สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนประกันภัยพิบัติของดีที่ถูกเมิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วารุณี อินวันนา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มี สส.ฝ่ายค้านอภิปรายถึง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ว่า “ยังไม่เริ่มดำเนินการ” ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

สิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปราย ดูจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก หากเกิดภัยพิบัติขึ้นในขณะนี้ งบประมาณที่รัฐจัดหามาให้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว และพายุ วงเงิน 3 แสนล้านบาท จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนเลย

เพราะนับจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธาน เปิดตัวกองทุนอย่างใหญ่โตมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555

ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และหนึ่งในคณะกรรมการกองทุน ระบุว่า มีผู้ซื้อประกันภัยพิบัติภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนไม่ถึง 400 ราย เป็นเบี้ยประกันภัยเพียง 400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 4.86 แสนล้านบาท

ขณะที่ฤดูฝนเริ่มต้นขึ้นแล้ว กลับมีประชาชนเข้ามาใช้บริการกองทุนเพียงแค่หยิบมือเดียว เป็นการสะท้อนฝีมือการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ

การเร่งรัดจัดตั้งกองทุนใช้เวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งเลขาธิการ คปภ.ยืนยันว่าเร็วที่สุดในโลก ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีความเร็วเรื่องของระบบรองรับการบริหารจัดการกองทุนที่ต้องใช้เงิน ภาษีของประชาชนด้วย

แต่สิ่งที่ปรากฏกลับเป็นว่า ระบบบริหารจัดการยังไม่พร้อม แม้กองทุนจะจัดตั้งขึ้นได้แล้ว แต่กองทุนยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า บริษัทประกันวินาศภัยยังไม่มีความพร้อมเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ที่จะรองรับ กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ซึ่ง จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์พร้อมโดยเร็ว เพราะต้องกลับไปนั่งแก้ไขระบบ และเพิ่มรายละเอียดเฉพาะของกรมธรรม์เข้าไป

และเพราะระบบคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมสำเร็จรูป และการขายประกันภัยพิบัติ จึงต้องเริ่มกันทีละขั้นตอน ตั้งแต่ระบบการพิจารณารับประกันภัย การคิดเบี้ยประกันภัย บริษัทต้องเก็บเงินไว้เท่าไหร่ ต้องส่งประกันต่อเท่าไหร่ และต้องส่งเข้ากองทุนเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน กองทุนมีความยืดหยุ่นในเงื่อนไขที่วางไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้เกิดความคล่องตัว แต่ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการแก่ประชาชน

อาทิ เดิมวางเงื่อนไขไว้ว่าให้บริษัทประกันภัยส่งเบี้ยประกัน หรือโอนความเสี่ยง 99% มาให้กองทุนแล้วเก็บเบี้ย หรือความเสี่ยงไว้เอง 1% แต่บริษัทประกันภัยขนาดใหญ่กลับต้องการเก็บความเสี่ยงไว้เองสูงกว่าเงื่อนไข ของกองทุน

 

ทำให้ต้องเสียเวลาในการพิจารณาเงื่อนไขการบริหารจัดการกันใหม่ โดยกองทุนยอมยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัยเก็บเบี้ย หรือความเสี่ยงไว้เองในกรณีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่สูงสุด 25% ส่วนลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัยสามารถเก็บไว้เองได้ถึง 95% และส่งให้กองทุน 5%

ถึงวันนี้นายกสมาคมประกันวินาศภัยยืนยันว่าพร้อมที่จะเดินหน้าให้บริการประกันภัยพิบัติของกองทุนแล้ว

แต่ คปภ.เพิ่งเริ่มเดินสายชี้แจงเกี่ยวกับ “การประกันภัย และกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้รับความรู้ ซึ่งเดือน พ.ค.นี้ ไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี เพราะเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

หากทำการประชาสัมพันธ์ 2 ที่ต่อ 1 เดือน จะต้องใช้เวลาในการออกไปให้ความรู้แก่ประชาชนอีก 4 เดือน หรือแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. หรือปลายฤดูฝน ถึงจะครบ 11 ครั้งตามแผนของ คปภ.

ถ้าเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมหนักระหว่าง 4 เดือน มิพ้นที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาชดเชยความเสียหายแก่ ประชาชน ขณะที่งบ 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้กองทุนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เพราะจำนวนผู้ที่ได้รับความคุ้มครองมีน้อย

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ คปภ.มองว่า หากมองในมุมของวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ถือว่าส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในประเทศ

เพราะวัตถุประสงค์ข้อแรก คือ เพื่อผลักดันให้อัตราเบี้ยประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับลดลง

ปัจจุบันอัตราเบี้ยประกันภัยต่อได้ปรับลดจาก 16% ลดลงเหลือประมาณ 3-5% ในพื้นที่น้ำท่วม และ 1-3% ในพื้นที่นอกน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศมีความมั่นใจว่ารัฐบาลได้ออกมา ดูแลรับผิดชอบความเสียหายเบื้องต้น 3 แสนล้านบาทแรก ด้วยเงินกองทุน 5 หมื่นล้านบาท จึงเข้ามาทำการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศไทยอีกครั้ง

แม้ว่าจะลดลงมาก แต่ยังสูงเมื่อเทียบกับพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมที่ทาง คปภ.กำหนดขั้นต่ำสูง อยู่ระหว่าง 0.01-0.1% ซึ่งบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่บางแห่งมีแนวคิดที่จะขอปรับลดเบี้ยประกันสำหรับ ลูกค้ารายใหญ่ลงมาจาก 1.25% เหลือ 0.75-1% เพื่อจูงใจให้ลูกค้ารายใหญ่หันมาทำประกันภัยพิบัติภายใต้กองทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ กองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อการรับประกันภัยในจำนวนเงินสูงสุด และอัตราเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยได้อย่างทั่วถึง

จากเดิมที่บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมแค่ 10-20% เท่านั้นสำหรับลูกค้าขนาดใหญ่ จากเดิมที่รับเต็ม 100% แต่กองทุนให้ความคุ้มครองถึง 30% ของวงเงินความคุ้มครองทรัพย์สิน สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คิดเบี้ย 1.25% และ 1% ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยคุ้มครองสูงสุด 1 แสนบาท คิดเบี้ยประกัน 0.5% ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้ต้นทุนในการทำประกันภัยสูงเกินกว่าประเทศคู่แข่งขัน และสามารถดึงดูดให้นักลงทุนยังคงดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ซึ่ง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ 99% ยังคงฐานการผลิตในไทย แม้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา

แต่ก็มีข่าวรายวันว่า บริษัทต่างชาติไปลงทุนใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังคงลงทุนในไทยเป็นการลงทุนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ก็ต้องทำต่อจะย้ายฐานไปไหนไม่ได้ แต่การลงทุนใหม่ยังไม่ได้เริ่ม ขอเผ่นไปตั้งหลักที่อื่นก่อนจะดีกว่า

เห็นได้จากปริมาณการขอส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโครงการใหม่ลดลง

หากคณะกรรมการกองทุน เลขาธิการ คปภ. บริษัทประกันภัย อ้างว่าต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมในการให้บริการประกันภัยพิบัติ ภายใต้การดูแลของกองทุน 2 เดือนที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอ

นับจากนี้ไป กองทุนส่งเสริมการประกันภัย จะเริ่มดำเนินการให้ความคุ้มครองภัยพิบัติแก่ประชาชน เพื่อที่ว่าหากเกิดความเสียหายใหญ่ขึ้นมาจริง งบประมาณที่จัดสรรมาให้ จะเป็นประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อประเทศชาติ

หรือการที่ประชาชนไม่ซื้อประกันภัยพิบัติ ต้องตอบให้ได้ว่า เพราะเหตุใด เพื่อที่จะได้ทบทวนการทำงานของกองทุนว่าควรจะทำหน้าที่อย่างไรในอนาคต


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กองทุนประกันภัยพิบัติ ของดีที่ถูกเมิน

view