สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หัวเมืองชายฝั่งเอเชียสุดอันตรายเร่งพัฒนาจนเสี่ยงจมน้ำ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผลพลอยได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ ผ่านมา ส่งผลให้ “เมือง” เกิดการขยับขยาย อันเป็นผลมาจากการหลั่งไหลของประชากรในชนบท โดยมีการประเมินคร่าวๆ ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก 7,000 ล้านคนในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตเมือง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า แนวโน้มในอนาคตต่อจากนี้ “เมือง” คือที่อยู่อาศัยสำคัญของประชากรเกือบค่อนโลกอย่างไม่ต้องสงสัย โดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประมาณการไว้คร่าวๆ ว่าภายในปี 2593 จำนวนประชากรโลกที่อาศัยในเมืองมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 70% และมากกว่า 60% ของประชากรดังกล่าวอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่งผลให้ทั่วโลกได้เห็นประเทศในแถบเอเชียเดินหน้าเร่งรัดพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกทางอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สภาพ “เมือง” ที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สวนทางกันอย่าง สิ้นเชิง ระหว่างความต้องการขยาย “เมือง” เพื่อรองรับการเจริญเติบโตกับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับ วันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมต่างเห็นตรงกันว่า ภายในปี 2643 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนจะยิ่งถี่ขึ้นและกินเวลายาวนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม หรือพายุถล่ม

รุนแรงขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมยกตัวอย่างว่า หนักหนากว่าเหตุการณ์เมื่อปี 2546 ที่คลื่นความร้อนแผ่ขยายทั่วยุโรปในช่วงฤดูร้อนได้คร่าชีวิตคนไปประมาณ 3.5 หมื่นคน ในครั้งนั้นหลายเท่าตัว โดยมีการประมาณการกันว่าในปี 2583 จะเกิดคลื่นความร้อนที่ยิ่งกว่าปี 2546 ครอบคลุมทั่วภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ สภาพความเป็น “เมือง” ยังกลายเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” (Urban Heat Island) ซึ่งช่วยเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นได้เป็นอย่างดี

อเล็กซ์ เดอ เชอร์บินิน เจ้าหน้าที่จากสถาบันโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐกล่าวว่า เมืองต่างๆ ทั่วโลกตกอยู่ในสภาพเหมือนกระเป๋าที่กักเก็บความร้อน ซึ่งเป็นอุณหภูมิความร้อนที่สูงมากกว่าอุณหภูมิความร้อนตามชนบททั่วไปถึง 4-6 องศาเซลเซียส

 

เพราะไม่ว่าจะเป็นถนนที่ราดยางมะตอยและเลี่ยนเตียนโล่งปราศจากต้นไม้ หรืออาคารสูงตระหง่านในเมือง ล้วนทำหน้าที่เป็นกระเป๋ากักความร้อนไม่ให้ระบายออกได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังทำให้เมืองทั่วโลกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเล จะต้องเผชิญหน้ากับระดับน้ำทะลที่เพิ่มสูงขึ้นจนสุ่มเสี่ยงต่อพื้นที่เพื่อ การอยู่อาศัย และน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยมีเมืองสำคัญๆ ในเอเชียกำลังติดอันดับแนวหน้า หรือเป็นเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก่อนใคร

เรียกได้ว่านอกจากจะต้องโดนพายุแบบจัดหนัก จัดเต็ม ที่งานศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้ว เมืองต่างๆ ในแถบเอเชียยังมีแนวโน้มจะจมน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย โดยมีเมืองกัลกัตตา มุมไบ ของอินเดีย ดากา ของบังกลาเทศ กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ของจีน โฮจิมินห์ ซิตี และไห่ฟงของเวียดนาม ย่างกุ้งของพม่า และกรุงเทพมหานครของไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองใหญ่ของเอเชียที่สุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำในปี 2613 จากการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

เมืองเหล่านี้นอกจากจะติดทะเลแล้ว ยังมีการทรุดตัวลงของผืนดินอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมหาศาล อันเป็นผลจากการเกิดการขยายตัวของเขตเมืองในระดับสุดโต่ง โดยขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นมารองรับได้อย่างเพียงพอจนทำให้เกิดการสูบ น้ำใต้ดินมาใช้จนมากเกินไป

ภาวะโลกร้อนจึงนับเป็นความเสี่ยงสำคัญในแง่ที่จะสกัดกั้นไม่ให้เมืองได้ พัฒนารุดหน้าอย่างที่ผู้นำประเทศคาดหวัง เพราะความเสียหายจากพายุก็ดี น้ำท่วมก็ดี หรือภัยแล้งก็ดี จะกัดกร่อนเงินงบประมาณของประเทศ รวมถึงความสามารถในการให้บริการโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างน้ำ ไฟฟ้า และถนน

คำถามที่ตามก็คือว่า เมืองต่างๆ เหล่านี้ของเอเชียได้เตรียมการณ์รับมือไว้แล้วมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องของการป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำเพื่อการบริโภค การปรับปรุงระบบการขนส่ง และการพัฒนาจัดสรรที่อยู่อาศัย

คำตอบที่ทำให้พอชื่นใจอยู่บ้างก็คือ ทุกประเทศได้เตรียมการณ์ป้องกันไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ทำให้ยิ้มไม่ออกก็คือ การเตรียมการณ์ของประเทศในเอเชียยังไม่เพียงพอต่อการรับมือโลกร้อน ทั้งๆ ที่เป็นเมืองเสี่ยงต่อผลกระทบจากโลกร้อนในลำดับต้นๆ

สตีเฟน ไทเลอร์ เจ้าหน้าที่จากโครงการเครือข่ายในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญก็คือ มาตรการของเมืองต่างๆ ในเอเชียเน้นที่การตั้งรับมากกว่าป้องกันไม่ไห้เกิด หรือบรรเทาสิ่งที่จะเกิด

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ในทัศนะของไทเลอร์ซึ่งสอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์หลายราย แม้ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้คล้ายตกเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ แต่ในขณะเดียวกัน “เมือง” นั่นแหละที่เป็นชนวนเร่งรัดให้โลกร้อนเร็วขึ้น

ทั้งนี้ 70% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกล้วนเป็นผลิตผลของเสียที่ถูกปลด ปล่อยออกมาจากเขตเมือง โดยเฉพาะเมื่อองค์ประกอบของเมืองนั้นเต็มไปด้วยถนน อาคารและซีเมนต์ ตลอดจนการใช้เครื่องปรับอากาศก็ล้วนเป็นตัวเก็บและเพิ่มความร้อนชั้นเลิศ

ดังนั้น นอกจากจะรับมือแล้ว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนโยบายเพื่อหาทางบรรเทาภาวะโลกร้อนก็นับว่ามีความ สำคัญ ตลอดจนเป็นทางเลือกที่ช่วยให้รอดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มาตรการที่หลายเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่ในเอเชีย เริ่มนำมาใช้กันแล้วก็มีตั้งแต่มาตรการพื้นๆ อย่างการเลือกสีขาวทาหลังคาเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความเย็น การจัดระเบียบจราจรเพื่อลดมลพิษ หรือการสร้างทางเดินให้มีรูพรุนเพื่อให้น้ำฝนสามารถซึมซับลงสู่ชั้นหินเพื่อ เพิ่มปริมาณน้ำบาดาลซึ่งจะช่วยไม่ให้ดินทรุด ไปจนถึงนโยบายซับซ้อนอย่างการบัญญัติกฎหมายกำหนดเขตควบคุมอุณหภูมิ หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อยที่บรรดาผู้นำในหลายประเทศเริ่มตื่นตัวและลงมือป้องกันบรรเทาภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น

แต่ก็ยิ่งน่าหวั่นใจ เพราะทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมเมืองในเอเชียถึงติดอันดับแนวหน้าที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หัวเมืองชายฝั่งเอเชีย สุดอันตราย เร่งพัฒนา เสี่ยงจมน้ำ

view