“สุเมธ” ชี้ไทยลอกต่างชาติทำการเมืองล้ม แนะเคารพภูมิสังคม แก้ รธน.เดินสายกลาง
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เลขาฯ มูลนิธิชัยพัฒนา บรรยาย พตส. ชี้ไทยไม่เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ปี 12 ลอกต่างชาติจนกลายพันธุ์ ทำการเมืองล้ม งงสยามทำเหมือนหิวโหยประชาธิปไตย เผยในหลวงทรงเคยรับสั่งให้เคารพภูมิสังคม แนะ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญเดินทางสายกลาง ชี้ถ้าทำเพื่อประโยชน์บางอย่างพังแน่ ชี้ยิ่งหลายมาตรายิ่งไม่มีใครปฏิบัติ แขวะนักวิชาการรู้แต่ตำราฝรั่งแต่ไม่รู้ชาติพันธุ์ตน
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การอบรมนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายตอนหนึ่งในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ว่า หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ได้แม้กระทั่งกับการเมือง กระบวนการพัฒนาประเทศของเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ 2512 จนปัจจุบันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเราชอบที่จะไปลอกประเทศนั้นประเทศนี้ ผสมจนกลายเป็นพันทาง ไปหมด อันไหนเข้ากับสังคมก็ดีไป แต่ถ้าไม่เข้าก็ล้มหลายที เศรษฐกิจเราก็ล้มมาหลายครั้ง สังคมก็ล้ม การปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผล อย่างที่เห็นว่าขนาดในคุกยังมีปัญหายาเสพติด ส่วนการเมืองของประเทศเราก็ยังล้ม และจะล้มลุกคุกคลานไปอีกเรื่อยๆ
ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะเราไม่เคยรู้เรื่อง หรือกำหนดอะไรให้สอดคล้องกับสภาพของเท็จจริงของเราเองเลย แต่ไปติดกับคำว่าต้องสากล เรากลัวคำนี้มาก หลายประเทศที่มีระบบต่างๆ เขาผ่านอะไรมาเยอะ อย่างสหรัฐอเมริกา เลือกตั้งครั้งหนึ่งใช้เวลาเป็นปีๆ แล้วถ้ามาดูว่าคนอเมริกันคือใคร ก็พบว่าหลายพ่อพันธุ์แม่ มีแต่สัญชาติอเมริกัน เชื้อชาติอะไรไม่รู้ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน พอมาถึงก็ตั้งรกรากกัน คนพื้นที่ดั้งเดิมก็ถูกต้อนไปหมด ปล้นแผ่นดินเขามา แล้วรบราฆ่าฟันกันเอง แต่วันหนึ่งต้องปรองดองกัน ก็ต้องแบ่งอำนาจซอยกันไป เขาผ่านมาแบบนี้ระบบการปกครองแบบสหรัฐฯ จึงเหมาะกับเขา หรืออย่างอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญก็อยู่มาได้เป็นร้อยปี สวิตเซอร์แลนด์หน้าหนาวก็อยู่ในบ้านกันหมด ผู้หญิงก็ชอบอยู่บ้านทำเนย รีดนม แต่ก็เหมือนถูกยัดเยียดประชาธิปไตย ให้ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่กลับประเทศไทยเหมือนหิวโหยประชาธิปไตย
“ปี 2524 ถูกคัดเลือกให้เข้าถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำได้แม่นถึงรับสั่งของพระองค์ท่านที่บอกว่า ระวังนะทำงานกับฉันนั้น จะไปทำงาน วางโครงการที่ไหน ให้เคารพคำว่า ภูมิสังคม คือให้เคารพดิน น้ำ ลม ไฟ ในขั้นต้น เพราะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ภาคเหนือมีภูเขา ภาคอีสานมีภูเขาแต่เป็นที่ราบสูง ภาคกลางเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคใต้เจอดินพรุ ภูมิประเทศของไทยเองไม่เหมือนกันเลย ฉะนั้นต้องเคารพ แล้วอีกคำหนึ่งคือ สังคม ก็คือคน คนมีค่านิยมไม่เหมือนกันแต่ละภาค ฉะนั้น สังคม เศรษฐกิจ การเมืองต้องดีไซน์ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม ที่ทุกรัฐบาลวางโครงการแล้วล้มเหลว เพราะตั้งโครงการหนึ่งใช้ทั่วประเทศ ไม่คำนึงถึงภูมิสังคม ได้ผลกับบางทีแต่อาจจะไม่ได้ผลกับบางที่ก็ได้” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธกล่าวด้วยว่า รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่พื้นฐานจะมีความเหมือน ไม่ว่าอยู่ที่อังกฤษ สวิส อเมริกา จะมีหลักการของประชาธิปไตยเหมือนกัน คือประชาธิปไตยเกิดจากประชาชน เกิดจากการควบคุมของประชาชน เสียงประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด มีสิทธิเสรีภาพ หลักเท่านั้นที่เหมือนกัน แต่วิธีการเดินเข้าไปหาหลัก ต้องคำนึงถึงภูมิสังคม ไม่มีรูปแบบใดเยี่ยมยอดที่สุด ถ้าใครคิดอย่างนั้นก็บ้า
ส่วนการใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับประชาธิปไตยนั้นเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางสายกลาง ซึ่งถ้าเอามาใช้กับการเมืองก็คือ จะต้องอยู่บนความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป อย่างตอนนี้กรรมาธิการจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าเห็นดีและจะนำหลักนี้ไปใช้ ก็ต้องตะล่อมให้อยู่บนพื้นฐานนี้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ถ้าไปร่างเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง ประโยชน์อะไรบ้างอย่างมันก็พัง แต่ถ้าต้องการให้มีความจีรัง มันต้องร่างอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ประเทศชาติ และมีความพอดีคือไม่ล้น อะไรที่สุดกู่อยู่ไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องมีความเหมาะสมกับวิถีชีวิต มีมาตรฐานเดียว ดับเบิลสแตนดาร์ดไม่ได้ ซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่จะต้องอยู่ภายใต้หน้าที่รับผิดชอบ วินัยสังคม มีสิทธิเสรีภาพ เท่าเทียมกัน
นายสุเมธยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีคนเกี่ยวข้องและใส่ใจการเมืองแค่ 20 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือคนไม่สนใจ แต่แค่ 20-30 ล้านคน การดีไซน์รูปแบบให้ยอมรับกันได้มันก็ไม่ง่าย จึงเห็นว่าจำเป็นต้องหาของกลางๆ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้กระบวนการทางการเมืองต้องพิจารณาควบคู่สอดคล้องไป กับระดับการพัฒนาประเทศ หากการพัฒนาไม่ราบรื่น สภาพประชาธิปไตยก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งประชาธิปไตยจะดีไม่ดีอยู่ที่ระดับการศึกษาและความเข้าใจของคนด้วย รัฐธรรมนูญที่จะออกมาใหม่ ตนก็ว่ามันก็น่าจะพอๆ กับฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 300 กว่ามาตราเชื่อว่าสามัญชนไม่มีใครอ่านครบ เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์ฝรั่งเศสของตนที่เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญมากมาเมืองไทย เขาก็ถามว่าเรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือ ตนก็เอาไปให้อ่าน วันถัดมาอาจารย์มาบอกว่ารัฐธรรมนูญของเราสุดยอด เยี่ยมกว่ารัฐธรรมนูญฝรั่งเศสอีก ฝรั่งเศสยังไม่กล้าเขียนอย่างนี้เลย กันไปหมด แล้วเขาก็ถามว่าคุณมั่นใจหรือว่าจะใช้มันได้ ตนก็บอกว่าไม่รู้
“แบบนี้ทำให้คิดว่า อย่างนี้พวกเราก็กลายเป็นหนูตะเภาอีกครั้ง หลังจากที่เป็นหนูตะเภามาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง ก็มีที่ไหนจากในอดีตที่รัฐธรรมนูญมีแค่ 20 มาตรากลายมาเป็น 300 มาตราในวันนี้ แล้วยิ่งคราวนี้ถ้ายังเป็นร้อยๆ มาตรา บอกได้เลยว่ามันยังไม่พัฒนา ฉะนั้นมันต้องพอดี ไม่ใช่ยืดยาวไม่มีใครปฏิบัติ” นายสุเมธกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผมเน้นไม่ว่าไปบรรยายที่ไหน ได้รับทราบมาว่า ระบบการศึกษาสอนให้รู้จักเขา ไม่ค่อยสอนให้รู้จักเรา หลายคนเรียนถึงปริญญาเอก เอกสาร ตำราเป็นภาษาอังกฤษหมด มีไม่กี่เล่มที่เป็นภาษาไทย รู้เขาแต่ไม่รู้เรา รบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง บ้านเมืองเขารู้หมด แต่บ้านเมืองเราไม่รู้ ภูมิปัญญาเรามีอะไรบ้าง ไม่รู้แถมยังดูถูก ในหลวงเกิดต่างประเทศ เรียนต่างประเทศ แต่พอกลับมาแล้วคิดเป็นไทยไปหมด ต่างจากอาจารย์หลายคนที่เรียนฝรั่งคิดแบบฝรั่ง โดนล้างสมองไปหมดแล้ว ไม่เป็นตัวของตัวเอง คนไทยต้องรู้ทันฝรั่ง แต่ก็ต้องรู้ฐานของตัวเอง แต่นี่เราไม่รู้จักตัวเองเลย ไม่รู้จักเราเลย อย่างตอนที่เรามีจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ไปเอามาจากฝรั่งเศส ขอผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกมาช่วย และก็ถูกจูงจมูกตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่ใช่แค่สอนงาน แต่เอาวัฒนธรรมของฝรั่งมาใส่ไว้ด้วย ฝังแนวคิดว่าจะต้องรวยแล้วดี หวังรวยไม่ผิด แต่ต้องยั่งยืนด้วย สมัยหนึ่งเราอยากเป็นเสือตัวที่ 5 เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ล้มไม่เป็นท่า โตแบบฟองสบู่ ข้างในไม่มีอะไรเลย เราล้มก็เพราะความโลภ
สุเมธแนะแก้รธน.ยึดสายกลาง
จาก โพสต์ทูเดย์
“สุเมธ” แนะแก้รัฐธรรมนูญควรเดินตามสายกลางทางการเมือง ตั้งอยู่บนความพอดี ย้ำประเทศจะยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาการเมืองควบคู่ไปด้วย ชี้ควรพัฒนาประเทศตามแนวทางของในหลวง
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษหัวข้อ”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการเมือง แต่ตนเห็นว่าประเทศไทยเรานิยมยึดตามแนวคิดของต่างประเทศ เพราะตั้งแต่เริ่มชีวิตราชการมานั้นเห็นว่ากระบวนการพัฒนาประเทศไทยไม่ได้ เป็นตัวของตัวเองเลยซึ่งก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้หากพัฒนาประเทศที่เดินตามสไตล์ต่างประเทศก็จะทำให้ระบบกลายเป็น พันธุ์ผสม ไม่กลมกลืนและสอดคล้องกับโจทย์นั่นคือประเทศและประชาชน และสุดท้ายประเทศล้มเหลว ไม่ใช่ล้มตอนปีฟองสบู่แตก แต่ล้มมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ซึ่งสังคมกำลังเข้าสู่สภาวะที่น่าเป็นห่วง ยิ่งการเมืองไม่ต้องพูดถึงเพราะขนาดการประชุมสภาฯ ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่และจะต้องล้มลุกคลุกคลานอีก
เนื่องจากเราไม่เคยกำหนดอะไรที่สอดคล้องกับสภาพแท้จริงของประเทศเลย แม้หลายคนบอกว่าการพัฒนาต้องแบบสากล ซึ่งตนเห็นว่าเราจะแพ้คำนี้ตลอด ระบุกันเสมอว่ามาตรฐานเราต้องสากล คิดกันอยู่แต่แบบนี้ จนลืมข้อเท็จจริงไปข้อหนึ่งว่าอะไรที่เกิดขึ้นมันมีที่มาที่ไป ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่าทำไมถึงมีระบบการปกครองที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันเช่นนี้ เพราะประเทศอเมริกาฯ มีประชากรที่มาจากร้อยพ่อพันธุ์แม่ หลากหลายเชื้อชาติ เรียกว่าเป็นประเทศที่มีแต่สัญชาติ มาจากหลายถิ่นหลายฐาน แต่เมื่อถึงวันหนึ่งจะต้องปรองดองกัน ก็จะต้องดีไซน์ออกแบบให้ความเสมอภาคกลมกลืนเพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะฉะนั้นจึงมีการแบ่งซอยอำนาจจนยุ่งยากสับสน ซึ่งมันก็เหมาะสมเพราะประเทศอเมริกาเกิดมาแบบนั้น ส่วนประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น เพราะยึดหลักการปกครองตามประเพณี ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็มีการยัดเยียดอำนาจประชาธิปไตยแต่ก็ ไม่มีใครอยากได้ ต่างกับประเทศไทยที่หิวโหยประชาธิปไตย
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จึงมองว่าการกำหนดรูปแบบของแต่ละประเทศๆ ต้องดูที่มาที่ไปลักษณะความเป็นอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ปี พ.ศ. 2524 ตนได้ถูกรับเลือกเข้ามาอยู่ที่สภาพัฒนาการเมือง สิ่งที่ได้รับบังคับบัญชาและถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญ จากผู้บังคับบัญชา ที่ระบุว่าเมื่อมาทำงานกับฉัน จะไปวางโครงการที่ใด ต้องให้ความเคารพกับคำว่าภูมิสังคม นั่นคือภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดินน้ำลมไฟ ในเบื้องต้นก่อน ซึ่งทำไมต้องให้ความเคารพ เพราะเมื่อ ไปทำงานทางเหนือ มีภูเขา ภาคอีสาน มีที่ราบสูง ภาคกลาง มีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออู่ข้าวอู่น้ำ พอลงไปภาคใต้เจอดินพลุ ฉะนั้น คนทางเหนือคงไม่ตัดสินใจเหมือนคนทางใต้ อาจจะมีบ้างแต่ไม่เหมือนทุกอย่าง เนื่องจากค่านิยมไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นภูมิประเทศและภูมิสังคม ประชาชน จึงเป็นสองสิ่งที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองต้องออกแบบให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและภูมิประเทศ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แบบประมาณตน ทั้งนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลทุกรัฐบาลวางโครงการนโยบายแล้วล้มเหลว เพราะ ส่วนใหญ่คิดโครงการไม่ใช้หลักภูมิสังคม ภูมิประเทศ และใช่ว่าการออกนโยบายมาหนึ่งอย่างแล้วจะสอดคล้องกับทุกสังคมนั่นเอง
ดร.สุเมธ กล่าวว่า หลักการของประชาธิปไตย เป็นอำนาจของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร การปกครองต้องถือเสียงคนส่วนมากเป็นอำนาจสูงสุด ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ และยึดหลักความเสมอภาค ทั้งหมดนี้คือหลักเบื้องต้น ฉะนั้น ประเทศไทยอย่าไปคลั่งว่าจะต้องเอารูปแบบใดๆ ของประเทศอื่นๆ มาใช้ เพราะคิดเช่นนั้นก็บ้าแล้ว ปลายทางเหมือนกัน แต่วิธีการเดินไม่เหมือนกัน ควรอยู่บนพื้นฐานความพอดี ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญ หากตั้งวัตถุประสงค์เพื่ออะไรบางอย่างตั้งแต่แรกก็จะจบตั้งแต่แรก แต่หากให้สิ่งต่างๆจะบังเกิดขึ้นได้ยั่งยืนต้องมีความพอดี อะไรที่สุดกู่ก็จะ อยู่ไม่ได้ แม้จะปรารถนากับเรื่องนั้นก็ตาม เพราะฉะนั้นเส้นทางสายกลางของการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเกิดขึ้นได้ควรยึดหลักกติกากฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องตั้งอยู่บนความพอดี อย่าล้นจนเกินไป มีความเหมาะสมกับวิถีประชาชนไทย และมีมาตรฐานเดียวกันและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน
“เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ หากเปรียบดูธรรมชาติสร้างมนุษย์มาหลายล้านคนแต่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย น่ามหัศจรรย์ ยิ่งนัก แม้แต่ฝาแฝดหน้าตาก็ไม่เหมือนกัน เมื่อแม่พิมพ์ไม่เหมือนกันข้างในจะเหมือนกันได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้คิดเหมือนกันได้ การเมืองก็เหมือนกัน ในประเทศไทยมีคนเกี่ยวข้องและใส่ใจการเมืองแค่คนยี่สิบล้านเท่านั้น ที่เหลืออีกสี่สิบล้านคนไม่สนใจหรอก แค่ยี่สิบสามสิบล้านการดีไซน์ให้ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้ กระบวนการทางการเมืองต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ ต้องสอดคล้อง หากการพัฒนาไม่ราบรื่นสภาพประชาธิปไตยก็จะเป็นเช่นเดียวกัน “เลขามูลนิธิชัยพัฒนา กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยจะดีหรือไม่ดีนั้นอยู่ที่ระดับการศึกษา เพราะมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามร้อยกว่ามาตรา ไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เนื่องจากมีจำนวน 300 มาตราเช่นเดียวกัน จึงมองว่า การศึกษาการอบรมไม่ได้ออกแบบให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ขันติธรรมทางการเมือง หลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อสาธารณชนและโปร่งใส การกระจายอำนาจ และประชาสังคมที่เข้มแข็ง ทั้งหมดนี้อยู่ในคุณสมบัติที่ดีของผู้นำที่ต้องซื่อสัตย์ สุจริตและเข้มแข็ง
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน