จากประชาชาติธุรกิจ
ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯชี้ว่า การรับประทานอาหารหวานมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อ"ความสามารถของสมอง"
นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) ได้ทำการศึกษาผลกระทบของน้ำตาลฟรุกโตส ที่ได้มาจากข้าวโพด ที่มีต่อการทำงานของสมอง โดยใช้หนูทดลองที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล และกลุ่มที่สองให้รับประทานน้ำตาลเช่นเดียวกับน้ำดื่มติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ กลุ่มหนึ่งได้รับอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสมองโดยให้สารโอเมกา 3 ในรูปแบบของน้ำมันจากเมล็ดป่านและกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือดีเอชเอ ขณะที่อีกกลุ่มจะไม่ได้รับสารดังกล่าว
โดยก่อนที่จะต้องดื่มไซรัป หนูกลุ่มหนึ่งจะถูกจับให้เข้าไปอยู่ในเขาวงกตที่ซับซ้อนเป็นเวลา 5 วัน โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองเป็นเวลา 6 สัปดาห์ หนูทั้งหมดจะถูกจับมาอยู่ในเขาวงกตอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบทักษะก่อนและหลัง
ผลการทดลองพบว่า หนูที่ไม่ได้รับดีเอ็นเอ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเขาวงกตช้ากว่าเดิม สมองของพวกมันแสดงสัญญาณที่ลดลงในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาท และการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ที่กระทบต่อความสามารถในการกระทำกิจกรรมในการคิด และการเดินไปตามเส้นทางในเขาวงกตของพวกมัน
เมื่อศึกษาอย่างละเอียด พบว่าสมองของหนูทดลองที่ไม่ได้รับดีเอ็นเอ ยังแสดงสัญญาณที่เริ่มพัฒนาของการต่อต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมการทำงานของสมอง ที่เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และความทรงจำ
ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไป อาจขัดขวางความสามารถในการควบคุมการทำงานและการเก็บกักน้ำตาลของเซลล์ ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการในการคิดและอารมณ์ ที่จะส่งผลรบกวนการจดจำและการเรียนรู้
ข้อมูลของกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯระบุว่า ชาวอเมริกันบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสจากไซรัปข้าวโพด เฉลี่ย 18 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่ผลการศึกษา ไม่ได้ชี้ว่าผลดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบเทียบในกรณีเดียวกันกับมนุษย์ได้ หรือไม่ นักวิจัยกล่าวว่า การทดลองก่อให้เกิดหลักฐานบางประการว่า กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหาร สามารถส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน