สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาระบนบ่าบอร์ดกบข. ดูแลผลประโยชน์สมาชิก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ปัญหากองทุนเพื่อกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถยื้อหรือซื้อเวลาให้ปัญหาบานปลายจนแก้ยากมากไป กว่านี้อีกแล้ว

ข้อเสนอล่าสุดของสมาชิก กบข.ที่เรียกร้องรัฐบาลหลายข้อ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีคำตอบ ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการชุดนั้น ชุดนี้ มาศึกษาประวิงเวลา สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ที่สำคัญ สมาชิก กบข. โดยเฉพาะข้าราชการที่เกษียณเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายลด แลก แจก แถม ตกถึงมือเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนกลุ่มอื่น

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ข้าวยากหมากแพง ค่าเงินลด แต่รายได้ไม่ได้เพิ่ม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขัดสนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ถ้าพิจารณาข้อเรียกร้องของสมาชิกที่เป็นหัวใจสำคัญ ประกอบด้วย ให้มีการแก้ไขกฎหมาย กบข. มาตรา 59 เพื่อให้ข้าราชการที่เสียชีวิตควรได้รับเงินชดเชยและผลประโยชน์อื่นจากการลง ทุนของ กบข. จากเดิมจะไม่ได้รับเงินผลประโยชน์ดังกล่าว

เนื่องจาก กบข.มองว่า เป็นกองทุนเพื่อเกษียณอายุ ไม่ใช่สำหรับข้าราชการที่เสียชีวิต

นอกจากนี้ ขอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 63 ในการทบทวนการคำนวณการได้รับเงินเดือนหลังเกษียณอายุราชการ โดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 เป็นไม่ควรต่ำกว่า 85% ของเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย

 

จากปัจจุบันที่ให้คำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการไม่เกิน 35 ปี หารด้วย 50 แต่ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

นั่นหมายถึงว่า อย่างน้อยถ้าใครมีเงินเดือน 4 หมื่นบาท อย่างน้อยจะมีรายได้ไปใช้จ่ายเดือนละ 3.5 หมื่นบาท แทนที่จะเป็น 2.7 หมื่นบาทเหมือนปัจจุบัน

สมาชิก กบข.ขีดเส้นใต้ให้รัฐบาลเร่งเสนอแก้กฎหมายภายใน 15 วัน เพราะเห็นว่าเรื่องที่เรียกร้องไม่ใช่เรื่องใหม่ ดำเนินการเรียกร้องทุกรัฐบาลมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

เที่ยวนี้สมาชิกดันหนัก มีการรวมตัวมากขึ้น

สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถนอนรอเฉยปล่อยให้รัฐบาลทำเช้าชามเย็นชามต่อไปได้

สมาชิก กบข.ที่มาเรียกร้องได้ยกตัวอย่าง ทำงานข้าราชการเป็นเวลา 20-30 ปี ได้เงินเดือนเต็มที่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ปรากฏว่า เมื่อเข้าสูตรคำนวณบำเหน็จบำนาญตามสูตรของ กบข. เงินรายได้ต่อเดือนจะเหลือแค่ครึ่งเดียว 2.4 หมื่นบาท หักหนี้สินต่างๆ นานา เหลือไม่ถึงหมื่นบาท เพื่อยังชีพให้ได้เดือนๆ หนึ่ง

นอกจากนี้ ปัญหาสูตรคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญ ผลตอบแทนเงินทุนของสมาชิกแต่ละปีไม่ควรต่ำกว่า 9% แต่ที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี มีผลตอบแทนเพียง 7% ทำให้เงินที่จะได้รับหลังเกษียณน้อยลงไปด้วย

วันนี้จะเป็นก้าวแรกที่จะพิสูจน์ว่า รัฐบาลจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ขนาดไหน

โดยจะมีการประชุมถกปัญหากันที่ทำเนียบรัฐบาล มีตัวแทนจากรัฐบาลเป็นผู้บริหารสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง ผู้บริหาร กบข. และสมาชิก กบข. ที่มาร้องเรียน

นอกจากรัฐบาลจะต้องจริงจังแก้ไขให้เป็นรูปธรรมแล้ว

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ ของสมาชิกก็คือ คณะกรรมการของ กบข.ที่มาจากหน่วยงานต่างๆ และดูแลสมาชิกนั่นเอง

ต้องไม่ลืมว่า กบข.เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการหลังเกษียณ อายุให้มีพออยู่พอกิน ซึ่งคณะกรรมการทุกคนที่มาบริหารกองทุนมีหน้าที่สำคัญอันดับแรกคือ ผลประโยชน์ของสมาชิกมาเป็นอันดับหนึ่ง

แต่ที่ผ่านมา 4-5 ปี ที่สมาชิกรวมตัวกันเรียกร้องให้ดูแลผลประโยชน์ให้ดีขึ้น ต้องยอมรับว่า กรรมการของ กบข.แทบไม่มีส่วนร่วมเป็นกำลังผลักดันข้อเรียกร้องของสมาชิกเลย

และยังพบว่า มีหลายครั้งหลายครา กรรมการของ กบข.กลับเอนเอียงหนุนเข้าข้างแก้ต่างให้กับรัฐบาลว่าไม่สามารถทำตามข้อเรียก ร้องของสมาชิกได้ เพราะจะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณจำนวนมาก

การหลงทางของกรรมการ กบข.ดังกล่าวถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการเข้ามาเป็นกรรมการที่ให้มาดูแลสมาชิก ไม่ใช่ให้มาปกป้องแก้ตัวแทนรัฐบาล

กรณีล่าสุด มีกรรมการบางท่านออกมาให้ความเห็นยอมรับว่า ผลตอบแทนของ กบข.ต่ำกว่าระบบข้าราชการแบบเก่า การแก้ไขดีที่สุดอาจจะต้องยุบ กบข.ไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเก่า

แต่เมื่อการแสดงความเห็นปกป้องผลประโยชน์สมาชิก กบข.กลายเป็นเรื่องบูเมอแรงเข้าตัว โดนต่อว่าจากฝ่ายการเมือง กรรมการท่านนี้ก็กลับลำทันทีว่าการแก้ไขปัญหา กบข.เป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่กรรมการ กบข.

เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาชิก กบข.จะไปพึ่งใคร และกรรมการ กบข.จะมีไว้ทำไม ในเมื่อไม่สามารถปกป้องเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับสมาชิกได้และต้องยอม หมอบอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เป็นคนแก้ต่างแทนรัฐบาลไปในที่สุด

หากไปไล่ดูกรรมการของ กบข. จะพบว่า มีกรรมการโดยตำแหน่งถึง 10 คน

ในจำนวนนี้มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ถือเป็นตัวแทนข้าราชการทั่วประเทศ 1.2 ล้านคน ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับข้าราชการทั้งประเทศ เพราะมีข้อมูลรู้ตื้นลึกหนาบางอยู่ในมือ

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการผู้แทนสมาชิกอีกถึง 12 คน มาจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการพลเรือน อัยการ ตำรวจ ทหาร ถือเป็นขุมกำลังสำคัญที่จะเป็นปากเสียงเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับสมาชิกใน ทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เรียกร้องยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้แทนจากตำรวจ ทหาร ที่ควรจะมีบทบาทในการเรียกร้องปกป้องผลประโยชน์ให้กับลูกน้องมากกว่านี้

เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากสูตรการคิดคำนวณบำนาญของ กบข.มากที่สุดคือ ลูกน้องในสังกัดของท่านเอง โดยเฉพาะผู้ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง จะได้คิดว่าเวลาการทำงานเป็นทวีคูณ เพราะถือว่าเสียสละเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย

ส่งผลให้ลูกน้องจำนวนมากจะมีอายุการทำงานมากกว่าข้าราชการอื่นๆ บางคนทำงานไปได้แค่ 20-25 ปี แต่อายุราชการได้ถึง 50 ปี แต่สูตรคำนวณบำเหน็จบำนาญของ กบข.กลับล็อกอายุข้าราชการไว้แค่ 35 ปีเท่านั้น

อายุราชการที่ทำเกินมาจึงไม่มีความหมาย เป็นของไร้ค่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีคำถามว่า จะมีข้าราชการคนไหนมีขวัญกำลังใจไปเสี่ยงตายปกป้องประเทศชาติ

ต่อไปข้าราชการหากมีอายุราชการได้ 35 ปี ก็ขอนอนอยู่กรม ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่ต้องไปเสี่ยงตายนอนกินเงินเดือนไปวันๆ รอวันเกษียณไม่ดีกว่าหรือ

เรื่องดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข และกรรมการของ กบข.ต้องกล้าหาญที่จะออกมาเป็นหัวหอกในการผลักดันแก้ไขในเรื่องดังกล่าว

ถึงแม้ว่าการดำเนินการแก้ไขจะทำให้รัฐบาลต้องเสียเงินงบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท กรรมการก็ต้องคิด ต้องหาทางออก สานฝันสมาชิกให้เป็นจริง ได้รับผลตอบแทนที่ควรได้รับ

การเป็นกรรมการ กบข.ต้องเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมด ตั้งแต่หัวจรดหาง ไม่ใช่นั่งเป็นกรรมการนั่งบริหารแค่พอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงิน ได้ผลตอบแทน 7-8% และก็โชว์ว่าเป็นผลงานโบแดงของกรรมการแลกกับเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันรถคันโก้

การบริหารการลงทุนของกรรมการเป็นแค่ส่วนเดียวของการดูแลสมาชิก ไม่ใช่เป็นทั้งหมดของกรรมการ กบข. ทำเรื่องนี้เรื่องเดียวรับเบี้ยประชุม เงินโบนัสพิเศษ ถือเป็นอันจบสิ้น

การประชุมรวมทุกฝ่ายที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้จะไม่มีความหมายเลย หากกรรมการ กบข.ยังเล่นละครบทเก่า ไม่ตื่นจากหลับขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกอย่างจริงจัง

กรรมการ กบข.ต้องทำงานปกป้องผลประโยชน์สมาชิกเชิงรุก สร้างบทบาทตัวเองให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลเพื่อสมาชิกทุกคน

ขณะเดียวกัน สมาชิกของ กบข.ก็ต้องเปลี่ยนแนวรบ จากที่มุ่งแต่เรียกร้องจากรัฐบาล ก็ต้องหันมามองคนใกล้ตัว กระตุ้นกดดันให้กรรมการที่เป็นตัวแทนของตัวเองแสดงบทบาทและศักยภาพในการดูแล สร้างผลประโยชน์ให้กับสมาชิกได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ถึงเวลาแล้ว ที่กรรมการ กบข.จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาชิกแท้จริง มากกว่ามารับเบี้ยประชุม แล้วปัญหาที่สมาชิกเรียกร้องให้แก้ไขก็ยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาระบนบ่า บอร์ดกบข. ดูแลผลประโยชน์สมาชิก

view