เสียงข้างมากอย่างไรถึงจะลากไทยให้ไปพ้นวิกฤติได้
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หลักการสำคัญของประชาธิปไตย คือ เสรีภาพและความเสมอภาค ทั้งสองสิ่งนี้แยกจากกันไม่ได้
เพราะถ้าเน้นเสรีภาพ โดยไม่รักษาความเสมอภาคไว้ด้วย ก็จะนำไปสู่สภาวะที่ผู้คนในสังคมมีเสรีภาพที่ไม่เท่ากัน บางคนมีมาก บางคนมีน้อย หรือที่สุดแล้ว บางคนอาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้ ขณะเดียวกัน หากเน้นที่ความเสมอภาค เราก็จะได้สังคมที่ทุกคนเสมอภาคกันโดยไม่มีเสรีภาพเลย อย่างเช่น ในกรณีของสังคมเผด็จการ ทุกคนถูกกดขี่จากทรราชอย่างเท่าเทียมกัน
หลักเสรีภาพและความเสมอภาคในประชาธิปไตยนี้เกิดจากความเชื่อว่า โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่ที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะก็เป็นเพราะเราสร้างมันขึ้นมาเอง หาได้เป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติไม่ เมื่อธรรมชาติไม่ได้กำหนดให้ใครเป็นนายเป็นทาส มนุษย์ทุกคนจึงเกิดมาเสรี และเมื่อทุกคนเกิดมาเสรีเหมือนกัน ทุกคนจึงมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ศักดิ์ศรีที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อในการเกิดมาเสรีของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในเจตจำนงเสรีของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์อื่นไม่มี เพราะสัตว์อื่นๆ ดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณและความต้องการทางชีวภาพ เช่น หิวก็ต้องกินทันที ปวดขับถ่ายก็ต้องถ่ายทันที ฯลฯ แต่สังเกตได้ว่า มนุษย์สามารถที่จะฝืน-ควบคุมความต้องการทางชีวภาพได้ อีกทั้งเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่คิดเป็นรู้จักใช้เหตุใช้ผล คุณสมบัติศักยภาพความสามารถในการคิดและรู้จักใช้เหตุผลนี้น่าจะเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากคุณสมบัติในเรื่องเจตจำนงเสรีของมนุษย์ เมื่อเป็นดังนี้ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของมนุษย์แต่ละคน จึงเป็นสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกัน และสมควรเคารพรับฟังและให้ความสำคัญเท่าๆ กัน
จากฐานคิดความเชื่อดังกล่าวนี้นำมาซึ่งความเชื่อมั่นในรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” โดยคิดว่า ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด นั่นคือ สอดคล้องรองรับกับธรรมชาติหรือคุณสมบัติที่มนุษย์มี ที่ว่าสอดคล้องกับเหมาะสมกับธรรมชาติมนุษย์ ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยเคารพความเห็นของคนแต่ละคนทุกคนเท่าๆ กัน และเปิดโอกาสให้แต่ละคนทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เชื่อว่า แต่ละคนทุกคนคิดและใช้เหตุผลเป็น และไม่เพียงแต่จะคิดและใช้เหตุผลในเรื่องที่แต่ละคนคิดว่าเป็นประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเอง แต่เชื่อว่า แต่ละคนทุกคนจะคิดและใช้เหตุผลที่นำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันหรือประโยชน์ส่วนรวมด้วย
หลังจากที่ระบอบประชาธิปไตยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเท่าเทียมกันแล้ว ก็จะพิจารณาว่า เหตุผลที่เป็นเสียงข้างมากไปในทิศทางใด ก็จะถือเอาเหตุผลที่ตรงกันจนกลายเป็นเสียงข้างมาก เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเรื่องราวทางสาธารณะ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ประชาธิปไตยจะต้องรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคไว้ ดังนั้น เหตุผลของเสียงข้างมากจะกำหนดทิศทางสาธารณะได้ตราบเท่าที่จะต้องไม่ไปลิดรอนเสรีภาพของเสียงข้างน้อย จนทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน
การใช้เกณฑ์เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยนี้มีสองลักษณะ เกณฑ์เสียงข้างมากปกติ (เกินครึ่ง-simple majority) กับ เกณฑ์เสียงข้างมากพิเศษ (supra-majority/ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4) ในการลงคะแนนเสียงเรื่องทั่วๆ ไป มักจะใช้เกณฑ์เสียงข้างมากปกติ เพราะถ้าใช้เกณฑ์เสียงข้างมากแบบพิเศษ อาจจะไม่สามารถได้ข้อยุติหรือมีความล่าช้าในการดำเนินการ อีกทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป ที่ผู้คนในสังคมไม่ได้มีความเห็นที่แตกต่างอย่างรุนแรงจนมีแนวโน้มจะขัดแย้งใช้ความรุนแรง การใช้เกณฑ์เสียงข้างมากปรกติก็เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปยอมรับได้อยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดหรือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ก็จำเป็นต้องยกระดับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมากพิเศษ เพราะอย่างน้อยมันก็ยังอยู่ภายใต้การเคารพหลักเสรีภาพและความเสมอภาค หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ มันยังอยู่ภายใต้การเคารพความเป็นคนของแต่ละคนทุกคนอยู่ เพียงแต่เสียงข้างมากพิเศษจะช่วยชี้ให้เห็นถึงความต้องการของคนหมู่มากจนขนาดที่เรียกว่าตั้งแต่ร้อยละ 60 หรือ 70 ขึ้นไป
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการพยายามจะออก พ.ร.บ. ปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะเกิดการใช้กำลังความรุนแรงขึ้นในสังคมได้ ดังนั้น ในการหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองภายใต้ความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เสียงข้างมากแบบพิเศษเป็นกลไกในการหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว หากผลการลงคะแนนออกมาว่า เสียงข้างมากกว่าปรกติยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยอมรับ พ.ร.บ. ปรองดอง ก็ถือว่าเป็นอันยุติ หากไม่ได้เสียงข้างมากขนาดนั้น ก็ถือว่ายุติ นั่นคือ จะต้องไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่มีการเสนอ พ.ร.บ. ปรองดองนี้จนกว่าจะมีการยุบสภา หากเมื่อยุบสภาแล้ว ในการรณรงค์หาเสียง หากพรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้งจากการเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและออก พ.ร.บ. ปรองดองอีก ก็ให้มาเริ่มต้นใหม่ได้ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ หากไม่ใช้กลไกเสียงข้างมากแบบพิเศษในการหาข้อยุติในประเด็นสำคัญดังกล่าวทั้งสองนี้ แต่ยืนยันใช้เสียงข้างมากแบบปรกติ ไม่ว่าจะโดยสมาชิกรัฐสภาหรือในการลงประชามติของประชาชน ก็เชื่อว่า จะไม่สามารถพาประเทศชาติให้รอดวิกฤติอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะหากจะ “ใช้เสียงข้างมากลากไป” ในเรื่องที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ ก็จำต้องใช้ “เสียงข้างมากที่มีพลังมหาศาลพอที่จะลากนำพาสังคมไปได้” ถึงจะชอบธรรมและจบปัญหา
(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 ความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “การพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” (HS1068A) สนับสนุนโดย สกอ. ตุลาคม 2554-กันยายน 2555)
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน