จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
สัปดาห์ก่อนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยตัวเลขการเบิกจ่ายงบปี 2555 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบ หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.พ. 2555 พบว่ามีการเบิกจ่าย 8.99 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 9% หรือมีการเบิกจ่าย 9.88 แสนล้านบาท
เหตุผลเพราะ พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 มีผลบังคับใช้วันที่ 8 ก.พ. 2555 ล่าช้าจากปกติ 4 เดือน
เงินงบประมาณที่รัฐบาลตั้งใจอัดฉีดเข้าระบบเพื่อหนุนส่งให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 67% อาจไม่เป็นดั่งหวังไว้
สวนทางกับข้อมูลกรมบัญชีกลางที่เผยว่า การเบิกจ่ายงบปี 2555 เดือน ต.ค. 255416 มี.ค. 2555 หรือ 5 เดือนครึ่ง ที่มีการเบิกจ่ายงบในภาพรวม 6.63 แสนล้านบาท หรือ 41.81% เกินกว่าเป้า 3.01% ขณะรายจ่ายลงทุนเบิกจ่าย 1.11 แสนล้านบาท หรือ 34.61% สูงกว่าเป้าหมาย 13.61%
เมื่อมองในมิติการรายงานข้อมูลแล้ว ตัวเลขเบิกจ่ายที่แม้ช่วงเวลาต่างกันไม่นาน แต่มีความแตกต่างกันเป็นกว่า 2 แสนล้านบาท
หากไม่ตั้งใจดูให้ดีจะก่อให้เกิดความสับสนและไขว้เขวได้โดยง่าย อีกทั้งยังทำให้ผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย “สนองตอบ” ต่อสถานการณ์ผิดพลาดได้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากตัวเลขทางการของ สศค. พบตัวเลขแง่การเบิกจ่ายงบประจำมีการเบิกจ่าย 7.67 แสนล้านบาท จากงบเบิกจ่ายภาพรวม 8.99 แสนล้านบาท เป็นงบเบิกจ่ายลงทุนเพียง 5.14 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายเหลื่อมปี 8 หมื่นล้านบาท
โดยเฉพาะตัวเลขการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2555 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.พ. 2555 ทำสถิติเบิกจ่าย “ติดลบ” ต่อเนื่องมาแล้ว 4 เดือน
เดือน พ.ย. 2554 มีการเบิกจ่าย 4,700 ล้านบาท ติดลบ 56.7% เดือน ธ.ค. 2554 มีการเบิกจ่าย 1.42 หมื่นล้านบาท ติดลบ 22.7% เดือน ม.ค. 2555 มีการเบิกจ่าย 4,200 ล้านบาท ติดลบ 94.3% และเดือน ก.พ. 2555 มีการเบิกจ่าย 9,000 ล้านบาท ติดลบ 46.4%
ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนปี 2555 ที่ตั้งไว้ที่ 4.23 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเบิกจ่ายทั้งปีที่ 72% แต่นี่ผ่านมาแล้ว 5 เดือนเบิกจ่ายได้เพียง 5.14 หมื่นล้านบาท หรือ 12% เท่านั้น
เป็นการตอกย้ำได้อย่างดีถึงข่าวคราวก่อนหน้านี้ว่า งบลงทุนฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วมไม่เข้าสู่ระบบ โครงการลงทุนใหม่ที่ตั้งในงบปี 2555 ยังไม่เพียงโครงการในฝัน “เป็นความจริง”
แรงเหวี่ยงให้ก่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้นับสิบรอบอยู่ใน “อาการร่อแร่”
กระทั่งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลหวังว่าจะหนึ่งในหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ยังไปไม่ถึงไหน โครงการลงทุนน้ำที่มีการอนุมัติกันล็อตแรก 2.48 หมื่นล้านบาท แต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะจัดซื้อจัดจ้าง ส่งคำขอไปยังสำนักงบประมาณ และลงนามสัญญา คงใช้เวลาอีกพักใหญ่ก่อนเงินจะออกมาได้
ตัวอย่างที่สะท้อนได้ดี คือ การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลตกปากรับคำกับเอกชนว่าจะสนับสนุนเงิน 2 ใน 3 ของค่าก่อสร้าง โดยจัดสรรจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท อาจต้องนอนรอเก้อไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน เพราะต้องมีสารพัดขั้นตอน
หากโครงการลงทุนน้ำที่ทยอยเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ ต้องผ่านขั้นตอนมากมายและยุ่งยากซับซ้อน กลั่นกรองแล้วกลั่นกรองอีกเช่นนี้ รัฐบาลคงหวังพึ่งพาเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาก
เว้นแต่ต้อง “ตัด” ขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน และต้องใช้อำนาจบัญชาการเด็ดขาด หน่วยงานไหนไม่เบิกจ่ายงบทันตามกำหนดต้องถูก “ริบเงิน” แต่ก็สุ่มเสี่ยงอยู่ดี เพราะต้องไม่ลืมว่างบลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำถูกจับจ้องจากสายตาทุกฝ่ายมา ตั้งแต่ต้นว่ามีเค้าการทุจริต มีเงินทุนมหาศาล ส่งผลให้ฝ่ายนโยบายต้องตั้ง “การ์ดสูง” ในขณะที่ฝ่ายปฏิบัติออก “อาการเกร็ง”
ส่วนการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอัดเงินเข้าสู่ ระบบ ที่เป็นอีกความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนเอกชน จะพบว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 6 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินสินเชื่อ 2 ก้อนภายใต้การชดเชยอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาล และเงินกู้จากแบงก์ชาติ
ก้อนแรก เป็นเงินกู้เพื่อฟื้นฟูน้ำท่วมแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว และประชาชน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 วงเงิน 3.2 แสนล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี
ก้อนที่สอง เป็นเงินกู้ซอฟต์โลน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยแบงก์ชาติปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยถูกแสนถูก และนำมาปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งวันนี้เงินได้กองรออยู่ที่ธนาคารแล้ว
แน่นอนว่าการปล่อยสินเชื่อคงจะ “กระจุกตัว” ในกิจกรรมการฟื้นฟูโรงงานและการผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วมให้กลับมาเหมือนเดิมเป็นหลัก
แต่หากเป็นการกู้เงินเพื่อขยายกิจการย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวังได้ยามนี้ เพราะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2555 อยู่ในภาวะอ่อนแรงหลังการฟื้นตัวจากน้ำท่วม กำลังซื้อที่หดหาย ไป และการส่งออกที่ติดลบในเดือน ก.พ.ปีนี้ แรงจูงใจที่ทำให้เอกชนกู้เงินลงทุนเพิ่มแทบไม่มี
พร้อมทั้งความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งวันนี้มีสัญญาณชัดเจนว่าการปล่อยสินเชื่อต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร
สอดคล้องกับความเห็นของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ยอมรับว่า วันนี้ธนาคารพาณิชย์ต้องแบกรับเงินฝากจำนวนมาก แต่ปล่อยสินเชื่อได้ยาก เพราะกำลังซื้อในประเทศไม่ได้รับการดูแลมานาน หากคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ผู้ประกอบการก็ขอกู้เงินเพื่อขยายกิจการมากขึ้น
สินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้าง “มัลติพลายเออร์” ได้อย่างน้อย 8-12 รอบ ยังต้องลุ้นกันว่าจะอยู่ในสถานะ “ฝันค้าง” หรือไม่
สารพัดปัจจัยที่ทำให้การอัดฉีดเงินแหล่งต่างๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ “ลูกผีลูกคน” นั้น กิตติรัตน์ ไม่รีรอที่จะสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้า
ลำพังจะไปบีบให้ธนาคารรัฐให้ปล่อยกู้ก็เกรงว่าอาจไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะหากมีจำนวนหนี้เสีย “พุ่งกระฉูด” คนที่รับผิดชอบไม่ใช่กิตติรัตน์ ที่รับผิดชอบเพียงนโยบายที่มากับการเมืองและก็ไปกับการเมือง แต่เป็นผู้บริหารธนาคารและพนักงานปล่อยสินเชื่อที่มีกฎระเบียบค้ำคออยู่ต้อง รับผิดชอบเต็มๆ
ภารกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์วันนี้ คงต้องให้เอาจริงเอาจังความสำคัญกับการดัมพ์เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
เพราะเงินที่ลงไปไม่ใช่เพียงการปั้นตัวเลขเศรษฐกิจในระดับ 7% แต่ทำให้คนไทยมีกำลังซื้อและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่แร้นแค้น
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน