ป๋าเปรม” ร้องคนไทยแทนคุณแผ่นดิน เชื่อพระสยามเทวาธิราชสาปแช่ง “คนทรยศ” มีอันเป็นไป
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ” บรรยายในวาระ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียกร้องคนไทยยึดหลักจริยธรรมคุณธรรม ยก 9 ประการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ชี้ราชบัณฑิตเคยแนะต้องพูดคุณธรรมแลจริยธรรมพร้อมๆ กัน เชื่อบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครยึดเป็นของตัวเองได้ พระสยามเทวาธิราชมีจริง ปกป้องคนดี-สาปแช่งคนทรยศให้พินาศ หลังเสร็จงานปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อกรณี “เสธ.หนั่น” เสนอพูดคุยกับ “ทักษิณ”
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดงานสัมมนาวิชาการและบรรยายพิเศษในโอกาสครบ รอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้เชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรษ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “จริยธรรมค้ำจุนชาติ” โดย พล.อ.เปรมกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะได้รับเชิญเพราะอายุมากแล้วบางคนพูดว่าตนไม่มีไฟแล้ว ไปประจุใหม่ก็ไม่ได้แล้ว แต่ที่รับเชิญเพราะว่าสนิทกับผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คน และเห็นว่าองค์กรนี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงตัดสินใจลองดูอีกสักครั้งเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ายังไหวไหม ซึ่งชื่อของงานในครั้งนี้คือเรื่อง “จริยธรรมค้ำจุนชาติ” มีความหมายมาก แต่เห็นว่าถ้าพูดถึง “จริยธรรม” ต้องพูดคำว่า “คุณธรรม” ไปพร้อมกันถึงจะมีความสมบูรณ์ของความหมายของเรื่องราว ตนคิดว่าเรื่องที่ควรจะพูดก็คื อเรื่องที่พูดเสมอว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ประโยคนี้ตนคิดเองตั้งแต่อยู่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และมาพูดให้สาธารณะได้ยินเมื่อ 23 ปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังชอบพูดประโยคนี้มากและยังอ้างถึงเสมอ แต่คิดว่าคนชอบฟังไม่ค่อยมีเท่าไร
โดยการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้นอธิบายอย่างสั้น หมายความถึงการทำความดีให้แผ่นดินมีความสงบ คนในแผ่นดินมีความสุข ช่วยสร้างคนดีในแผ่นดิน จนเรามีคนดีมากกระทั่งต้องเบียดเสียดเยียดยัดกัน หรือการไม่ทำความชั่ว ไม่ทำให้แผ่นดินมีปัญหา ไม่ทำให้คนในแผ่นดินเดือดร้อน ซึ่งการทำความดีไม่ทำความชั่วนั้นเฉพาะคนดีเท่านั้นถึงจะทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทำยากมาก คนไม่ดีทำไม่ได้ และการทำความดี แม้จะทำยากแต่ก็ทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยากกว่าและยากที่สุด คือ การรักษาความดีที่ทำให้คงอยู่กับผู้ทำตลอดไปจนกระทั่งตาย มีหลายคนในประเทศเคยทำความดีให้ปรากฏจนกระทั่งได้รับการยกย่องสรรเสริญ ศรัทธา แต่ก็ไม่สามารถรักษาความดีที่ทำไว้ได้ ซึ่งน่าเสียดายมาก
ส่วนการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้น แบ่งเป็น 9 ข้อ ได้แก่ 1. มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งคิดว่าทุกคนเข้าใจแล้วไม่ต้องอธิบาย 2. ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละและจงรักภักดี 3. คนเป็นผู้บังบคับบัญชาต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้ บังคับบัญชา เป็นนายคนต้องมีความเมตตา ต้องมีแต่ให้ รับได้อย่างเดียวคือความลำบากยากเข็ญของคนอื่นมาพิจารณาแก้ไข เหมือนอย่างที่ผู้ตรวจฯ กำลังทำอยู่ และเป็นคนไทยต้องมีความเป็นไทย มีความเป็นธรรม 4. ปัญหาของชาติบ้านเมืองที่สำคัญที่สุดคือความยากจน จึงต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยการช่วยกันหาหนทางขจัดความยากจนในบ้านเมือง ตนเคยรับราชการทางภาคอีสาน 4 ปี ไม่เชื่อว่าจะพบคนไม่มีเงินเลยสักบาทในกระเป๋า แต่ก็เป็นเรื่องจริง
5. ต้องยึดถือปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ตนอายุมากมักมีคนมาขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำให้ช่วยคิด ถ้าคิดได้ให้คำปรึกษาได้ก็จะตอบว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าตอบเขาไม่ได้ ก็จะแนะนำว่าให้ไปอ่านพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสอาจมีคำตอบในนั้น 6. คิดว่าไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน ต้องทำงานให้คุ้มค่า คุ้มเวลา และคุ้มความเป็นคนที่เข้าใจได้ง่ายว่า เกิดมาเป็นคนต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตนยึดถือวิธีนี้ในการทำงานมาตลอดว่า ต้องมีความสะดวก เรียบง่าย ประหยัด ถ้าทุกคนจะนำไปใช้น่าจะได้ประโยชน์ 7. ต้องดำรงวัฒนธรรมไทยที่เท่ากับรักษาชาติบ้านเมือง ทำได้ง่ายๆ เช่น การรักษาการละเล่นพื้นบ้านของแต่ละภาค รักษาการพูดภาษาถิ่นที่มีเสน่ห์มากเอาไว้ ไม่ควรเห่อฝรั่ง ลอกเลียนจนไม่เหลือความเป็นไทย
8. ผู้ใหญ่ต้องดูแลเยาวชนที่ถือว่าเป็นความสำคัญของบ้านเมืองให้เติบโตมาเป็นคน ดีของประเทศชาติ 9. จริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งคนดีเท่านั้นที่จะมีคุณธรรมแลจริยธรรม ถ้าเปิดพจนานุกรรมของราชบัณฑิตยสถาน จะพบว่าคำนิยามของสองคำนี้ไม่ค่อยมีความชัดเจนเท่าไรนัก แต่จากที่ได้พูดคุยกับนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ได้คำชี้แจงพอสรุปได้ว่า คุณธรรมแลจริยธรรม ต้องพูดสองคำนี้พร้อมๆ กันถึงจะได้ความชัดเจน โดยคุณธรรมหมายถึงความดีที่มีอยู่ในใจของตน หรือของคนก็ได้ ทำให้ประพฤติดีปฏิบัติดี เป็นธรรมะที่ควบคุมจิตใจของคนให้คิดและพูดในสิ่งที่เป็นคุณ โดยเฉพาะเป็นผลดีต่อผู้อื่น เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือจากการอบรมสั่งสอน คนที่มีคุณธรรม จะต้องซื่อสัตย์ คิดดีทำดี พูดดี ไม่พลิกพลิ้วในการพูดและทำ มีเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และ ไม่ทำในเรื่องเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คดโกงแม้ไม่มีผู้รู้เห็น ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ข่มแหงรังแกผู้หญิง ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ประพฤติทุจริต
ส่วนคำว่าจริยธรรม หมายถึง ความประพฤติทางกาย วาจา ที่แสดงออกถึงธรรมะที่มีอยู่ในใจ จริยธรรมมักหมายถึงการปฏิบัติในทางดี มักใช้คู่กับศีลธรรม ดังนั้นถ้าพูดถึงจริยธรรม คือหมายถึงการบังคับ กาย วาจา ใช้บังคับใจไม่ได้ แต่คุณธรรม จะบังคับใจ จึงต้องใช้ควบคู่กัน
“ที่ผ่านมาได้รับประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง เช่น ส.ส. ส.ว. จากผู้ตรวจการแผ่นดิน อ่านคร่าวๆ แล้วเป็นเรื่องดีมาก แต่แค่จริยธรรมอย่างเดียวก็ยากลำบาก ถ้ารวมคุณธรรมเข้าไปด้วย ยิ่งเหนื่อยที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ผมสังเกตว่าประมวลจริยธรรมที่ส่วนราชการกำหนดขึ้นมา ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีบทลงโทษ คิดว่าแล้วจะตัดสินได้อย่างไร ก็ตอบคำถามตัวเองได้ว่าต้องใช้มโนธรรมและกติกาในใจของเราเองเป็นมาตรการใน การตัดสิน ซึ่งมโนธรรมก็คือการรู้สึกผิดชอบชั่วดี แยกความดีออกจากความชั่วได้” พล.อ.เปรมกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ขอที่จะพูดนอกเรื่องเพิ่มเติมว่า เชื่อมั่นว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ไม่มีใครยึดถือเป็นของตัวเอง ได้ ตนเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดีคนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นี่คือความเชื่อของตน ทุกคนจะเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจริยธรรมคุณธรรมของแต่ละคน จากนั้น พล.อ.เปรมได้มีการมอบรางวัล “คนดีแห่งแผ่นดิน” เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่นายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ผลักดันให้ภาคธุรกิจรวมตัวกันต่อต้านการคอร์รัปชัน ปฏิเสธการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการได้รับสัมปทานในโครงการขนาดใหญ่จากภาค รัฐ และนายชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ผู้สร้างความตื่นตัวเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ในองค์กรธุรกิจเอกชน และรัฐอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนมารับมอบ เนื่องจากบุคคลทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังมอบรางวัลเสร็จสิ้น สื่อมวลชนพยายามที่จะขอสัมภาษณ์ พล.อ.เปรม ที่บริเวณหน้าห้องประชุม แต่ พล.อ.เปรมก็เดินตรงไปยังลิฟต์ทันที โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่กันสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้สื่อข่าวก็ได้ตะโกนถาม พล.อ.เปรมว่า จะมีการพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความปรองดองหรือไม่ แต่ พล.อ.เปรมก็ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ เพียงแต่หันมายิ้มและเดินเข้าลิฟต์ไป
'ป๋าเปรม'แช่งคนทรยศชาติบ้านเมืองให้พินาศ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวบรรยายพิเศษ เนื่องใจโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า เราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยสามารถอธิบายได้ 2 แบบ คือ แบบสั้น ได้แก่ การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินต้องทำความดี เพื่อให้แผ่นดินมีความสงบ คนในแผ่นดินมีความสุข และอีกความหมายคือต้องไม่ทำชั่ว ทำให้คนในแผ่นดินเดือดร้อน ระบุ เสียดาย คนทำดีไม่สามารถรักษาความดีได้
"การทำความดี ไม่ทำความชั่วนั้น มีแต่เฉพาะคนดีเท่านั้นถึงจะทำได้ คนไม่ดี ทำไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผมขอเรียนว่าการทำความดีแม้จะทำยาก แต่ก็ทำได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยากกว่า และยากที่สุดคือ การรักษาความดีที่ทำให้คงอยู่กับผู้ทำตลอดไปจนกระทั่งตาย มีหลายคนในประเทศเคยทำความดีให้ปรากฎ จนกระทั่ง ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ศรัทธา แต่ไม่สามารถรักษาความดีทีตนทำไว้ได้ น่าเสียดายมาก" พล.อ.เปรม กล่าว
ย้ำวิธีตอบแทนบุญคุณ 9 ข้อต้องจงรักภักดี
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวต่อว่าสำหรับความหมายอย่างยาว อธิบายได้ 9 ข้อ ได้แก่คือ
1.จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
2.ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และจงรักภักดี
3.คนที่เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างกับผู้ใต้บังคับบัญชา คนเป็นนายคนต้องมีความเมตตา เป็นคนไทยต้องมีความเป็นไทย เป็นธรรม เป็นนายคนต้องมีแต่ให้ และรับได้อย่างเดียว คือ รับความทุกข์ ความลำบากยากเข็ญของคนอื่น มาแก้ไข
4.หาทางขจัดความยากจน
5. ยึดถือ และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ตนอายุมาก มักมีคนขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ ถ้าตนคิดได้ ตนจะให้ปรึกษา แต่หากตอบไม่ได้จะแนะนำให้ไปอ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เพราะอาจมีคำตอบอยู่ในนั้น
6.ต้องทำงานให้คุ้มค่า คุ้มเวลา และคุ้มความเป็นคน ซึ่งตนใช้วิธีทำงานที่ยึดถือมา คือ สะดวก เรียบง่ายและประหยัด หากคนที่นำไปใช้เชื่อว่าจะได้ประโยชน์
7. ดำรงวัฒนธรรมไทย เช่น วัฒนธรรมการละเล่นท้องถิ่นของภาคใต้ กลาง อีสาน เหนือ การพูดภาษาถิ่น โดยตนขอพูดตรงๆ ว่าไม่ควรจะเห่อฝรั่ง ไม่ควรลอกเลียนฝรั่ง จนไม่เหลือความเป็นไทย เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
"8.ข้อนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ว่าพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ ต้องถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดูแลยุวชน เยาวชน ที่ผมใช้คำว่าต้องยอมถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ เพราะเด็กเป็นความสำคัญของชาติบ้านเมืองของเรา การดูแลไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญใด เราก็มีสิทธิ์ที่ไม่ถืออย่างนั้นก็ได้ แต่ผมคิดว่า ถ้าเรามุ่งที่จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของเรา หากไม่ถือเป็นหน้าที่ไม่มีกฎหมายลงโทษ แต่ผมคิดว่า เป็นหน้าที่โดยตรง ที่เราต้องรับผิดชอบดูแลให้แกเติบโตมาเป็นคนดีของชาติบ้านเมืองให้ได้ 9. ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม ผมว่าคนดีเท่านั้นที่จะมีคุณธรรมและจริยธรรม ได้" พล.อ.เปรม กล่าว
นักการเมืองใช้มโนธรรมตัดสินผิดจริยธรรม
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวขยายความคำว่าคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยว่า 2 คำดังกล่าวต้องพูดพร้อมกันถึงจะได้ความหมายที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามตนขอย้ำว่าคนดีเท่านั้นถึงจะมีคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งนี้ตนได้โทรศัพท์ ไปหา ศ.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ถึงความหมายของทั้ง 2 คำ
ซึ่ง ศ.กาญจนา อธิบายได้ว่า คุณธรรม คือ ความดีที่มีอยู่ในใจ ที่ทำให้เกิดผลดีต่อผู้อื่น โดยคนที่มีคุณธรรมนั้นต้องซื่อสัตย์สุจริต คิดดี พูดี ทำดี คิดตรง พูดตรง ทำตรง ไม่พลิกพริ้วในคำพูดและการกระทำ รวมถึงต้องมีเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และที่สำคัญต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่คดโกง แม้ไม่มีคนรู้เห็น, ไม่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือผู้หญิง ไม่ฉ่อราษฎร์บังหลวง และไม่ทำสุจริต ส่วนจริยธรรม หมายถึงความประพฤติ ทางกายและวาจา ที่แสดงออกถึงธรรมะที่มีอยู่ในใจ
"ในประมวลจริยธรรมของนักการเมือง เห็นว่าเป็นเรื่องดีและมีประโยชน์ แต่ผมว่าเฉพาะจริยธรรมอย่างเดียวก็ยากลำบากแล้ว หากรวมคุณธรรมยิ่งเหนื่อยที่จะปฏิบัติตาม ผมสังเกตว่าประมวลจริยธรรมของส่วนราชการต่างๆ ที่กำหนดแต่หากไม่มีการปฏิบัติตามจะไม่ถูกลงโทษ แล้วจะจะตัดสินได้อย่างไร ผมก็ขอให้คำตอบว่าต้องใช้มโนธรรม คือ การรู้สึกผิดชอบชั่วดี แยกผิด ชั่ว ออกจากความดีได้ และกติกาในใจของเราเอง เป็นมาตรการในการตัดสิน” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าว
แช่งคนทรยศชาติพินาศ
พล.อ.เปรม กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า "ผมเชื่อว่าชาติ บ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดถือเป็นของตนเองได้ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราช มีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่จริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน"
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน