จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ
nantiyaw@posttoday.com
แม้นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี จะเคยส่งสัญญาณความเป็นไปได้ว่าอาจจะประนีประนอมให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบ คู่ไปกับมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อให้กรีซอยู่รอดต่อไปได้ และแม้ทุกฝ่ายจะทราบดีว่าไม่อาจปล่อยให้กรีซออกจากยูโรโซน เพราะจะสร้างหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามมา ทว่าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป เมื่อวันที่ 23 พ.ค. กลับต้องจบลงโดยที่ไม่สามารถบรรลุแผนแก้ปัญหาใดๆ
ในเชิงหลักการนั้น เยอรมนีอาจเห็นด้วยว่ากรีซอาจจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ทว่าการจะหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแผนการออก “พันธบัตรยูโร” หรือ ยูโรบอนด์ ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศสนั้น เป็นสิ่งที่เยอรมนีไม่อาจยอมรับได้
เพราะยูโรบอนด์ คือหนทางช่วยเหลือทุกประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ยกเว้นเยอรมนีเพียงชาติเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักความได้เปรียบเสียเปรียบแล้ว งานนี้เยอรมนีรู้ดีเต็มอกว่าได้ไม่คุ้มเสีย
การระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรยูโรบอนด์นั้น กำลังเป็นที่จับตาไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นวิธีในการหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศในยุโรปยอมรับ และพยายามผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปที่ เพิ่งผ่านมา โดยมีบรรดาประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจซบเซา งบประมาณขาดดุลพุ่งสูง และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพอกคอหอยอย่างหนัก อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ให้การสนับสนุน
พันธบัตรยูโรมีการระดมทุนคล้ายกับการออกพันธบัตรทั่วไปของแต่ละประเทศ ทว่าแตกต่างตรงที่ทั้ง 17 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน จะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกันทั้งหมด โดยแบ่งตามสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินที่ได้ไปจากการประมูลยูโรบอนด์
วิธีนี้มีข้อดีด้วยกันหลายประการ ประการแรกนั้น จะช่วยไม่ให้ประเทศในยูโรโซนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจถูกโจมตีจากการเก็งกำไร นักลงทุนจะไม่สามารถทิ้งหรือปฏิเสธไม่เข้าซื้อพันธบัตรของประเทศใดประเทศ หนึ่งที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ อาทิ สเปน และอิตาลี ซึ่งปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยพันธบัตรที่พุ่งสูงตามความเสี่ยง และทำให้นักลงทุนหันไปซื้อพันธบัตรความเสี่ยงต่ำในเยอรมนี สหรัฐ และญี่ปุ่นแทน
ประการที่ 2 นั้น พันธบัตรยูโรจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมให้ถูกลง เพราะเมื่อนำเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปมารวมอยู่ด้วย เครดิตความน่าเชื่อถือของเยอรมนีจะช่วยคานความเสี่ยงของพันธบัตรยูโรให้ลดลง โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 10 ปีของเยอรมนี อยู่ที่ 1.4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของอิตาลีและสเปน ซึ่งอยู่ระหว่าง 5.5–6%
ข้อดีประการที่ 3 ของพันธบัตรยูโร ก็คือประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เจออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูง จนไม่สามารถไถ่ถอนพันธบัตรคืนภายใต้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะได้รับการเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้
แน่นอนว่าหากมีการออกพันธบัตรยูโรได้จริง ก็จะถือเป็นการต่อลมหายใจของกรีซ และยืดอายุการเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มประเทศยูโรโซนได้ครั้งใหญ่ โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าอาจระดมทุนได้สูงถึง 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 346 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะมีมูลค่าใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ
ทว่า จุดอ่อนของการออกพันธบัตรร่วมกัน และเหตุผลที่เยอรมนียืนกรานปฏิเสธอย่างหนักแน่น ก็มีอยู่หลายประการด้วยเช่นเดียวกัน
ประการแรกนั้น เยอรมนีจะเป็นผู้เสียประโยชน์แทบจะทุกด้าน กับการนำตัวเองไปค้ำประกันหนี้ก้อนใหญ่ร่วมกัน รัฐบาลและโดยเฉพาะชาวเยอรมันซึ่งเป็นผู้เสียภาษี จะตั้งคำถามตามมาว่า เหตุใดเยอรมนีจึงต้องนำห่วงหนี้ของประเทศที่ไม่มีวินัยการคลังมาผูกคอตัวเอง ด้วย ซึ่งความไม่พอใจของประชาชน ก็คือความเสี่ยงสำคัญทางการเมืองที่รัฐบาลเยอรมนีไม่ต้องการเผชิญในวันเลือก ตั้งครั้งหน้า
ประการต่อมานั้น เยอรมนีซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรต่ำที่สุดในยุโรปในขณะนี้ จะมีต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้นทันทีหากมียูโรบอนด์ออกมา เพราะเท่ากับว่าดอกเบี้ยพันธบัตรเยอรมนีจะถูกนำไปหารเฉลี่ยความเสี่ยงกับ หลายประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในเยอรมนีเสียเปรียบทันที
ประการที่ 3 ซึ่ง แมร์เกิล และรัฐมนตรีหลายคนพยายามย้ำถึงเสมอก็คือ การออกพันธบัตรยูโรเท่ากับเป็นการ “ก่อหนี้เพิ่ม” ทั้งที่หลายประเทศไม่อยู่ในสถานะที่จะก่อหนี้เพิ่มเติมได้อีกต่อไป เนื่องจากประสบภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก และยังมีระดับหนี้สาธารณะสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐ กิจบนพันธบัตรยูโรเป็นการเติบโตที่เสี่ยง ไม่ยั่งยืน และเป็นการสร้างวินัยทางการคลังผิดๆ ให้เกิดธรรมเนียมดินพอกหางหมูกันต่อไป
จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรี แมร์เกิล จะย้ำในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปว่า วิธีการออกยูโรบอนด์จะต้องมีการเฉลี่ยความสมดุลกันให้ดี ซึ่งที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพราะยังมีความเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันในหลายด้าน
นอกจากปัญหาหลักๆ จะตกอยู่กับเยอรมนีแล้ว ยูโรบอนด์ก็ยังมีจุดอ่อนในตัวหลายด้านด้วยกันในแง่ของความชัดเจน อาทิ หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถร่วมไถ่ถอนหนี้ได้ในอนาคต อีก 16 ประเทศที่เหลือจะแบกรับหนี้แทนหรือไม่ พันธบัตรของแต่ละประเทศจะยังคงมีอยู่ หรือถูกแทนที่ด้วยพันธบัตรยูโร และรัฐบาลแต่ละประเทศควรจะให้ลำดับความสำคัญระหว่างพันธบัตรของประเทศ หรือพันธบัตรยูโรมากกว่ากัน
หากไม่สามารถตกลงในรายละเอียดที่ชัดเจน หรือเฉลี่ยสมดุลเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบให้ดีขึ้น เยอรมนีซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในยุโรป ก็อาจจะไม่ยอมเล่นด้วยกับแผนการดังกล่าว ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. จบลงด้วยการไร้ทางแก้ปัญหาอีกครั้ง และอาจส่งผลให้วิกฤตการณ์ของกรีซและยูโรโซนตกอยู่ในสถานะที่ไร้ทางออกต่อไป
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน