สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาเซียนควรร่วมมือกันอย่างไรด้านการเงิน

อาเซียนควรร่วมมือกันอย่างไรด้านการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมเขียนบทความนี้ด้วยแรงจูงใจจากข่าวใหญ่ที่ออกมาสองอาทิตย์ก่อน ก็คือ การประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม
คือ ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม

บวกกับประเทศใหญ่ในเอเชียอีกสามประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่จะเพิ่มวงเงินความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มภายใต้โครงการ CMIM หรือ Chiang Mai Initiative Multilateralization จากวงเดิม 120 พันล้านดอลลาร์ เป็น 240 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียมีวงเงินมากขึ้นสำหรับช่วยเหลือประเทศในกลุ่มในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ข่าวนี้ฟังดูแล้วน่าจะเป็นข่าวบวกสำหรับภูมิภาคอาเซียนที่จะมี กำแพงกันไฟ ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อป้องกัน หรือแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเมื่อเกิดขึ้น แต่ในทางพฤตินัย วงเงินที่ใหญ่ขึ้นอาจจะไม่ใช่ความร่วมมือทางการเงินที่แท้จริงที่กลุ่มประเทศในอาเซียนต้องการ

ในกรณีของ CMIM ความร่วมมือเกิดขึ้นหลังวิกฤติการเงินเอเชียช่วงปี 2540-2541 จากการผลักดันกลุ่มประเทศใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐ และญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ภูมิภาคเอเชียใช้ศักยภาพทางการเงินที่มีอยู่โดยเฉพาะประเทศใหญ่ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เข้ามามีบทบาทดูแลเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคเอเชีย เพื่อแบ่งเบาภาระประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก แต่ก็ให้อยู่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับประติมากรรมการช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม ที่มีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นกลไกหลักที่จะดูแลสอดส่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อจำเป็น การผลักดันดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะจัดระเบียบการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในระดับสากล ที่อาศัยโครงสร้างความร่วมมือของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเป็นเวที และเป็นเครื่องมือ

แต่เดิมกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ มีความร่วมมือทางการเงินอยู่ก่อนแล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ในรูปของกลไกการกู้ยืมระหว่างกัน ภายใต้โครงการอาเซียนสวอปที่ธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถกู้ยืมจากธนาคารกลางอื่นในกลุ่มอาเซียนได้เมื่อมีความจำเป็น แต่ขนาดของวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียที่เกิดขึ้น ทำให้เงินช่วยเหลือที่สามารถระดมได้จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนในช่วงนั้นหลายประเทศก็เกิดปัญหาพร้อมๆ กัน

ดังนั้นความไม่เพียงพอของกลไกความช่วยเหลือที่ประเทศอาเซียนมี บวกกับสภาพที่อ่อนแอของเศรษฐกิจอาเซียนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงเปิดช่องทางให้ประเทศใหญ่ในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี สามารถเข้ามามีบทบาทนำ และแปรสภาพโครงการความร่วมมือทางการเงินของประเทศอาเซียนที่มีอยู่เดิม เป็นโครงการความร่วมมือของประเทศอาเซียนบวกสาม ที่มีวงเงินมากขึ้นจากการประกาศความตั้งใจของประเทศใหญ่สามประเทศที่จะเข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือในระดับที่สูง เมื่อพร้อมที่จะลงเงินมาก บทบาทนำในโครงการความร่วมมือดังกล่าวก็มีมากขึ้น โดยปริยาย ทำให้โครงการความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ที่มีอยู่เดิมถูกลดบทบาทลงจนแทบจะไม่มีบทบาทขณะนี้

แนวคิดในการผลักดันโครงการความร่วมมือทางการเงินของประเทศอาเซียนบวกสามก็เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนมีกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นกิจจะลักษณะ ที่จะสอดส่องดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของภูมิภาคเอเชีย และมีวงเงินที่จะให้กู้ยืมระหว่างกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในยามจำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์นี้ วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2008-2009 จึงเป็นจุดทดสอบสำคัญของโครงการความร่วมมือดังกล่าวว่าจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่ในการป้องกันไม่ให้ภูมิภาคเอเชียเกิดวิกฤติตามไปด้วย

ผลที่ออกมา ก็คือ ไม่มีประเทศอาเซียน หรือประเทศในกลุ่มบวกสามที่ต้องใช้ประโยชน์ของโครงการความร่วมมือที่มีอยู่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก สาเหตุหนึ่งก็เพราะประเทศในกลุ่มส่วนใหญ่สามารถดูแลเศรษฐกิจของตนได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินช่วยเหลือ แต่ในอีกด้านหนึ่ง บางประเทศที่อาจต้องการความช่วยเหลือขณะนั้น ก็เลือกที่จะไม่ใช้ประโยชน์โครงการความช่วยเหลือของกลุ่มอาเซียนบวกสามที่มีอยู่ด้วยสองเหตุผล

หนึ่ง การเบิกใช้วงเงินตามสิทธิของประเทศที่มีกับโครงการจะเกิดขึ้นได้เต็มจำนวน ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจสมัครใจที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในรูปโปรแกรมการกู้ยืมพร้อมกันไปด้วย การเชื่อมโยงการช่วยเหลือของโครงการอาเซียนบวกสามกับ การกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ลดทอนแรงจูงใจให้ประเทศอาเซียนใช้ประโยชน์โครงการความช่วยเหลือของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามที่ได้จัดตั้งกันไว้

สอง กลไกการเบิกจ่าย และการอนุมัติความช่วยเหลือของโครงการ กลุ่มประเทศอาเซียนบวกสามที่ได้วางไว้ก็ค่อนข้างจะใช้เวลา และมีความไม่แน่นอน ทำให้มีโอกาสสูงที่ความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว อาจไม่ทันเวลา เมื่อเทียบกับปัญหาและความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน แต่ที่สำคัญ กลไกและการอนุมัติจะอยู่ภายใต้บทบาทนำของกลุ่มประเทศบวกสาม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดทอนแรงจูงใจของประเทศอาเซียนที่ต้องการความช่วยเหลือที่จะใช้ประโยชน์โครงการความร่วมมืออาเซียนบวกสามที่มีอยู่

ดังนั้นถึงแม้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสามจะประกาศเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็นสองเท่าตามที่เป็นข่าวไปเร็วๆ นี้ แต่ถ้ากลไกที่มีอยู่ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนใช้ประโยชน์โครงการดังกล่าวในยามจำเป็น ตัวเลขที่ประกาศ ถึงแม้จะมีมากกว่าเดิม ก็คงจะเป็นเพียงเสือกระดาษ ที่อาจไม่มีใครใช้ประโยชน์ ซึ่งก็หมายความว่า โดยพฤตินัย ประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ก็ยังไม่มีกลไกความร่วมมือทางการเงินในระดับภูมิภาคที่จะมีแรงจูงใจดีพอที่จะใช้พึ่งพาได้ในยามจำเป็น

จากข้อจำกัดดังกล่าว ประเทศในอาเซียนอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วความร่วมมือทางการเงินที่ประเทศอาเซียนต้องการระหว่างกันคืออะไร คำตอบอาจจะอยู่ที่การปัดฝุ่นโครงการความร่วมมือทางการเงินเฉพาะของอาเซียนที่มีอยู่เดิม คือ อาเซียนสวอป ให้เป็นโครงการ สำรอง ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น และทันเวลาขึ้นในยามที่ต้องการ โดยไม่ติดเงื่อนไขที่ต้องพ่วงกับการกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟ (ซึ่งในทางการเมืองแล้ว ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนจะกล้าทำ) และหลีกเลี่ยงบทบาทชี้นำของประเทศใหญ่ในเอเชีย ในกลไกอนุมัติเบิกจ่าย ที่สำคัญ ปัจจุบันฐานะทางการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียนสิบประเทศดีพอ ที่จะยกระดับโครงการความช่วยเหลือที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดใหญ่พอที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศอาเซียน (ที่ไม่ใหญ่มาก) ในยามคับขันได้พร้อมกันอย่างน้อยสองประเทศ

ก็อยากจะฝากแนวคิดนี้ไว้ให้ทางการไทยพิจารณา


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาเซียน ควรร่วมมือกันอย่างไร ด้านการเงิน

view