สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ ถึงไม่เดินหน้าแต่มีคำถามให้ช่วยกันคิด (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต.

คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงเบื้องหลังที่เป็นประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าเกี่ยวข้องกับคำถามเชิงนโยบาย 3 เรื่อง คือ (1) ยังจำเป็นต้องรักษาสถานะการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์ไว้ต่อไปหรือไม่ หรือควรเปิดให้มีคู่แข่งได้   (2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ควรจะให้ผูกขาดอยู่ในวงของบริษัทหลักทรัพย์ในไทยเท่านั้นหรือไม่  และ (3) โครงสร้างอำนาจการตัดสินใจเพื่อบริหารกิจการของตลาดหลักทรัพย์ที่เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร  และได้เล่าแนวคิดหลักเกี่ยวกับคำถามข้อที่หนึ่ง และสอง ไปแล้ว 

คลิกอ่าน
แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ ถึงไม่เดินหน้าแต่มีคำถามให้ช่วยกันคิด (1)


ครั้งนี้จะเล่าถึงคำถามข้อที่สามต่อ

มีผู้เห็นว่าโครงสร้างปัจจุบันของตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลเฉพาะตามกฎหมาย และไม่แสวงหากำไรนั้นดีอยู่แล้ว และโครงสร้างของคณะกรรมการตลาดที่ครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกเป็นผู้เลือก และอีกครึ่งหนึ่งมาจาก ก.ล.ต. แต่งตั้งนั้น ก็มีความสมดุลดีแล้ว  หากแปรสภาพเป็นบริษัทที่แสวงหากำไรแล้ว ก็อาจขึ้นราคาจนทำให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน  นอกจากนี้ ยังห่วงว่าตลาดไทยยังมีขนาดเล็ก อาจถูกครอบงำกิจการได้ง่ายจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ในประเด็นนี้ ก.ล.ต. เห็นว่า ในเมื่อตลาดหลักทรัพย์. อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอด เวลา การมีรูปแบบการบริหารจัดการทางธุรกิจที่คล่องตัว และพร้อมจะแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโครง สร้างปัจจุบัน ที่มีบอร์ดครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทสมาชิกที่อาจจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสมาชิก ด้วยกันเองก่อนและอีกครึ่งหนึ่งที่มาจากทางการซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยว ชาญในธุรกิจนี้โดยตรง

สำหรับข้อกังวลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกครอบงำจนไม่ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทั่วถึง หรือปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างหน้าที่ในการกำกับดูแลสมาชิกกับวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ นั้น  ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ป้องกันไว้แล้วโดยการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลใดๆในตลาดหลักทรัพย์ไว้เพียงไม่เกิน 5% เท่านั้นและยังจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไว้ด้วย  นอกจากนี้ หากในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ต้องการที่จะนำหุ้นของตนไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาด ก็ต้องให้ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อความโปร่งใส

ส่วนข้อกังวลที่ว่าตลาดหลักทรัพย์จะมุ่งแต่แสวงหากำไรจนผู้ร่วมตลาดเดือดร้อนนั้น หากธุรกิจมีการแข่งขัน ไม่ผูกขาด  กรณีดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยาก

นอกจากนี้ ประเด็นที่ห่วงกันว่าฝ่ายที่คิดจะแปรสภาพตลาดเพราะต้องการนำทรัพย์สินที่มีอยู่จำนวนมากมาแบ่งกันนั้น ก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะร่างกฎหมายกำหนดว่า ถ้ามีการแปรสภาพตลาดแล้ว จะมีกองทุนพัฒนาตลาดทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  โดยมีคณะกรรมการที่มาจากทั้งภาคเอกชนและทางการ  มีหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ บุคลากร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อตลาดทุน เพื่อให้แน่ใจว่างานพัฒนาที่สำคัญๆ จะยังเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในตลาดอื่นที่มีการแปรสภาพแล้วก็มีการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น ในมาเลเซียและสิงคโปร์

การตัดสินใจไม่แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์และถอน ร่างกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐมนตรี ถือว่าจบไปแล้ว บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะรื้อฟื้นให้มีการตัดสินใจใหม่ในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจก็คงทำไปด้วยเจตนาที่ดี บทความนี้เพียงต้องการบันทึกเหตุผลและแนวคิดในเชิงนโยบายที่แท้จริงที่อยู่ เบื้องหลังการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์แก่ผู้ ที่สนใจจะศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป   


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ ไม่เดินหน้า คำถามให้ช่วยกันคิด

view