สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัดฝุ่น มาตรฐานทองคำ สกัดมะกันพิมพ์แบงก์ไร้สติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ลภัสรดา ภูศรี


นับแต่วิกฤตการเงินในสหรัฐเมื่อปลายปี 2551 ที่ชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินและสภาพเศรษฐกิจ อ่อนแอเข้าขั้นโคม่าครั้งรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องงัดไม้เด็ดออกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่าง จ้าละหวั่น

ไม่ว่าจะเป็นการหั่นดอกเบี้ยลงเหลือ 0% ไปจนถึงการเดินหน้าพิมพ์ธนบัตรอัดเงินเข้าสู่ระบบ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ มาตรการการเงินแบบผ่อนปรนเชิงนโยบาย (คิวอี) ถึง 2 ครั้งเมื่อปี 2551 และเมื่อปี 2553 รวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

กระนั้นถึงเฟดจะเร่งปั๊มธนบัตรออกมามากเพียงใด ปริมาณเงินที่ปล่อยออกมาถูกนำไปใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าที่จะถูกนำไป กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณเงินดังกล่าวได้ไหลเข้าสู่ระบบการเงินของสหรัฐเป็นจำนวนมหาศาล จนส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง และเป็นแรงกดดันให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงหนักกลายเป็นปัญหาที่กระทบทั้ง สหรัฐ และทั่วโลก ดังเมื่อช่วงการใช้นโยบายคิวอี 2 ระหว่างเดือน พ.ย. 2553-มิ.ย. 2554

นักลงทุนแห่เบนเข็มไปลงทุน หรือถือครองสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีความปลอดภัย และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำ และน้ำมันดิบ

การปั๊มธนบัตรเองของสหรัฐเพื่อกระตุ้นระบบการเงินและเศรษฐกิจในช่วงที่ ผ่านมานอกเหนือจากจะไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาวแล้ว ยังเป็นตัวการที่เพิ่มปัญหาทางการเงินให้รัฐบาลสหรัฐได้ปวดหัวกันอีกหลาย ระลอกกันอีกด้วย

นั่นเป็นเพราะสหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐกลายเป็นเงินสกุลสากลที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางของโลก จึงทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่จำเป็นต้องยึดเอาทุนสำรอง ระหว่างประเทศ หรือทองคำ มาเป็นหลักประกันเพื่อพิมพ์ธนบัตรอีกต่อไป

 

โดยสหรัฐจะปล่อยให้เงินเหรียญสหรัฐเป็นสื่อกลางในการค้าขาย ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงตามกลไกอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก

ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกลางสหรัฐจึงสามารถพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบได้อย่างไม่จำกัด และเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐสามารถถลุงงบประมาณอย่างไม่จำกัดเช่นกัน

ดังที่เห็นได้จากยอดขาดดุลงบประมาณเมื่อเดือน ก.พ. สูงถึง 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นการขาดดุลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะทำสถิติทะลุระดับ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว หรือคิดเป็น 100% ของจีดีพีทีเดียว

ปัญหาทางการเงินต่างๆ นานา อันเป็นผลกระทบมาจากการปั๊มเงินตามอำเภอใจของสหรัฐ ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์และนักการเมืองหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รอน พอล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐเทกซัส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐ และจิม แกรนท์ บรรณาธิการนิตยสารแกรนท์ อิสเทอร์เรสเรท ออฟเซิร์ฟเวอร์ เริ่มหันกลับมามองหนทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการกลับมาใช้ “ระบบมาตรฐานทองคำ” (Gold Standard) หรือมาตรฐานการผูกมูลค่าเงินเหรียญสหรัฐกับราคาทองคำ ซึ่งจะเป็นตัวกำจัดความสามารถในการพิมพ์ธนบัตรของประเทศนั้นๆ ซึ่งสหรัฐยกเลิกการใช้ระบบดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 1971

เอียน แมคแอวิตี บรรณาธิการประจำจดหมายข่าวเดลิเบอเรชันส์ ออน เวิลด์ มาร์เก็ต กล่าวว่า ข้อดีของการใช้มาตราทองคำนั้น จะช่วยสร้างระเบียบวินัยด้านการเงินของรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จนล้นตลาด และก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ตามมา

อย่างไรก็ตาม การกลับมาใช้มาตราทองคำนั้น ไม่ได้สวยหรูและง่ายดายอย่างที่คิด เพราะข้อเสียที่เด่นชัดที่สุดของการกลับมาใช้มาตราทองคำในปัจจุบัน คือ บนโลกนี้ไม่มีปริมาณทองคำเพียงพอที่จะรองรับขนาดเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่พองตัวขึ้นมากกว่า 30 กว่าปีก่อนมาก

ดังที่เห็นได้จากปริมาณทองคำที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และโรงกษาปณ์สหรัฐถืออยู่ในมือนั้นมีอยู่เพียง 248 ล้านออนซ์ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 4.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่มีตัว เลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปัจจุบันซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้

และถึงแม้ว่าสหรัฐจะโกยเอาทองคำทั้งหมดบนโลกนี้ที่มีอยู่ราว 1.7 แสนตัน หรือ 6,050 ล้านออนซ์ มาเป็นของตัว ปริมาณทองคำทั้งหมดนั้นก็มีมูลค่าตีเป็นเงินได้ราว 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรองรับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างแน่นอน

แฟรงก์ โฮมส์ ประธานบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ยูเอส โกลบอล กล่าวว่า มาตราทองคำเป็นระบบการเงินที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงอีกต่อไป ย้อนกลับไปเมื่อปี 1933 ขณะนั้นมีประชากรบนโลก 2,000 ล้านคนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเรามีประชากรมากถึง 7,000 ล้านคน

ยิ่งไปกว่านั้น การกลับมาใช้มาตราทองคำของสหรัฐอีกครั้งอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาการปั๊มเงินสู่ ระบบมากเกินไปของสหรัฐได้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงการควบคุมราคาทองคำเพื่อ เอื้อประโยชน์ต่อการพิมพ์ธนบัตรอยู่ดี

แมคแอวิตี ยังมองว่า สหรัฐอาจกลับมาใช้ระบบเงินตราแบบสองระบบ หรือการใช้เงินเหรียญสหรัฐและทองคำเป็นเงินตราที่เป็นที่ยอมรับ ที่เปิดทางให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เงินตราได้ทั้งสองแบบแทน ซึ่งเคยถูกทดลองใช้ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 18611865 แต่ต้องถูกยกเลิกไป หลังฝ่ายสหภาพ ซึ่งชนะสงคราม ให้การสนับสนุนการใช้เงินเหรียญสหรัฐอย่างเดียว เพื่อแก้ปัญหาการพิมพ์ธนบัตรจนล้นตลาดได้

สุดท้าย แลนซ์ โรเบิร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เว็บไซต์สตรีตทอล์ก แอดไวเซอร์ มองว่า ไม่ว่าสหรัฐจะประกาศใช้มาตรฐานทางการเงินแบบใด ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างมาตรฐานที่เชื่อถือได้ขึ้นมา

ระบบที่แท้จริงที่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงให้ระบบปั่นป่วนได้เหมือนในปัจจุบัน!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัดฝุ่น มาตรฐานทองคำ สกัดมะกัน พิมพ์แบงก์ไร้สติ

view