จากประชาชาติธุรกิจ
การเลือกตั้งซ่อมในเมียนมาร์ วันที่ 1 เม.ย. 2555 คือเหตุการณ์ที่ทั้งโลกจับตามอง หากย้อนกลับไป การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง นางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย และ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาร์
รัฐบาลเมียนมาร์ภายใต้การนำของเต็ง เส่ง สร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลกที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratization) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทยอย "ปล่อยตัวนักโทษการเมือง" นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงการต้อนรับ "เสรีภาพ" เข้าสู่สังคม "รัฐบาลพลเรือนแบบเมียนมาร์"
ความเคลื่อนไหวของเมียนมาร์ที่นานาชาติยอมรับและตอบสนองในทางบวกคือ "การเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย" พร้อมกับการก้าวอย่างรวดเร็วใน "การเปิดประเทศรับการเข้ามาขององค์กรระดับนานาชาติ" อย่างไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เข้ามาช่วยวางรากฐานการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
แนวโน้มความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาร์ยิ่งกระจ่างชัดต่อโลกเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาร์ได้ให้การรับรองนางออง ซาน ซู จี ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศมาอย่างยาวนานเข้าสมัครเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เม.ย.อย่างเป็นทางการ
นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ให้ความเห็นต่อการเลือกตั้งซ่อมของเมียนมาร์ในครั้งนี้ต่อ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เราทุกคนเองต่างหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น โปร่งใส และยุติธรรม ขณะนี้เมียนมาร์ยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเข้าไปแล้ว ทั้งจากอาเซียน อเมริกา และยุโรป ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้รู้เห็น
ด้านการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำเมียนมาร์นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการในรัฐสภาซึ่งใช้เวลาราว 3-6 เดือน โดยสหรัฐได้ให้สัญญาต่อเมียนมาร์ไปแล้วว่า ทุกครั้งที่เมียนมาร์เดินหน้า เราจะตอบรับ
นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน กล่าวต่อสื่อหลังการเยือนเมียนมาร์ว่า บททดสอบสำคัญของเมียนมาร์คือการจัดการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่าจะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่
เป็นที่น่าสนใจว่าปลายทางของ "การเลือกตั้งซ่อม" ครั้งนี้จะเดินไปในทิศทางใด
ชัยชนะครั้งนี้มีความสำคัญต่อนางซูจี เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่นางซูจี ตัวแทนความหวังประชาธิปไตยของเมียนมาร์จะเข้าไปยืนอยู่ในรัฐสภา เพื่อขับเคลื่อนพรรคเอ็นแอลดีที่เกิดใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และขับเคลื่อนประชาธิปไตยของประเทศให้เดินหน้า
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นการชิงเก้าอี้ในรัฐสภา48 ที่นั่ง แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 40 ที่นั่ง สมาชิกวุฒิสภา 6 ที่นั่ง และสมาชิกสภาภูมิภาคอีก 2 ที่นั่ง โดยพรรคเอ็นแอลดีส่งผู้สมัครเข้าชิง 47 ที่นั่ง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับอำนาจของพรรครัฐบาล หรือเสียงของกองทัพ
เมียนมาร์ที่แต่งตั้งขึ้นโดยไม่ต้องเลือกตั้ง ทั้งนี้ กองทัพมีสิทธิในที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 110 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 440 ที่นั่ง สูงถึง 25% จากทั้งหมด
สัญญาณในทางบวกของการเลือกตั้งในเมียนมาร์คือ การเชิญผู้แทนจากอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐ รวมทั้งสิ้น 60 คน เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จังหวะเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อยืนยันถึงการเลือกตั้งซ่อมในประเทศว่าจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยอมรับได้
ส่วนสัญญาณของสถานการณ์ภายในกลับแสดงให้เห็นถึงทิศทางตรงกันข้ามพรรคเอ็นแอลดีได้เปิดเผยประเด็นการ"ทุจริต" ของพรรครัฐบาลสหภาพเพื่อการพัฒนาของพม่า หรือยูเอสดีพี ที่บริจาคเงินจำนวน 440 ดอลลาร์ ให้แก่โรงเรียน
ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง พร้อมกับสัญญาจะให้เงินอีกหากพรรคชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งยังมีการยัดรายชื่อบุคคลเสียชีวิตให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 400 คน ในเขตเลือกตั้ง "กอว์มู" ของนางซูจี ปรากฏรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซ้ำถึง 259 ราย และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1,387 รายถูกคัดทิ้ง
เค้าลางที่ชัดเจนที่สุดซึ่งส่อถึงปัญหาการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การประกาศเลื่อนการเลือกตั้งซ่อมใน 3 เขตที่อยู่ในรัฐคะฉิ่นออกไปของรัฐบาลเมียนมาร์ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
นายเนียน วิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดี โต้กลับถึงการเลื่อนการเลือกตั้งซ่อมในเขตดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าผิดหวัง เพราะไม่เห็นว่าจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด อีกทั้งเขตดังกล่าวเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคอีกด้วย
อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งทั้ง 3 เขตของรัฐคะฉิ่นว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่กองทัพเมียนมาร์มีอิทธิพลเป็นอย่างสูง เนื่องจากเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาร์และกองทัพเอกราชคะฉิ่นบ่อยครั้ง โดยการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปครั้งนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดการสู้รบจริง และอีกด้านอาจเป็นเพียงเกมคานอำนาจในประเทศ
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็น "สัญญาณจากฝ่ายอนุรักษนิยม" ที่นำโดยรองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย เพื่อต่อรอง "ผลประโยชน์" กับฝ่ายเสรีนิยม ที่นำโดยเต็ง เส่ง ถึงการมีบทบาทของกองทัพเมียนมาร์ในการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ทั้งเกิดการสู้รบรุนแรงขึ้นในเขตรัฐคะฉิ่น เป็นเกมแบบ "ล้มกระดาน" หรือเกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอ.ดุลยภาคให้ความเห็นว่า รัฐบาลเมียนมาร์ได้ประโยชน์มหาศาลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากชาวโลกมองกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาร์จะเป็นบวกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าเสียงส่วนน้อยในสภาของพรรคเอ็นแอลดีและบทบาทของนางซูจีอาจไม่มีผลเชิงอำนาจในสภาเมียนมาร์ก็ตาม
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมาร์วิเคราะห์ว่า รัฐบาลต้องการให้นางซูจีได้รับการเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้การเมืองเมียนมาร์พัฒนาและกระตุ้นให้ชาติตะวันตกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์
สอดคล้องกับความเห็นของอ.ดุลยภาคที่กล่าวว่า "นับเป็นความโชคดีที่จังหวะการเลือกตั้งครั้งนี้ของเมียนมาร์ตรงกับ ช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของยุโรปและอเมริกาโดยยุโรปมีแนวโน้มว่าจะผ่อนคลาย มาตรการแซงก์ชั่นเมียนมาร์เพิ่มอย่างแน่นอน แม้จะไม่ยกเลิกทั้งหมดก็ตามเพื่อเปิดโอกาสการลงทุน และกระโจนเข้ามาตักตวงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมาร์ได้ อย่างสะดวกและเต็มตัวมากขึ้น"
ด้านดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ ให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งและผลประโยชน์ของเมียนมาร์ที่จะตามมาว่า ท่าทีของกองทัพเมียนมาร์อยู่ในทางที่ดี และมีความจริงใจต่อการเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตยของประเทศ
"แม้การเปลี่ยนแปลงของเมียนมาร์นั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบแท้ๆ แต่หากมองในอาเซียน ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเช่นกัน หลายประเทศถูกปกครองโดยพรรคพรรคเดียวหรือรัฐบาลเดียวมาอย่างยาวนาน ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์"
"ขณะนี้ยูเอ็นจับตาการเลือกตั้งในเมียนมาร์ และจะมีผลต่อการลดมาตรการแซงก์ชั่นในอนาคต ท่าทีของสหรัฐน่าจะชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส่วนเบลเยียมและสวีเดนมีทีท่าว่าจะลดมาตรการแซงก์ชั่นทันทีหากการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี โดยไม่รอทางยูเอ็น ด้านออสเตรเลียก็ประกาศแล้วว่า จะลดมาตรการแซงก์ชั่นต่อเมียนมาร์ โดยไม่รอท่าทียูเอ็นเช่นกัน"
แม้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ของเมีย นมาร์จะเป็นเพียงการเดินเกมในทางผลประโยชน์แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะยืน อยู่ในสถานการณ์แบบวิน-วินอ.ดุลยภาควิเคราะห์ถึงความมุ่งหวังของเมียนมาร์ จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า
"เมียนมาร์ไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจของอินเดียหรือจีนมากเกินไปจึงยอมให้ชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนและตักตวงประโยชน์จากตน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นช่องทางสำเร็จรูปเพื่อการก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต"
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน