สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประธาน ก.ล.ต. ซีทีเอ็กซ์ และกฎจำง่ายในการจัดการเงิน

ประธาน ก.ล.ต. ซีทีเอ็กซ์ และกฎจำง่ายในการจัดการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ต้นเดือนเมษายน 2555 ผู้เขียนอ่านข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุดระหว่างปี 2550-2552
เป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ แล้วก็รู้สึกเซ็งตามระเบียบ
 

คนจำนวนมากมองว่าสำนักงานอัยการสูงสุดสมัยชัยเกษม “ทำถูกแล้ว” ที่แทบไม่เคยนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไปฟ้องศาล เนื่องจากมองว่า คตส. ขาดความชอบธรรมเพราะถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่หลายคนหลงลืมไปว่าคดีเหล่านั้นใช่ว่าไม่มีมูล และตัวชัยเกษมเองก็ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหนึ่ง นั่นคือ คดีทุจริตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดของสนามบินสุวรรณภูมิ (ซีทีเอ็กซ์) ในฐานะอดีตกรรมการบริหาร บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
 

จุดที่น่าสนใจที่สุดของคดีซีทีเอ็กซ์ คือ เป็นคดีที่ฝ่าย “ผู้ให้สินบน” คือ บริษัทอินวิชั่น (InVision) สัญชาติอเมริกัน ยอมจ่ายค่าปรับกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ ในคดีที่ถูก ก.ล.ต. อเมริกัน ฟ้อง และจ่ายค่ายอมความอีก 800,000 ดอลลาร์ ในอีกคดีที่ถูกกระทรวงยุติธรรมอเมริกันฟ้อง ในปี 2005
 

อินวิชั่น กระทำผิด “กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชันในต่างแดน” (Foreign Corrupt Practices Act : FCPA) ของอเมริกา ซึ่งอาจเป็นกฎหมายอเมริกันที่ยังประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย เพราะช่วยเปิดโปงกรณีคอร์รัปชันขนาดใหญ่ ที่กระบวนการยุติธรรมไทยดูจะจับไม่ได้และไล่ไม่ทัน
 

เวลาผ่านไปกว่า 7 ปี ฝั่ง “ผู้ให้สินบน” จ่ายค่าปรับไปแล้วล้านกว่าดอลลาร์ แต่ฝั่ง “ผู้รับสินบน” ในประเทศไทยยังลอยนวล มิหนำซ้ำหนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งเคยเป็นกรรมการบริหารของบริษัทที่สั่งซื้อซีทีเอ็กซ์ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน
 

แบบนี้จะไม่ให้รู้สึกเซ็งได้อย่างไร
 

ผู้เขียนไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่คอร์รัปชันทำนองนี้มักไม่ใช่ตะเข็บ ใหญ่ขนาดโครงกระดูกในตู้มากกว่า สมควรถูกลากออกมาชำระสะสางทุกวิถีทางที่ทำได้
 

อยากชวนทุกท่านมารู้ทันตลาดทุนต่อ แต่เมื่อเซ็งจากข่าวประธาน ก.ล.ต. ก็เรียบเรียงต่อไม่ได้ บ่นได้อย่างเดียว ฉะนั้นขอเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงเรื่องใกล้ตัวบ้าง ก่อนจะสลัดความเซ็งไปรู้ทันรอบใหม่


ตั้งแต่เริ่มใช้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับเป็นครั้งคราว คือ มีหลักในการจัดการการเงินส่วนตัวอย่างไร
 

คนถามหลายคนคงคิดว่าทุกคนที่เรียนจบด้านการเงินจะต้องรู้เรื่องและถ่ายทอดหลักการเงินส่วนบุคคลได้ทุกคน แต่ในความเป็นจริงนักการเงินมีหลายแบบหลายแนว นักการเงินแบบผู้เขียนเคยให้แต่คำปรึกษาลูกค้าบริษัท ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการเงินส่วนบุคคล รู้เรื่องนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับกูรูตัวจริงอย่างคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ญาติน้ำหมึกใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็มีกฎประจำตัวบางข้อที่ใช้ในการจัดการเงินกับเขาบ้างเหมือนกัน แม้จะไม่ละเอียดลออลึกซึ้ง แต่ก็อาจเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
 

1. กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม (หรือถอนเงินฝากจากธนาคาร) อย่างมีวินัย คือ ถอนวันเดียวกันและในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน ทุกสองสัปดาห์ หรือทุกสัปดาห์ ตาม “งบรายจ่าย” ที่ตั้งให้ตัวเอง เช่น “จะกดเงินห้าพันบาททุกวันศุกร์ที่สองของเดือน” ประโยชน์ของการทำแบบนี้ คือ วันไหนเงินหมดกระเป๋าก่อนกำหนดกดเงินรอบใหม่ เราจะได้รู้ตัวว่าใช้เงินเกินงบไปแล้ว รอบต่อไปต้องบังคับให้ตัวเองใช้เงินน้อยลง (แต่ถ้าใช้เงินต่ำกว่างบก็ควรให้รางวัลตัวเองบ้าง)
 

ปกติคนเราไม่ชอบจดบันทึกรายรับรายจ่าย โดยเฉพาะเงินสดที่ใช้จ่ายประจำวัน เพราะรู้สึกว่ายุ่งยากเสียเวลา หรือคิดว่ามันเป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ กฎง่ายๆ ข้อนี้จึงน่าจะช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการใช้เงินของเราให้มีวินัยกว่าเดิมได้
 

2. เวลาขายหุ้น ทอง หรือการลงทุนความเสี่ยงสูงอื่นใดก็ตาม ควรแบ่งกำไรส่วนหนึ่งไปฝากธนาคารหรือลงทุนความเสี่ยงต่ำ เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนตลาดเงิน (money market fund) ก่อนที่จะไปลงทุนรอบใหม่ ไม่ใช่เอากำไรทั้งก้อนไปลงด้วย
 

กฎข้อนี้ผู้เขียนได้มาจากมารดาผู้เป็นนักการเงินอาชีพ เหตุผลง่ายๆ คือ การลงทุนความเสี่ยงสูงอย่างเช่นหุ้นหรือทองคำนั้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงก็จริง แต่ความที่มัน “เสี่ยงสูง” ย่อมแปลว่า มีโอกาสที่มันจะทำให้เราขาดทุนจนสูญเงินต้นไปหมดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การแบ่งกำไรส่วนหนึ่งไปลงทุนความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นฝากธนาคาร จึงเป็นวิธี “เก็บกำไร” เอาไว้ไม่ให้หาย
 

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราซื้อหุ้น 50,000 บาท ต่อมาขายได้ในราคา 60,000 บาท ถ้าเราเอาทั้งก้อน คือ 60,000 บาท ไปซื้อหุ้นตัวเดิมอีก แล้วต่อมาหุ้นตัวนั้นดิ่งเหว (เพราะบริษัทขาดทุน หรือเพราะปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่นเกิดเหตุก่อการร้าย) เราก็จะติดยอดดอยทั้งทุนตั้งต้นและกำไรบนกระดาษ แต่ถ้าก่อนหน้านี้เราเอาส่วนกำไร 10,000 บาท ไปฝากธนาคาร เราก็จะเก็บกำไรส่วนนี้ไว้ได้จริงๆ ไม่ต้องเสี่ยงว่ามันจะอันตรธานหายไปในการลงทุนรอบใหม่
 

3. ไม่ควรคิดเรื่อง “การลงทุน” จนกว่าจะมีวินัยใน “การออม” เพราะถ้าเก็บเงินไม่เป็น ถึงจะได้กำไรจากการลงทุนมาเท่าไร ลงท้ายก็จะเก็บกำไรไว้กับตัวไม่ได้อยู่ดี
 

ข้อนี้ไม่เชิงเป็นกฎ เป็นหลักคิดง่ายๆ ที่ผู้เขียนคิดว่าทุกคนควรสำเหนียก แต่มักจะถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
 

4. วิธีสร้างวินัยในการออมวิธีหนึ่ง คือ โอนรายได้ส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมทันทีที่ได้รับ ไม่แตะบัญชีนี้อีกเลย ใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เหลือเท่านั้น
 

คนส่วนใหญ่มีเงินเมื่อไรก็ใช้ทันที ปลายเดือนเหลือเท่าไรจึงจะออม แต่ในเมื่อเงินเป็นสิ่งที่หายากเสียง่าย จึงยากมากที่จะเหลือเงินเก็บ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่มาก ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าคือ ตั้งเป้าตั้งแต่ต้นว่าเดือนหนึ่งๆ จะออมเงินเท่าไร (ซึ่งก็ไม่ควรหลอกตัวเองด้วยการตั้งเป้าต่ำมาก เช่น 2%) แล้วไปเปิดบัญชีเงินฝากต่างหากอีกบัญชีหนึ่ง เป็นบัญชีเงินออมส่วนตัว ทุกครั้งที่มีรายได้ก็โอนเงินตามเป้าที่ตั้งไว้เข้าบัญชีเงินออมก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสะสมเงินออมได้แน่ๆ (ถ้าจะให้ชัวร์กว่านั้นก็ไปตั้งโอนอัตโนมัติไว้เลย หลายธนาคารมีบริการนี้แล้ว)
 

กฎการจัดการเงินของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามฐานะ รสนิยม วิถีชีวิต และระดับความเสี่ยงที่รับได้ แต่กฎที่ใช้การได้ล้วนแต่ต้องเดินทางสายกลาง นั่นคือ เผื่อพื้นที่ให้หายใจ ไม่ใช่เคร่งครัดจนความดันขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องช่วยให้เรา “มีสติ” ในการใช้เงิน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประธาน ก.ล.ต. ซีทีเอ็กซ์ กฎจำง่าย การจัดการเงิน

view