จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
โดย ธำรงค์ศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsak.blogspot.com
เป็นที่ทราบกันดีแล้วนะครับว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคของการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(Asean Economic Community-AEC) ในปี 2558 ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องการแข่งขันเฉพาะแค่ทางการค้าการขายระหว่างชาติอาเซียนเท่านั้น
แต่ยังมีเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี โดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เช่น การออกวีซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญ และแรงงานฝีมือ
จากเรื่องดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ (Skill Labour) ในช่วงเริ่มต้น 7 วิชาชีพ คือแพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปัตยกรรม, การสำรวจ และนักบัญชี ส่วนสาขาอื่น ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่ง 7 วิชาชีพแรกเหล่านี้จะมีโอกาสได้โกอินเตอร์ (อาเซียน) ได้ง่าย ๆ ถ้ามีความสามารถ (Competency) เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียนครับ
จากที่ผมได้บอกมาข้างต้นทำให้ได้ข้อคิดหลาย ๆ อย่างสำหรับการเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้
1) ตลาดแรงงานจะเปิดกว้างมากขึ้น จากเดิมที่กรอบความคิดแค่ว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะทำงานในประเทศไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะกลายเป็นว่าถ้าใครมีความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความรู้ความสามารถและอยู่ในกลุ่มวิชาชีพ 7 สาขาดังกล่าว และสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้แล้วล่ะก็ จะมีโอกาสได้ไปทำงานในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้อีกด้วย
2) จากการที่ตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้นตามข้อ 1 จะมองได้ทั้งวิกฤตและโอกาส คือเป็น โอกาสของลูกจ้างที่จะได้ทำงานในประเทศอื่น ๆ และแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และถ้าแรงงานที่มีฝีมือเหล่านี้ถูกดึงตัวไปทำงานในประเทศอื่นอย่างนี้ บ้านเราคงจะมีวิกฤตในเรื่องการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือด้วยเช่นเดียวกัน
แล้วจากผลการสำรวจของกรมการจัดหางานโดยกองวิจัยตลาดแรงงานในเรื่อง การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนศึกษาเฉพาะนักเรียนมัธยมปลายในกทม.จำนวน 736 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 99.46 ยังไม่ทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีในประชาคมอาเซียน มีเพียงร้อยละ 0.54 เท่านั้นที่มีความรู้และเข้าใจ (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอาชีพ Career Information Center สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่) ก็เป็นเรื่องน่าคิดนะครับว่าวันนี้เราได้ให้ความรู้กับอนาคตของชาติที่กำลัง จะเข้าสู่ยุคการแข่งขันในภูมิภาคเพื่อให้เขาเลือกสาขาวิชาที่เหมาะสมกับตัว เขา และประเทศชาติได้มากน้อยแค่ไหน
3) เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานนี่มองได้หลายมุม ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าคนของเราที่มีความรู้ความสามารถ (Skill Labour) อาจจะโดนซื้อตัวไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็เป็นโอกาสของคนคนนั้น
แต่อีกมุมหนึ่งถ้าคนในบ้านเราขาดความสามารถ ขาดทักษะฝีมือแรงงานแล้วล่ะก็ คนเหล่านี้มีโอกาสตกงานได้ เพราะนายจ้างมีโอกาสจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานจากเพื่อนบ้านในอาเซียนมาทำงานแทน โดยอาจจะยอมจ่ายแพงแต่ได้ผลิตผล (Productivity) ที่มากกว่าการจ้างแรงงานคนไทยที่ขาดทักษะฝีมือแรงงานด้วยเหมือนกัน
จากที่ผมฉายภาพให้ท่านเห็นทั้งหมดข้างต้นเลยจะขอนำท่านกลับมาให้เห็นความเชื่อมโยงว่าการจ้างแรงงานในประเทศใดก็ตามจะต้องใช้ "เงิน" หรือ "ค่าตอบแทน" เป็นหลักในการจ้างงานจริงไหมครับ ?
โดยในฉบับนี้ผมขอทิ้งเป็นคำถามไว้ก่อน และจะขอกลับมาตอบในฉบับหน้านะครับ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน