จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วรพงษ์ รามางกูร/นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ในระยะหลังนี้มีการกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่บ่อย ๆ ในการให้เหตุผลสนับสนุนนโยบายการเงินของทางการ แต่มีผู้คนหลายคนมาถามว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีผลทางเศรษฐกิจการเงินอย่างไร และจะทำอะไรกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงได้บ้าง
อัตราดอกเบี้ยที่แท้ จริง หรือตัวเลขอื่น ๆ ที่ต่อท้ายด้วยคำว่า "ที่แท้จริง" เข้าไป เช่น รายได้ประเทศชาติที่แท้จริง ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่แท้จริง หรืออัตราค่าจ้างงานที่แท้จริงก็ดี ก็ไม่ใช่อะไร เป็นการปรับตัวเลขต่าง ๆ ที่คิดออกมาตามราคาตลาด หรือในอัตราที่เป็นไปตามปัจจัยของราคาหรือตลาดในขณะนั้น ๆ
แต่เมื่อ จะนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างไตรมาสต่อไตรมาสหรือระหว่างปีต่อปี หรือระหว่าง 5 ปี หรือ 10 ปี คงจะมาเทียบกันไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาปรับด้วยดัชนีเงินเฟ้อ หรืออัตราเงินเฟ้อ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ข้าวของมีราคาสูงขึ้น เงินมีมูลค่าลดลง
ค่าแรงวันนี้ 300 บาทต่อวัน กับค่าแรง 250 บาทต่อวันเมื่อ 3 ปีก่อน จะเปรียบว่าอันไหนสูงกว่ากัน อัตราค่าแรงวันนี้สูงหรือต่ำกว่าค่าแรงเมื่อ 3 ปีก่อน คงจะตอบไม่ได้ ถ้าไม่ได้ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนวันนี้ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมการออมของชาติ ถ้าปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้ที่แท้จริง รสนิยมการบริโภค และอื่น ๆ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คงจะตอบไม่ได้ทันที เพราะราคาสินค้าไม่ได้คงที่ หรืออัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นศูนย์
ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนวันนี้อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่เงินเฟ้ออยู่ที่อัตรา 3.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็คือ 3-3.8 เท่ากับ -0.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี กล่าวคือผลตอบแทนที่แท้จริงต่อเงินฝากประจำ 3 เดือน ติดลบ 0.8 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปีที่แล้วอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว 1.5 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อสมมติว่าเท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของเงินฝากดังกล่าวจะเท่ากับ 1.5-1.0 เท่ากับ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือบวก 0.5 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าอัตราที่แท้จริงของปีนี้ถึงร้อยละ 1 อัตราการออมของปีที่แล้วน่าจะสูงกว่าปีนี้ แต่ความจริงอาจจะพบว่าไม่จริง เพราะการออมตามความเห็นของจอห์น เมนาร์ด เคนร์ การบริโภคขึ้นอยู่กับรายได้ที่แท้จริงมากกว่าดอกเบี้ย การออมคือส่วนของรายได้ที่เหลือจากการบริโภค ตามความเห็นของเคนร์จึงขึ้นอยู่กับรายได้ที่แท้จริงมากกว่า ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยตามที่ปรากฏโดยไม่ต้องปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ มีผลต่อพฤติกรรมการออมมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น การโฆษณาหรือสิ่งล่อใจให้บริโภคอื่น ๆ ที่ไม่คงที่
ในทรรศนะของเคนร์ และจากการพิสูจน์โดยตัวเลขของประเทศต่าง ๆ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงไม่สู้มีความหมายอะไรมากนักต่อพฤติกรรมการออมรวมระดับมหภาค
แล้วอัตราการออมที่แท้จริงติดลบเกิดขึ้นได้อย่างไรในภาวะ ปกติที่อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้สูงเกินไปอย่างผิดปกติ เช่น ไม่ได้สูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในยามที่อัตราการขยายตัวของรายได้สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการลงทุน ทั้งของรัฐบาลและของเอกชนรวมกัน
ถ้าในช่วงไหนการลงทุนซบเซา การลงทุนของภาคเอกชนมีน้อย ขณะเดียวกันการลงทุนของภาครัฐบาลก็มีไม่มากพอที่จะชดเชยการลดลงหรือไม่เพิ่ม ขึ้นของการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ปริมาณการออมสูงกว่าปริมาณการลงทุน และถ้าเป็นเช่นนั้นติดต่อกันนาน ๆ ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐบาลรับเงินฝากมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เงินกู้ไปลงทุนมีน้อยหรือไม่ค่อยเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจก็ไม่ออกพันธบัตรมากู้ยืมจากประชาชนผู้ออม ตามหลักอุปสงค์อุปทานของเงินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็อาจจะติดลบได้
เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ
ก็ ไม่ได้แปลว่าการออมจะต้องน้อยลง ถ้ารายได้ยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น อุปนิสัยหรือรสนิยมการบริโภคของผู้คนในสังคมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
อัตรา ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบจะหายไปกลายเป็นบวกก็ต่อเมื่อผู้คนบริโภคมากขึ้น เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็ได้ หรือไม่ก็อัตราการลงทุนมีสูงขึ้น ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล หรือรัฐบาลกู้ยืมจากประชาชนโดยการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินกู้นั้นไปลงทุน หรือไปใช้จ่ายในการให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งในสภาวะเช่นนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เสถียรภาพทางการเงินแต่ อย่างใด เพราะเป็นการเอาเงินออมมาใช้ลงทุน และใช้จ่ายในกิจการสาธารณะต่าง ๆ ไม่ใช่กู้ยืมจากต่างประเทศมาใช้จ่าย
หนี้สาธารณะที่กู้จากประชาชนใน ประเทศ ไม่อันตรายเหมือนกับการเป็นหนี้ต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ กล่าวคือหนี้เป็นเงินบาทจากการออมของประชาชน ไม่อันตรายเหมือนกับหนี้ที่เป็นดอลลาร์ โดยกู้มาจากต่างประเทศ เพราะเงินตราต่างประเทศจะได้มาก็จากการ
ส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่มาจากเงินออมของประเทศ
แต่ เมื่อเกิดสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบและไม่เข้าใจถึงสาเหตุและ พฤติกรรมการออมการบริโภคของผู้คนในระบบเศรษฐกิจ แล้วอยากให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องขึ้นไม่ติดลบ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของทางการในตลาดซื้อคืนของธนาคารกลาง ผลก็คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ก็จะเอาเงินไปฝากธนาคารกลางโดยเอาหลักทรัพย์ไปวางแล้ว ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเท่าเดิม เพราะเงินฝากยังล้นธนาคารอยู่
ถ้ายิ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นเท่าไร
ผู้ลงทุนก็จะหันไปกู้ดอลลาร์จากต่างประเทศมากกว่า เพราะผลต่างของดอกเบี้ยคุ้มกับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า เงินก็จะไหลเข้ามากขึ้น ค่าเงินท้องถิ่นก็จะสูงขึ้น ผู้ลงทุนก็จะกู้จากธนาคารท้องถิ่นน้อยลง เงินฝากก็ยิ่งล้นธนาคารมากขึ้น
ถ้าไม่อยากให้ค่าเงินท้องถิ่นสูงขึ้น ก็ต้องพิมพ์เงินออกมาซื้อดอลลาร์เก็บเข้าไปเป็นทุนสำรอง พอปริมาณเงินท้องถิ่นมีปริมาณมากขึ้น ก็ออกพันธบัตรออกมาดูดซับเงินท้องถิ่นกลับไปในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตรา ผลตอบแทนต่อเงินดอลลาร์ที่ตนถือไว้
ตกลงก็กลายเป็นว่าต้องมี สินทรัพย์ทางการเงินที่มีผลตอบแทนต่ำ โดยการสร้างหนี้สินในรูปที่มีดอกเบี้ยสูง สร้างการขาดทุนอย่างมาก ไม่คุ้มกับผลทางด้านปราบเงินเฟ้ออย่างที่ตั้งใจ เพราะเงินเฟ้อเป็นผลมาจากต่างประเทศ เช่น น้ำมันราคาแพงขึ้น ต้นทุนอย่างอื่นแพงขึ้น ซึ่งทำอะไรไม่ได้
ในยามปกติอัตรา ดอกเบี้ยที่แท้จริงหรืออัตราดอกเบี้ยธรรมดา ตามที่ชาวบ้านเข้าใจกันของเงินฝากสถาบันการเงินหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน มีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ นอกจากในยามที่มีอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในละตินอเมริกา ในระหว่างทศวรรษที่ 1960 ถึงทศวรรษ
ที่ 1970 หรือแม้แต่การสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจ เพราะไม่แสดงความสัมพันธ์การบริโภคและการออมมากนัก สู้ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยธรรมดาไม่ได้
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาวะ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เงินออมโดยส่วนรวมสูงกว่าการลงทุนโดยส่วน รวม หนทางที่จะรู้ก็มี 3 ทาง ทางแรกก็คือการวัดปริมาณเงินออมของครัวเรือน และการออมของภาครัฐโดยตรง การออมของรัฐบาลก็คือ มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายในงบฯประจำ แล้วก็วัดปริมาณการลงทุนของภาคเอกชน ภาคครัวเรือน และภาครัฐบาล วิธีที่สองก็คือ เอารายได้ประชาชาติรวมหักด้วยรายจ่ายเพื่อบริโภครวมของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล โดยคำจำกัดความว่า การออมคือรายได้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายเพื่อการบริโภค
วิธีที่สามก็คือ ดูจากดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดจะเท่ากับเงินออมหักด้วยเงินลงทุนรวม ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 100 ล้านดอลลาร์ ก็เท่ากับเงินออมมีน้อยกว่าเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 50 ล้านดอลลาร์ ก็เท่ากับเงินออมสูงกว่าเงินลงทุนรวม 50 ล้านดอลลาร์
ในประเทศที่ดุล บัญชีเดินสะพัดเกินดุลติดต่อกันนาน ๆ และทางการมีนโยบายให้ดอกเบี้ยสูง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศนั้นจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ที่ญี่ปุ่นเคยมีช่วงหนึ่งผู้ฝากเงินธนาคารแทนที่จะได้ดอกเบี้ยต้องเสียเงิน ค่าฝากเงินเสียอีก คือดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ดอกเบี้ยที่แท้จริงยิ่งติดลบใหญ่ เมื่อหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ
การเอาดอกเบี้ยมาใช้อ้างอิงสำหรับนโยบายการเงินจึงไม่ค่อยจะมีประโยชน์ และทางการก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากเร่งการลงทุนภาครัฐบาลให้มากจนการลงทุนสูงกว่าการออม อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็จะหายติดลบไปเอง
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน