ปลื้มปีติในหลวง-พระราชินี เสด็จฯทุ่งมะขามหย่อง
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯยังทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ทรงสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ติดตามโครงการตามแนวพระราชดำริ และทอดพระเนตรการแสดงต่างๆ ท่ามกลางพสกนิกรจากทั่วทุกสารทิศที่เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จฯ ตั้งแต่เช้า และได้เสด็จฯกลับโรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 19.30 น.
วันที่ 25 พ.ค.2555 เวลา 16.45 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ชุดคอพับแขนยาว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 85 กม.ใช้เวลา 60 นาที
การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รศ.ประดิษฐ์ ปัจวีนิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นผู้ถวายการรถเข็นพระที่นั่ง
จากนั้นเมื่อเวลา 17.55 น.รถยนต์พระที่นั่งถึงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ระหว่างที่รถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินผ่าน พสกนิกรกว่าห้าหมื่นคนทั่วทั้งบริเวณพระราชานุสาวรีย์ ต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง ในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่านอย่างช้าๆ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อย่างใกล้ชิด
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญพวงมาลัยเข้าถวาย แล้วพระราชทานไปถวายสักการะที่โต๊ะหมู่หน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโย ทัย จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัย ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และผลิตผลทางการเกษตร โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นางวาสินี ผิวผ่อง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางวิภาดา สีตบุตร ภริยาแม่ทัพภาคที่ 1 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุระ อนันต์สุขเสรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมประชาชนทุกหมู่เหล่า เฝ้ารับเสด็จฯ
ในการนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ และครอบครัว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินรวม 7 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 5009 ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่หน้าทุ่งมะขามหย่อง และเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเกี่ยวข้าวเมื่อปี พ.ศ.2539 และ นายวิทยา ผิวผ่อง ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเข้าห้องรับรอง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลากลางน้ำ ที่ตกแต่งแบบเรียบง่าย แต่สวยงามด้วยผ้าขาวม้าทอพื้นเมืองของกลุ่มอาชีพแม่บ้านในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงพระราชทานความช่วยเหลือแนะนำอาชีพมาก่อน จนชาวบ้านนำแนวพระราชดำรัสไปตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขาวม้าและผ้าพื้นเมืองจน ประสบความสำเร็จ จากนั้นทอดพระเนตรการแสดงสื่อผสม “ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินทองแห่งพระมหากรุณาธิคุณ” เป็นเวลาประมาณ 45 นาที
นายประดิษฐ สมดังเจตน์ ในฐานะผู้กำกับการแสดงแสงสีเสียง งาน “ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินทองแห่งพระมหากรุณาธิคุณ” เปิดเผยรายละเอียดการแสดง ว่า ในเวลา 18.00 น. มีขบวนช้างทรงและขบวนทหารกองเกียรติยศสวนสนามเลียบอ่างเก็บน้ำ มายังพลับพลาพิธีเพื่อถวายพระเกียรติ จากนั้นมีการแสดงเพลงแห่เรือ โดยมีขบวนเรือพายออกมาประจำตำแหน่ง ซึ่งมีเนื้อหาการสรรเสริญ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทำให้แผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้ตอนหน้าแล้ง มีทางน้ำไหลตอนน้ำท่วม
จากนั้น เป็นการแสดงชุด “16 ปีแห่งความหลัง ณ ทุ่งมะขามหย่อง” ซึ่งการแสดงนี้ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงขลุ่ยเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งมีนักแสดงในชุดชาวบ้านออกมาแสดงประกอบ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 นาที ตามด้วยการแสดงชื่อชุด “หลั่งเลือดทาบทา ปกปักรักษาแผ่นดิน” โดยมีวีทีอาร์ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีสุริโยทัย มีช้าง 4 เชือก สวมเครื่องทรงออกศึก และทำท่าสู้กันอยู่บริเวณกลางสะพาน 2 ด้านข้างเวที สื่อถึงเนื้อหาของการเสียสละของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ
ตามด้วยการแสดงชื่อชุด “สายน้ำหลั่งไหล น้ำตาหลั่งริน ชีวีสูญสิ้น” โดยมี นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงเสียงขลุ่ยประกอบการอ่านบทกวีจาก นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการประสบ อุทกภัยในหลายครั้งหลายครา
จากนั้นเป็นการแสดงชื่อชุด “น้ำพระทัยขับไล่น้ำตา” เป็นการประมวลภาพผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และชาวบ้าน ที่สำนึกในพระมหากรุณาคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามด้วยการแสดงชื่อชุด “บทกวีเทิดพระเกียรติ” โดย นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงเสียงขลุ่ยประกอบการอ่านบทกวีจาก นางจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งมีเนื้อหาการสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงช่วยเหลือประชาชน และการแสดงชื่อชุด “ระบำสายน้ำ ลำนำแห่งแผ่นดินทอง” ซึ่งเป็นการแสดงประกอบเพลง “แผ่นดินทอง” ที่มีเรือกว่า 100 ลำ ถูกจำลองเป็นตลาดน้ำ เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะปิดท้ายการแสดงบทเพลงเทิดพระเกียรติ “เพลงผู้ปิดทองหลังพระ” โดยมีการแสดงวิถีชีวิตชาวบ้านมาร่วมแสดง จากนั้นได้บรรเลงเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนจบการแสดง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯต่อไปยังพระตำหนักสิริยาลัย ในฝั่งเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระกระยาหารค่ำ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ รพ.ศิริราช เมื่อเวลา 19.30 น.ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จัดทำกระทงสายจำนวน 2,500 กระทง ลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลผ่านมาหน้าพระตำหนักสิริยาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีพสกนิกรเรือนแสนมาจับจองพื้นที่โดยรอบพระราชานุสาวรีย์พระ สุริโยทัย ท่ามกลางแสงแดดอันร้อนระอุตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อรอชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ่าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างใกล้ชิดบางคนเดินทางมาตั้งจับจองพื้นที่ตั้งแต่คืน วันที่ 24 พ.ค.2554
ในหลวง ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยเข้าใจเรื่อง “น้ำ”
ในวันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดิศธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง กล่าวว่า การเสด็จพระราชดำเนิน ที่ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา รอบนี้ เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการทอดพระเนตรพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก แต่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่ดี และมีพระราชประสงค์ให้คนไทยทุกคนเห็นประโยชน์ของน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง เพราะถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี น้ำก็จะไม่สร้างปัญหาให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน และยังมีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย
“เมื่อปี พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก และปล่อยน้ำในฤดูน้ำแล้ง และในปี 2538 ที่น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย และ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำกำลังจะทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เปิดประตูอ่างเก็บน้ำเพื่อให้น้ำลดลงมา 4 เซนติเมตร และเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อน้ำลดลงมาในระดับปกติ จึงมีรับสั่งให้ปิดประตูอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่อง พระองค์ทรงยอมให้ระบบไฟฟ้าภายในอ่างเก็บน้ำเสียหาย เพื่อรักษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและบริเวณโดยรอบไว้
จากนั้นในวันที่ 13 ม.ค.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯมาทรงเปิดคันบังคับน้ำเพื่อปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่อง ไปยังพื้นที่การเกษตรโดยรอบ ต่อมาในวันที่ 14 พ.ค.ปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนาบริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ชมภาพถ่ายทางอากาศทุ่งมะขามหย่อง ประชาชนแน่นขนัด
จากประชาชาติธุรกิจ
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณทุ่งมะขามหย่อง มีประชาชนจำนวนมากเฝ้ารอรับเสด็จฯ เมื่อเวลา 15.00 น.
ที่มา : อินสตราแกรม KRIT SKY REPORT
เปิดตำนาน'ทุ่งมะขามหย่อง'
โดย : เนชั่นสุดสัปดาห์
หลายคนยังไม่ทราบเรื่องราวของทุ่งมะขามหย่อง หากแต่ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ ระบุว่า ทุ่งขามหย่องแห่งนี้มีความสำคัญทั้งในทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตของคนไทย และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
กล่าวคือ ในอดีตนั้น ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ดังที่ว่าเป็นที่สู้รบในศึกกองทัพกรุงศรีอยุธยาปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร เมื่อปี 2091 ในวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พร้อมด้วยพระมเหสี คือสมเด็จพระมหาสุริโยทัย ซึ่งแต่งพระองค์เยี่ยงพระมหาอุปราช และพระราชโอรส-พระราชธิดา ทรงช้าง ยกกองทัพไปยังทุ่งภูเขาทอง พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ที่ทุ่งมะขามหย่องแห่งนั้น กระทั่งเกิดเหตุมีอันให้สมเด็จพระมหาสุริโยทัย ต้องพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปร จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
ต่อมาพื้นที่แห่งนี้ ยังปรากฏว่าเป็นที่ตั้งกองทัพของมังมอด ราชบุตรแห่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ยกกองทัพมาตั้งค่ายที่ขนอนปากคู่ ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา หลังจากสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศเอกราชได้ 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรยกพลออกมาปล้นค่ายพม่าหลายครั้ง และทรงใช้พระโอษฐ์คาบพระแสงดาบปีนเสาระเนียดเข้าไปในค่ายข้าศึก ทำให้พระแสงดาบเล่มนั้นปรากฏนามว่าพระแสงดาบคาบค่าย
กระทั่งมาถึงรัชกาลปัจจุบัน ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ยังมีความสำคัญที่เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง เพื่อชาวไทยได้รำลึกถึงวีรกรรมในครั้งนั้น และยังเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2535
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 31 สิงหาคม 2534 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538
ทั้งนี้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่รวมจิตใจคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สร้างความประทับใจให้ชาวอยุธยามิรู้ลืม คือครั้งที่พระองค์ทรงเกี่ยวข้าวที่ทุ่งมะขามหย่อง ในปี 2539
นอกจากนี้ ในทางความสำคัญแห่งวิถีชีวิตของประชาชน ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้นำพื้นที่ทุ่งนาในตำบลบ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 250 ไร่ มาเป็นพื้นที่แก้มลิงมาตั้งแต่กลางปี 2538 ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาน้ำหลากและภัยแล้ง ทุ่งมะขามหย่อง ต. บ้านใหม่ จึงเป็นที่รองรับน้ำที่สำคัญ และในปี 2549 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในทุ่งมะขามหย่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร
ไม่นานมานี้ปลายปีที่ผ่านมา จากเหตุมหาอุทกภัยใหญ่ แต่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ยังเป็นแหล่งพักพิงของประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมนับพันชีวิต รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า วัว ควาย ได้อาศัยอยู่หนีน้ำยาวนานนับเดือน
25 พฤษภาคมนี้ ทุ่งมะขามหย่อง หรือโครงการพระราชดำริทุ่งมะขามหย่อง หรือสวนพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ยังได้กลายเป็นแหล่งรวมพลังชาวไทยจำนวนมหาศาลอีกด้วย
ประยุทธ์ชี้คนไทยสุดปลื้มในหลวงแข็งแรง
จาก โพสต์ทูเดย์
ผบ.ทบ.เชื่อพสกนิกรไทยปลาบปลื้มในหลวงทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ยันทหารขอโทษเหยื่อม็อบแล้ว วอนหยุดเคลื่อนไหว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันนี้ (25 พ.ค.) ว่า ในฐานะพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่ง ก็รู้สึกปลาบปลื้มและเชื่อว่าคนทั้งไทยทั้งแผ่นดิน ต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ที่ได้เห็นพระองค์ท่าน ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และถือเป็นโชคดีของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จในครั้งนี้ เพราะนับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ ก็ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนไทย มาโดยตลอด และการที่ประเทศมีความเจริญและมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหน้าที่ของกองทัพก็คือ การเผยแพร่และสนับสนุน โครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อถ่ายทอดสู่ประชาชน ให้ได้มากที่สุด
ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่ในเหตุการณ์ พ.ค. 2553 เตรียมยื่นหนังสือเพื่อให้กองทัพขอโทษนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเองได้เคยขอโทษไปแล้ว และเห็นว่าในเมื่อทหารก็เสียชีวิตในเหตุการณ์เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่เห็นมีใครมาขอโทษทหารบ้าง จึงอยากขอให้ถือเป็นบทเรียน เพราะทหารไม่เคยอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน