขอให้ทบทวนการการมีมติเสียงข้างมากของ กมธ.ฝ่ายเพื่อไทยเพราะการสร้างความปรองดองต้องใช้เวลาจะเร่งรัดไม่ได้เด็ด ขาด

"กมธ.ต้องไปฟังความเห็นที่แตกต่างมากขึ้นโดยเฉพาะคนกลางๆ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เช่นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการประชาชนทั่วไป ที่ยังรู้สึกอึดอัดกับความขัดแย้งที่มานานและก็ไม่ได้ยืนอยู่ฝั่งใดร้อย เปอร์เซ็นต์ อย่าฟังเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับเรา"

ที่สำคัญ กมธ. ควรมีกระบวนการพูดคุยภายในก่อนเพื่อให้มีข้อยุติร่วมกันเพราะถ้าเข้าไปถึง สภาซึ่งเป็นเวทีสาธารณะ โดยที่ยังไม่มีข้อยุติ ก็นำมาสู่วาทกรรมในสภาและถ้ามีการลงมติก็จะถูกต่อว่าเหมือนเดิมว่าใช้เสียง ข้างมาก ซึ่งก็เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะ กมธ.ต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ โดยทำให้เหตุและผลเข้ามาใกล้กันให้มากที่สุดก่อนมีการลงมติ ดีกว่าคิดว่า ใครมีเสียงมากกว่าใคร และใช้เสียงลากก็จะเป็นปัญหาไม่สิ้นสุด

"ถ้ามีการใช้เสียงข้างมากนำไปสู่การปรองดองจะนำไปสู่การไม่ยอมรับ แม้ว่าฝั่งหนึ่งจะมีอำนาจรัฐ หรือออกกฎหมายมาใช้ แต่ถ้าคนยังรู้สึกว่าถูกบังคับมันก็ยังฝังอยู่ สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมความคิดเห็นหรือพลังประชาชนส่วนใหญ่ได้ แล้วทำไมเราไม่ทำให้ความเห็นเป็นที่ตกลงร่วมกันให้มากที่สุดก่อน"

รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า บทเรียนจากต่างประเทศในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จะให้ความสำคัญกับความเห็นร่วมกันในสังคม ถึงจะเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญได้แต่ปัจจุบันกระบวนการนี้ยังไม่เกิดขึ้นใน สังคมไทย ซึ่ง กมธ.และทุกฝ่ายต้องตระหนักจุดนี้โดยต้องทำให้พลังกลางๆ ออกมาพูดให้มาก หรืออาจมีกระบวนการสอบถามความเห็นประชาชน เช่น ทำโพลที่เป็นกลางว่า ประชาชนคิดอย่างไร เพื่อเป็นแรงกดดันกับฝ่ายที่ไม่ยอมลดราวาศอกและเอาแต่ประโยชน์ตัวเอง

"เราเห็นตัวอย่างจากความพยายามของภาคเอกชนที่จะต่อต้านการทุจริต แต่นั่นมันถึงจุดหนึ่งที่เขาคิดว่าไม่ไหว และเขาก็ใช้พลังของเขา แต่เรื่องการเมืองมันยังไม่ไปถึงไหน ทุกฝ่ายอาจยังมีประโยชน์หรือมีความสนุกยังอินว่าเป็นเรื่องปกติก็ไม่ต้องแก้ แต่คนที่เขาชัดเจนแล้วเขาก็ต้องขยับ และผมคิดว่าวันนี้คนที่รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ปัจจุบันมีเยอะ หลายคนอยากเห็นประเทศเดินต่อไป มีความก้าวหน้า แต่ทุกคนอาจจะรู้สึกว่าหากออกมาพูดแล้ว สื่อก็จะจับสีให้ทันทีว่าคุณเป็นพวกไหนพวกที่พูดแล้วคุณชอบ คุณก็จะชื่นชมและแผดร้องอีกฝั่งก็จะโจมตีด่าทอ ตรงนี้ที่เป็นปัญหาของสังคมไทย"

"ผมคิดว่าสังคมวันนี้ไม่ยุติธรรม บังคับให้คนเลือกข้าง อย่างนี้ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีของประเทศ เราต้องคิดว่าวันนี้เอาสาระมากกว่าใครพูด แต่พอใครพูดอย่างนี้แล้วเราจะไม่ฟังสาระ เพราะเรามีอคติต่อบุคคลคติประเภทนี้มันสะท้อนว่าวันนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลายเป็นพลังเงียบที่ไม่อยากพูดอะไร เพราะไม่อยากไปยุ่งเกี่ยว ไม่อยากเป็นพวกใคร ไม่อยากถูกตำหนิหรือถูกด่าทอด้วยคำหยาบทุกคนก็ไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่ผมคิดว่าถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้หมด สังคมก็จะเข้าใจว่าคนในสังคมนี้คิดแบบสองข้าง หรือสองขั้วเสมอ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่"

เขาบอกว่า แม้ว่ายังมีความเห็นต่างเรื่องแนวทางการปรองดอง แต่ก็มีพื้นที่ร่วมที่คู่ขัดแย้งเริ่มเห็นตรงกันและน่าจะแก้ปัญหาได้ เช่น การนิรโทษให้กับผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.และชุมนุมโดยสงบ แต่ที่เห็นต่างสุดขั้วคือ การนิรโทษกรรมในกรณีที่เป็นคดีอาญา และที่สังคมตั้งคำถามขณะนี้ คือการเยียวยาโดยไม่ได้ดูรายละเอียดของประเด็น ซึ่งตามข่าวจะเห็นว่า บางคนที่ได้รับการเยียวยายังมีคดีอยู่ ประเด็นอย่างนี้น่าจะสร้างความชัดเจนก่อน หรือ อาจให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอ ป.)ทำแทน เพราะถ้าใช้เสียงข้างมากโดยไม่หารือกันก่อนก็เป็นเรื่องที่เปราะบาง

ทำไมคิดว่า ยังไม่เห็นบรรยากาศการปรองดอง?"

ก็จากการพูดคุยกัน เราเห็นชัดว่า ทุกคนยังตั้งอยู่ในจุดยืนของตัว อยู่ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจะได้ประโยชน์แม้แต่ในสื่อต่างๆก็หยิบเฉพาะ ประเด็นที่เห็นด้วยบรรยากาศนี้อาจชี้ได้ว่า สังคมยังไม่รู้สึกว่าการปรองดองมีความจำเป็นถึงขั้นที่ต้องดำเนินการแต่ถาม ว่า อยากปรองดองไหมก็อยาก แต่ถามว่าถึงเวลาหรือยัง ผมคิดว่าคนยังรู้สึกว่ายังอยู่กันได้ในสภาพนี้ ใครชนะก็มาออกกติกาแบบความยุติธรรมของผู้ชนะ

"วันนี้บรรยากาศที่จะยอมรับเหตุผลของอีกฝ่ายมันยังไม่มี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเดินต่อซึ่งหลายประเทศเขาก็มีคนกลางที่จะเป็นคน ที่นำสู่การหาข้อยุติร่วมกัน แต่เราไม่มีบรรยากาศนี้สักเท่าไร ความจริงผมคาดหวังให้ กมธ.ทำสิ่งนี้"

ความยุติธรรมของผู้ชนะเห็นได้จากอะไรการร่างรัฐธรรมนูญหรือ? วุฒิ สาร ตอบ..."ถูกต้องครับ จริงๆ ที่ผ่านมาในอดีตก็เป็นอย่างนั้น เวลาที่มีความขัดแย้งและเมื่อมีการตัดสินได้ข้อยุติ ได้ผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจรัฐก็มักออกกติกาที่ไม่คำนึงถึงอีกฝ่าย ซึ่งมันมีบ่อยครั้ง

"เราพูดไว้หมดนะว่า ไม่ควรเอาการแก้รัฐธรรมนูญมาปนเรื่องนี้และต้องรีบแก้เรื่องที่เป็นปัญหา ก่อนที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้เป็นจังหวะที่คุณมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นยุทธวิธีการเดิน ต่างคนต่างทำเยอะ ต่างคนต่างเดินกันเยอะ"

แม้วุฒิสารจะเห็นว่ายังไม่มีบรรยากาศปรองดองหรือจุดเปลี่ยนในระยะสั้นนี้ แต่เขามองโลกแง่ดีว่าข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ การแก้ปัญหาในระดับหนึ่งได้ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็มีคณะกรรมการหลายชุดที่ เสนอแนวทางปรองดองไว้มาก แต่ทั้งหมดทุกฝ่ายต้องเห็นตรงกันก่อน

"โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ต้องทำการเมืองเพื่อบ้านเมืองให้มากขึ้นอย่าทำ การเมือง เพื่อประโยชน์ฝ่ายการเมือง มิฉะนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ทุกคนต้องก้าวข้ามประโยชน์ส่วนตนบ้าง และเน้นประโยชน์ส่วนรวมให้มากยิ่งขึ้น" วุฒิสารสรุป

"ถ้ามีการใช้เสียงข้างมากนำไปสู่การปรองดองจะนำไปสู่การไม่ยอมรับ แม้ว่าฝั่งหนึ่งจะมีอำนาจรัฐ หรือออกกฎหมายมาใช้แต่ถ้าคนยังรู้สึกว่าถูกบังคับมันก็ยังฝังอยู่สุดท้ายก็ ไม่สามารถควบคุมความคิดเห็นหรือพลังประชาชนส่วนใหญ่ได้แล้วทำไมเราไม่ทำให้ ความเห็นเป็นที่ตกลงร่วมกันให้มากที่สุดก่อน"

ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องไม่ลามถึงสถาบัน

งานวิจัยชิ้นนี้ เดิมกำหนดจะสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 60 คน ทั้งนักการเมืองอดีตนักการเมืองหลายพรรค แกนนำม็อบ นักวิชาการสันติวิธี สื่อมวลชนแต่ด้วยเวลาจำกัด ทำให้สัมภาษณ์ได้47 คน

ไฮไลต์คือ การสัมภาษณ์อดีตนายกฯคนสำคัญในช่วงวิกฤตความขัดแย้งวุฒิสาร ระบุว่า ได้สัมภาษณ์เกือบครบไล่เรียงตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บรรหาร ศิลปอาชาพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่วนที่ไม่ได้สัมภาษณ์ มี อานันท์ ปันยารชุนชวน หลีกภัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

"เราสัมภาษณ์อดีตนายกฯ ทุกคนยกเว้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพราะท่านอยู่เหนือการเมืองไปแล้ว บางท่านปฏิเสธ บางท่านนัดหมายแล้วไม่สบายก็เป็นข้อยกเว้นบังคับไม่ได้ ทุกท่านที่เราสัมภาษณ์ก็ใช้คำถามเดียวกัน เช่น ความขัดแย้งคืออะไร อะไรคือทางออก แต่ในรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอแต่ละท่านก็เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน"

ในการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณวุฒิสาร เดินทางไปเองโดยใช้งบสถาบันพระปกเกล้า เจ้าตัวบอกว่า มีความจำเป็นในทางวิชาการ ระหว่างการสัมภาษณ์มีการบันทึกเทปหมด แต่ไม่ขอเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พูดอะไรบ้าง

"ก่อนการถามเรายืนยันว่าทุกความเห็นไม่มีการระบุว่าเป็นใคร และถ้าท่านไม่ประสงค์บันทึกเทปเราก็ยินดี และหลายคนก็ไม่อยากให้เทป ท่านอยากจะพูดไปเราก็บันทึก ส่วนถ้าจะถามว่าใครพูดอะไรนั้น ในฐานะนักวิจัยคงตอบไม่ได้และไม่ควรตอบเพราะไม่มีประโยชน์"

ผลสรุปคร่าวๆ จากการสัมภาษณ์มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น คู่ขัดแย้งเป็นใคร วุฒิสาร ระบุว่า มาจากพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขัดแย้งกับใครมีหลายคำตอบ เช่น ขัดกับรัฐไทยกลุ่มการเมือง ทหาร ข้าราชการ ส่วนเหตุแห่งความขัดแย้ง เช่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม การแทรกแซงการเลือกตั้งการตั้งองค์กรพิเศษ การขัดหลักนิติธรรมความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากระบอบทักษิณ ส่วนระบอบทักษิณคืออะไร มีหลายความหมาย เช่น เผด็จการรัฐสภาการลอยตัวอยู่เหนือการตรวจสอบ การคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตามข้อเสนอที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือ ความขัดแย้งไม่ควรลามไปถึงสถาบันกษัตริย์และต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

เสรีภาพล้น ประชาธิปไตยเละ

บทสังเคราะห์ที่ได้จากงานวิจัยอะไรคือ ปฐมเหตุ สรุปความได้ว่า ปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนในปัจจุบัน แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าระบอบ

ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด แต่ ก็ยังมีความแตกต่างทางความคิดในแง่การให้น้ำหนักกับคุณค่าระบอบประชาธิปไตย ระหว่างการให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและการเป็นตัวแทนของประชาชน กับการให้ความสำคัญกับคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตของผู้นำประเทศ

รายงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า ฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงข้างมาก จะไม่ยอมรับพฤติกรรมทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา ไม่ต้องการให้เชื่อมโยงกับระบบการเมืองที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มอำนาจดั้งเดิม และไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงทางการเมืองจาก

ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะระบบราชการ องค์กรตุลาการ และต้องการให้สถาบันการเมืองทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับประชาชนและไม่สนับ สนุนการรัฐประหาร ส่วนอีกกลุ่มเห็นว่าความชอบธรรมการเมืองอยู่ที่กระบวนการทางการเมืองทั้งหมด ที่ต้องมีความถูกต้องชอบธรรม แม้การเมืองจะมีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องเลือกตั้งโดยถูกต้องโปร่งใส ระบบการเมืองต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลและปราศจากการคอร์รัปชัน

วุฒิสาร ขยายความว่า ปัญหาของเราคือการมองประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งในสังคมให้คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยคือ เสียงข้างมาก ถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้ว แปลว่า มีความชอบธรรมที่จะทำได้ทุกอย่าง อีกกลุ่มเป็นประชาธิปไตยที่เน้นคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์เน้นคุณค่า กล่าวคือ ความรู้สึกที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมากอย่างเดียวเสียงข้าง น้อยก็ต้องได้รับการดูแลรับฟังเช่นเดียวกัน

แล้ววันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไปไหมในแง่ประชาธิปไตยเทียบกับแต่ก่อน? วุฒิ สารนิ่งคิด "ผมว่าก็ดีขึ้นนะ คนกล้าพูด กล้าแสดงออก แต่เราก็ต้องดูเรื่องความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพโดยไม่มีสติ ไม่มีอะไรมาควบคุมได้ ขอบเขตไม่รู้อยู่แค่ไหนก็เป็นปัญหา การใช้สิทธิต้องมีขอบเขตของมันแต่วันนี้เราก้าวข้ามเส้นนั้นไป จนกลายเป็นทำอะไรที่ขัดกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่แสดงออกแล้วกลายเป็นศัตรูไม่ เป็นประชาธิปไตย

วุฒิสาร ให้ข้อคิดว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมา ด้านดีทำให้เราอยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้ของสังคมครั้งใหญ่ มีการกระทำผิดในสิ่งที่ไม่ควรทำหลายครั้งหลายเหตุการณ์ คำถามคือ เราจะมีแนวทางที่จะทำให้สิ่งที่กระทำผิดนั้นได้ถูกอธิบายและไม่ให้ทำผิดซ้ำ ในสังคมหรือไม่ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับการยึดทำเนียบฯ การปิดสนามบิน การล้มประชุมอาเซียนพัทยา และการชุมนุมที่ราชประสงค์ การปฏิวัติ เพราะเกินขอบเขตของความพอดีในเรื่องประชาธิปไตย แต่วันนี้สังคมไม่พยายามหาทางออกด้วยวิธีอื่นคิดว่านี่คือทางออกที่ถูกต้อง ของสังคม


“กมธ.ปรองดองฯ ปชป.” จี้ “นายกฯ” แสดงจุดยืนในฐานะผู้นำรบ.


เปิดประเด็นปรองดองพระปกเกล้าที่กมธ.เสียงข้างน้อยไม่รับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าใช้ความยุติธรรมของผู้ชนะ

view