การควบคุมเงินเฟ้อในประเทศไทย (1)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปัญหาเงินเฟ้อหรือการปรับขึ้นของราคาสินค้าแบบยกแผงอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการขยายตัวที่สูงเกินไปของปริมาณเงินในระบบ
เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวของปริมาณสินค้าและบริการในเศรษฐกิจ เช่น หากระบบการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 5% แต่ปริมาณการเงินเพิ่มขึ้นปีละ 10% ก็จะประมาณการได้ว่าเงินเฟ้อ (การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยรวม) จะประมาณ 5% ต่อปี
ในความเป็นจริงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มของปริมาณเงินนั้น อาจผันผวนได้อย่างมากในระยะสั้น เช่น ในกรณีที่เกิดวิกฤติในสถาบันการเงินทำให้การหมุนเวียนของเงินชะงักงันและสถาบันการเงินไม่สามารถทำหน้าที่โดยปกติได้ การเพิ่มของปริมาณเงินก็จะไม่สัมพันธ์กับเงินเฟ้อดังที่กล่าวข้างต้น เช่น ที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ธนาคารกลางได้พิมพ์เงินก็ไปในระบบเพิ่มขึ้นเป็นล้านล้านดอลลาร์ (ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 2 เท่าตัว) แต่ก็ยังไม่มีปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม ใน ระยะยาวปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระดับต่ำเช่น 1-2% ต่อปี ก็อาจทำให้เงินเฟ้อขยับตัวสูงขึ้นเป็น 3%, 4%, 5% ต่อปีได้ ในกรณีที่มีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจใช้เงินลดลงโดยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การใช้การโอนเงินผ่านเอทีเอ็มและการทำบัญชีและธุรกรรมออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ กล่าวคือ นอกจากปริมาณเงินแล้วความเร็วในการหมุนเงิน (money multiplier) ก็อาจปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการพูดถึงเงินเฟ้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เลย เพราะผู้ที่ควบคุมปริมาณเงินในระบบคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ใช่รัฐบาล แต่ก็ น่าสนใจว่าทุกครั้งที่มีข่าวว่าประชาชนเดือดร้อนเพราะสินค้าราคาแพง (เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น) รัฐบาลก็จะรีบสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาสินค้า ซึ่งก็มักจะได้รับการตอบสนองโดยการประกาศไม่ยอมให้สินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคปรับราคาขึ้น แต่หากข้อเท็จจริง คือ มีปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้น คือ เกิดการปรับขึ้นของราคาสินค้าแบบยกแผง ขอให้ท่านผู้อ่านมาลองคิดตามกันว่าการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นที่สุดในชีวิตประจำวันของเราไม่ให้ปรับขึ้นแล้วผลที่จะตามมาคืออะไร
คำตอบคือผู้ผลิตจะยิ่งไม่มีแรงชักจูงให้ผลิตสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่จะลดลงด้วยซ้ำเพราะสินค้าอื่นๆ (ที่ไม่จำเป็น) ปรับตัวขึ้นได้ ทำให้ผู้ผลิตสามารถทำกำไรจากสินค้าดังกล่าวได้ดีกว่าสินค้าที่ถูกควบคุมราคา ดังนั้น หากปัญหาที่แท้จริง คือ เงินเฟ้อ การเข้าไปตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าดังกล่าวอย่างแน่นอน โดยในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจพยายามลดต้นทุนโดยการลดคุณภาพในบางมิติ (เช่น ลดต้นทุนในการบรรจุหีบห่อ) หรือเปลี่ยนขนาดของสินค้าให้เล็กลง แต่ราคาไม่ได้ลดลงตามสัดส่วน เป็นต้น แต่ก็จะต้องส่งผลให้การขาดแคลนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะราคาไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เหมือนกับสินค้าอื่นๆ
บางคนอาจแย้งว่าปัญหาเกิดจากการรวมหัวกันของผู้ผลิตที่จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายเพราะเป็นการพยายามสร้างเงื่อนไขของการผูกขาดสินค้า ซึ่งในความเป็นจริงจะกระทำได้ยาก เพราะมักจะมีผู้ผลิตหลายร้อยหลายพันรายและหากเป็นอุตสาหกรรมเกิดคือใครก็ได้จะเข้ามาทำธุรกิจโดยไม่มีข้อห้ามเพื่อกีดกันการ “ฮั้ว” กันสร้างราคาก็จะทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเพิ่มการผลิตและกดราคาลงอย่างรวดเร็ว เช่น จะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการขายก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวแกงเกินราคา เพราะมีผู้ผลิตเป็นแสนรายกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากร้านใดขายแพงและอาหารไม่อร่อยเป็นพิเศษ ก็จะไม่มีคนซื้อและต้องปิดกิจการลง
ที่สำคัญ คือ ผู้ที่ยืนเคียงข้างผู้บริโภคในการต่อรองให้ราคาสินค้าไม่ปรับเพิ่มขึ้น คือ ร้านขายสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ 3-4 ราย เรารู้จักกันดีในประเทศไทย ซึ่งผมไม่จำเป็นจะต้องเอ่อชื่อ แต่ก่อนเคยมีการกล่าวหาว่าร้านประเภทนี้ทำให้โชห่วยต้องปิดตัวไปหลายพันหลายหมื่นแห่ง ซึ่งหากอ่านข่าวดูก็จะเห็นว่าผู้ผลิตนั้นอยากทำธุรกิจกับโชห่วยมากกว่าเพราะโชห่วยนั้นมีขนาดเล็กไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องยอมซื้อสินค้าที่ราคาสูงกว่าร้านขนาดใหญ่ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้
อันที่จริงแล้วร้านโชห่วยนั้นถูกคุกคามจากการแข่งขันของร้านสะดวกซื้อ (convenient store) มากกว่าร้านขนาดใหญ่ ที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจว่า “สะดวกซื้อ” ไม่ได้หมายความว่าราคาย่อมเยา กล่าวคือ ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ขายของถูก (ของจะแพงกว่าเมื่อคำนวณราคาต่อหน่วยสินค้า) แต่ขายความสะดวก เช่น มีที่ตั้งสะดวกกับการซื้อของเล็กน้อยก่อนกลับบ้านหรือหากหิวน้ำหรือขาดสินค้าบางอย่างตอนเช้า เสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นร้านที่ให้บริการจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟและให้ความสะดวกอื่นๆ กับผู้บริโภค กล่าวคือ ร้านดังกล่าวต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ชีวิตประจำวันของคนทำงานมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเป็นการขาย “บริการ” มากกว่าขายสินค้าราคาถูก
ปัจจุบันโชห่วยที่สามารถปรับตัวมาแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อได้สำเร็จก็ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นรูปแบบของร้านสะดวกซื้อเช่นกัน ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์จะให้สิ่งจูงใจให้ร้านโชห่วยจัดพื้นที่มาขายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะหากพิจารณาในเชิงของแนวคิดและหลักการแล้วจะมีความไม่ลงตัวกันอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทางการจะเป็นผู้จัดหาสินค้าราคาถูกมาให้โชห่วยจำหน่ายนั้นจะลดเงินเฟ้อโดยรวมลงไม่ได้ กล่าวคือ อาจมีการนำเงินงบประมาณ (ภาษีประชาชน) มาใช้ในการแสวงหาสินค้าราคาถูกและขนส่งไปยังร้านโชห่วยต่างๆ แต่เมื่อลดส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตและราคาขายปลีกลงไปแล้ว (โดยใช้งบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาสินค้าบวกค่าขนส่ง บวกกำไรปกติของผู้ประกอบการ) ต่อไปเมื่อต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นราคา “สินค้าถูกใจ” ของทางการก็คงจะต้องถูกปรับขึ้นต่อไปเช่นกัน กล่าวคือ ความพยายามจะลดค่าใช้จ่ายในการทำการค้าปลีก จะไม่สามารถแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงได้ หากปัญหาหลัก คือ เงินเฟ้อหรือการที่ปริมาณเงินในระบบขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของปริมาณสินค้าและบริการ
ในตอนแรกนี้ผมได้พยายามแยกแยะให้เห็นว่า หากมีปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริงก็ต้องหันไปดูนโยบายการเงินมากกว่าไปเข้าใจว่าปัญหาเงินเฟ้อจะแก้ไขได้โดยการเข้าไปแทรกแซงตรึงราคาสินค้าในบางจุด ทั้งนี้ รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันด้วยซึ่งผมได้เขียนถึงในครั้งก่อนแล้ว ในครั้งต่อไปจึงจะขอเขียนเกี่ยวกับการควบคุมเงินเฟ้อโดยการมองจากการดำเนินนโยบายการเงินครับ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน