สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกผวา สเปน เอาหนี้ไม่อยู่นับถอยหลังขอเงินช่วยตามรอยกรีซ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แจ่มแจ้งชัดเจนเรียบร้อยโรงเรียนยุโรปแล้ว สำหรับปัญหาหนี้สาธารณะของภูมิภาค ซึ่งแสดงอาการลุกลามหนักถึงขั้นวิกฤตรุนแรง โดยมีผู้ป่วยรายล่าสุด คือ สเปน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาครองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี และมีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็น 12% ของจีดีพีของภูมิภาค กำลังแสดงอาการโคม่าอยู่ในขณะนี้

เป็นอาการที่หนักหนาสาหัสรุนแรงถึงขั้นที่นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันออก มาคาดการณ์ว่า สเปนมีสิทธิต้องกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากกลุ่ม สหภาพยุโรป (อียู) ตามรอยประเทศอื่นๆ เช่น กรีซ ที่ร้องขอเงินช่วยก่อนหน้านี้ในเร็ววัน

ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายถึงขั้นคาดคะเนอย่างเชื่อมั่นว่า สเปนน่าจะเอ่ยปากขอเงินจากอียูไม่เกินเดือน ก.ค. 2555 นี้แน่นอน

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นจากสัญญาณเศรษฐกิจของสเปนที่ปรากฏให้เห็นนับ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไล่เรียงตั้งแต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (จีดีพี) ที่ขณะนี้หดตัวลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนติดต่อกันแล้วถึง 0.3%

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า นอกจากเศรษฐกิจของสเปนจะไม่โตแล้ว ยังหดตัวลงอีกเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นสัญญาณบ่งชี้แน่นอนว่าสเปนกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นประการต่อมาอยู่ที่ตัวเลขการว่างงานของสเปนที่สูงที่สุดใน ภูมิภาคถึง 24% ซึ่งจะกระเทือนต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ปริมาณหนี้สาธารณะต่อจีดีพีซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนใช้วัดระดับความ สามารถในการใช้หนี้ของประเทศนั้นๆ พุ่งสูงถึง 68.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2523 ที่เริ่มมีการบันทึกมา

และตอกย้ำความเชื่อด้วยลางร้ายประการสุดท้าย ที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจเกือบ 100% ว่าสเปนร่อแร่แน่ด้วยตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 นี้ ที่ลดลงไปแล้ว 10.4%

ตัวเลขติดลบระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหาทางหลบลี้หนีหน้าจากสเปนกันเต็มที่ เห็นได้จากรายงานล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของธนาคารกลางสเปน ที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน มี.ค. มีปริมาณเงินทุนไหลออกจากประเทศสเปนแล้วถึง 9.7 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.78 ล้านล้านบาท) นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจเทขายสินทรัพย์ของสเปนอย่าง จ้าละหวั่น และหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีกันอย่างคึกคัก

ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลสเปนที่ต้องแบกรับต้นทุน ในการกู้ยืมที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนยอมมาลงทุน โดยล่าสุดสูงแตะระดับ 6.7% ซึ่งเกือบจะอยู่ระดับเดียวกับกรีซที่ทำให้ต้องขอเงินช่วยเหลือจากกลุ่มอียู

เรียกได้ว่า ตัวเลขที่ปรากฏออกมาทั้งหมดในช่วงเวลานี้ แสดงให้เห็นเพียงแค่ว่า รัฐบาลสเปนมีรายจ่ายมากมายมหาศาลเพียงใดเมื่อเทียบกับรายรับที่มีแต่จะลด น้อยถอยลง

ทว่าที่ร้ายกว่านั้นก็คือว่า รัฐบาลสเปนยังคงใช้จ่ายเกินตัวไม่เลิกรา โดยนักวิเคราะห์หลายสถาบันคำนวณออกมาคร่าวๆ พบว่ารัฐบาลสเปนใช้เงินมากกว่าที่หาเข้ากระเป๋าถึง 10% นับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตภาคการเงินจากฝั่งสหรัฐ และส่งผลให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสเปนแตก

ยังไม่นับรวมปัจจัยเสริมแวดล้อมอื่นๆ อย่างกรณีที่แบงเกีย ธนาคารที่ใหญ่อันดับ 4 ของประเทศต้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐสูงถึง 2.35 หมื่นล้านยูโรเพื่อป้องกันการล้มละลาย

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่มีรายจ่ายมากมายประดังเข้ามา ทั้งหนี้เก่าที่ต้องชำระ ทั้งค่าใช้จ่ายใหม่อย่างสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้คนตกงาน แล้วไหนจะต้องจ่ายเงินสำหรับช่วยพยุงภาคธนาคารของประเทศ ท่ามกลางความเป็นจริงที่รายรับหดหาย ได้กลายเป็นหลักฐานพิสูจน์การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสถาบันที่ว่า ไม่ช้าก็เร็ว รัฐบาลสเปนจำต้องยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือ แม้ว่าจะไม่อยากทำแค่ไหนก็ตาม

ขณะที่ เดวิด แมคกีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคยุโรปของเจพีมอร์แกน เชส แสดงความเห็นว่า สเปนได้ก้าวมาถึงจุดที่ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ได้ด้วยตนเองคนเดียวอีกต่อไป โดยสิ่งที่รัฐบาลสเปนต้องการขณะนี้ก็คือเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นการเปิดทางให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปน หรือให้กลไกช่วยเหลือของยุโรปเข้าแทรกแซงธนาคารของประเทศโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเงินช่วยเหลือจะมาในรูปแบบไหน แต่ปัญหาชวนปวดหัวที่จะต้องตามมาแน่นอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือปริมาณ เงินแค่ไหนถึงจะเพียงพอสำหรับขนาดเศรษฐกิจของสเปน

เงินช่วยเหลือของไอร์แลนด์ คือ 8.5 หมื่นล้านยูโร โปรตุเกส คือ 7.8 หมื่นล้านยูโร ส่วนกรีซ คือ 2.92 แสนล้านยูโร แต่สำหรับสเปนที่ใหญ่กว่าประเทศเหล่านั้น แน่นอนว่าปริมาณเงินช่วยเหลือย่อมต้องสูงกว่าจำนวนที่อียูเคยจ่ายไปแล้วแน่ นอน

รายงานจากธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งคำนวณโดยรวบรวมปริมาณเงินทั้งหมดจากภาคธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคเศรษฐกิจจริง และส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นสเปนพบว่า ปริมาณเงินที่สเปนต้องการอย่างน้อยนั้นอยู่ที่ 4.5 แสนล้านยูโร (17.55 ล้านล้านบาท) โดย 1 แสนล้านยูโร คือ เงินสำหรับภาคธนาคารของประเทศโดยเฉพาะ

ทว่า ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด เช่น กรีซออกจากกลุ่มยูโรโซน ปริมาณเงินช่วยเหลือที่สเปนต้องการอาจเพิ่มสูงขึ้นในจำนวนที่นักวิเคราะห์ ระบุตรงกันว่า ไม่อาจกำหนดขอบเขตได้

เอ็ดวาร์ด ฮิวจ์ นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เซโลนา คาดการณ์ว่ารัฐบาลสเปนน่าจะเดินหน้าขอเงินช่วยเหลือในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ หลังจากที่การเลือกตั้งรอบใหม่ของกรีซในวันที่ 17 มิ.ย. และกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) มูลค่า 5 แสนล้านยูโร ได้ฤกษ์ประกาศใช้ในวันที่ 9 ก.ค.

เรียกได้ว่า นาทีนี้ต่อให้นายกรัฐมนตรีมาริโน ราฮอย แห่งสเปน ลากนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศทุกคนออกมายืนกรานว่าสเปนยังไม่สิ้นหนทางจนถึง ขั้นต้องขอความช่วยเหลือจากภายนอก นักลงทุนทั้งมือเก๋าและมือสมัครเล่นคงทำใจให้เชื่อได้ยากอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์วิตกกันมากที่สุดไม่ใช่เรื่องที่สเปนจะเอ่ยปากขอเงิน ช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ แต่เป็นเรื่องแหล่งที่มาของเงิน หรือสปอนเซอร์ใหญ่ที่จะช่วยสนับสนุนสเปน

หนึ่งในคำตอบที่ทุกคนคาดหวังต่างพุ่งตรงไปหาอีซีบี ซึ่งมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ อย่างธนาคารบุนเดสแบงก์ของเยอรมนีอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม บุนเดสแบงก์ซึ่งควักเงินให้อีซีบีไปแล้วถึง 6.44 แสนล้านยูโร (ราว 25.12 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 24% ของจีดีพีของเยอรมนีนับตั้งแต่เกิดวิกฤต ได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ไม่สมัครใจแบกรับภาระหนี้ของชาติอื่นๆ มากไปกว่านี้อีกแล้ว

และเป็นปัญหาคาใจที่ต้องลุ้นกันจนเหนื่อยต่อไปว่า หากสเปนจะตามรอยกรีซขึ้นมาจริง อียูจะทำเช่นใด

ในเมื่อมาตรการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างแผนรัดเข็มขัดก็ไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจแม้แต่น้อย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลกผวา สเปน เอาหนี้ไม่อยู่ นับถอยหลัง ขอเงินช่วย ตามรอยกรีซ

view