อำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน
โดย : กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตนักการเมืองซึ่งเคยเป็นนักวิชาการท่านหนึ่ง กล่าวว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งให้สภาหยุดพิจารณาร่างแก้ไข มาตรา 291 นั้น เป็นการ "ปล้นอำนาจประชาชน" ก็รู้สึกว่าออกจะกล่าวหากันแรงไปหน่อย แต่ถ้าจะถือว่านี่เป็นธรรมเนียมของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในบ้าน เราในระยะหลังมานี้ ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะถ้าพูดตามเหตุผล อาจจะไม่ค่อยมีใครอยากฟัง ต้องพูดกระชากอารมณ์กันแรง ๆ
แน่นอนว่าการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ ย่อมมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไปได้ และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่อันที่จริงน่าจะนั่งลงอธิบาย ฟังเหตุฟังผลกันก่อน เพราะสาระของการให้ยับยั้งการกระทำก็เพื่อให้ได้มีเวลามาอธิบายโต้แย้งกัน ให้กระจ่างเสียก่อนนั่นเอง
เพราะใช่ว่าจะมีแต่ประเทศไทยที่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาทำหน้าที่ขวางการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติและ ฝ่ายบริหารในกิจการที่ศาลเห็นว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ เพราะในระบอบการปกครองที่มีศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจออกคำสั่งยับยั้ง หรือคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ข้อกล่าวหา หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการละเมิดรัฐธรรมนูญลุกลามไปเป็นปัญหาอย่างอื่นจน เกินเยียวยาแก้ไข
ปัญหาการใช้อำนาจ หรือใช้สิทธิเสรีภาพจนเกินกว่าเหตุ หรือจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ และเมื่อไม่มีกลไกมาคอยปราม หรือกำกับให้อยู่ในเหตุในผล หรือยับยั้งให้อธิบายกันให้แจ่มชัดเสียก่อน ก็เป็นเหตุให้เกิดเสียหายร้ายแรงมาแล้ว คือกรณีของฮิตเล่อร์ที่ใช้เสียงข้างมากตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานศาล ประธานสภา และประธานาธิบดีมาแล้ว จนทำให้เยอรมันต้องตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นสถาบันพิเศษ เพื่อคอยพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ที่เคยเป็นข่าวมาในอดีต เรื่องการใช้อำนาจโดยลุแก่โทสะ หรือตามอำเภอใจนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในเยอรมัน เมื่อหลังสงครามใหม่ ๆ ในมลรัฐแห่งหนึ่ง กำลังเป็นยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปรากฏว่าฝ่ายที่มีเสียงข้างมากชนิดเกินร้อยละ ๗๕ และมีจำนวนเสียงมากพอที่จะถอดถอนสมาชิกสภาด้วยกันให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ เคยพยายามจะรวมหัวกันลงมติถอดถอนสมาชิกภาพของฝ่ายเสียงข้างน้อย คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เห็นต่างจากตนอย่างดื้อ ๆ โดยปราศจากเหตุสมควรมาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐก็ออกคำสั่งห้ามการลงมติเช่นนั้น เพราะจะขัดต่อรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย
เมื่อไม่นานมา นี้ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐที่มีพลเมืองหนาแน่นที่สุดในเยอรมัน ก็เพิ่งจะออกคำสั่งห้ามมิให้รัฐบาลมลรัฐก่อหนี้ตามกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมงบ ประมาณซึ่งจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และได้ผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้ว โดยศาลเหตุผลที่ว่า การก่อนหนี้ดังกล่าวแม้รัฐบาลจะอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน การคลังของมลรัฐ ก็มีเหตุน่าเชื่อว่าอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับภาระทาง ภาษีอากร และความสามารถในการชำระหนี้ของมลรัฐจนเกินสมควรแก่เหตุได้
ดังนั้นศาลจึงสั่งให้ระงับไว้ก่อนจนกว่าจะชี้แจงกันจนเชื่อแน่ได้ว่าเป็นไป อย่างสมเหตุสมผลแล้วอย่างแท้จริง
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ก็เพิ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ผู้แทน 9 นายที่สภาเลือกขึ้นมาทำหน้าที่ในกองทุนฟื้นฟูยุโรป ที่จะให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินกองทุนมูลค่ากว่าสี่แสนล้านยูโร แทนสภาผู้แทนราษฎร โดยศาลสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เพิ่งผ่านสภาไปเป็นการชั่ว คราว เพราะเหตุผลว่าจะกระทบต่อหลักความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรต่อประชาชนทั้ง ประเทศ เนื่องจากถ้ามอบอำนาจให้ ส.ส. 9 คนทำการแทน ก็เท่ากับตัดสิทธิ ส.ส. คนอื่น ๆ ในการที่จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนในเรื่องที่จะกระทบต่อภาระภาษีของปวงชน ในอนาคตไปในสาระสำคัญ ทั้งนี้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้เสร็จสิ้นไปก่อนว่าการทั้งหลายนี้จะ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าการดำเนิน การของรัฐบาล หรือของสภาจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ศาลเห็นว่ามีเหตุควรสงสัยควรจะได้พิจารณากันให้ถี่ถ้วนเสียก่อนเท่านั้น นี่เป็นกติกาของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ถ่ายเดียว ซึ่งในระบอบที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่นี้ถือหลักยอมให้คนกลางเป็นคนคอยตัดสินข้อ พิพาท และแน่นอนคนกลางอย่างศาลรัฐธรรมนูญต้องระวังอย่าใช้อำนาจยับยั้งตามอำเภอใจ และใช้อำนาจนี้เมื่อ “จำเป็น” อย่างยิ่งยวดเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญนั้นวิจารณ์กันได้ครับ แต่ต้องใจเย็น ๆ รับฟังกันให้รอบคอบถี่ถ้วนทุกทางเสียก่อนครับ
นิติราษฎร์ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องตีความร่างแก้รธน.ผิดกม.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คณะนิติราษฎร์แถลงศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องตีความร่างแก้รธน.ผิดกม.หรือไม่ อ้างเหตุไม่เข้าม.68 ระบุคำสั่งศาลให้สภาฯชะลอการพิจารณาทำไม่ได้
คณะนิติราษฎร์ ออกแถลงการณ์เรื่อง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีบุคคลเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับ อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2555 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 นั้น
คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวในสามประเด็น ดังนี้
1. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68
รัฐสภาได้ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลและพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นการกระทำตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนหรือทั้งฉบับ ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันมีผลเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้นเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 โดยการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
2. ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า การเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสองนั้น อาจทำได้สองวิธี คือ หนึ่ง บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สอง บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
คณะนิติราษฎร์เห็นว่า กรณีตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ไม่อาจตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเฉพาะแต่อัยการสูงสุดเท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุดก็ไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากปราศจากการเสนอ เรื่องของบุคคลผู้ทราบการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรก กรณีคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสอง จึงต้องดำเนินการเป็นสองขั้นตอนตามลำดับได้แก่ บุคคลเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปมิได้
แถลงการณ์ ยังระบุว่า นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบบันทึกรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 68 พบว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเท่านั้น
หากพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเห็นได้ว่าในกรณีที่รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปในการ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งดังกรณีปรากฏในมาตรา 212 ว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ และไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
คณะนิติราษฎร์เห็นว่าการตีความมาตรา 68 วรรคสองของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขัดกับหลักการตีความกฎหมายทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง
3. อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการกำหนด “วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 มาใช้ โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 6
วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเป็นมาตรการสำคัญในกระบวนพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ต้องบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
คณะนิติราษฎร์เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยแต่เพียงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ ๖ เพื่อนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ มาใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นำวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยมาใช้ระงับยับยั้งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และทำให้กลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดำเนินการไปได้ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้กลับมีผลเป็นการทำลายกลไกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจนี้ไว้ให้แก่รัฐสภาเท่านั้น อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ที่มีลำดับชั้นทางกฎหมายสูงกว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจทั้งสามเป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการควบคุมตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังเช่นการควบคุมตรวจสอบพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้
อาศัยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด คณะนิติราษฎร์เห็นว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘
2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
หากรัฐสภายอมรับให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้มีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด
สยามประชาภิวัฒน์ยันศาลรธน.มีอำนาจรับวินิจฉัยรธน.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้iy{l4k รอการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ว่า ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ กระบวนการรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างประชาธิปไตย ต้องยื่นให้อัยการสูงสุด เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏว่าอัยการสูงสุด ส่งเรื่องเข้ามา จึงเกิดปัญหาเรื่องการดำเนินการ และถ้าสังคมเห็นว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น เสนอให้ตรวจสอบ แต่ฝ่ายการเมืองไปล็อกอัยการสูงสุดเรื่องก็จบ
ดังนั้น จึงเห็นว่าการที่ศาลฯ รับวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ มีอำนาจที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยใช้ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายคมสัน กล่าวว่า การออกมาตีความของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนิติราษฎร์ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับวินิจฉัยเรื่องนี้ได้นั้น ไม่ได้เป็นการตีความผิด แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่ายื่นไปแล้วอัยการสูงสุด ไม่มีการดำเนินการอะไรออกมา และถ้าลงมติวาระ 3 อาจเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ศาลฯ จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นมา และรับวินิจฉัยเพื่อไม่ให้มีช่องว่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายคมสัน กล่าวว่า ก็ต้องรับผิดชอบเพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5 ระบุชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ และการให้รอการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็เป็นคำสั่งส่วนหนึ่งของศาลด้วย
'องอาจ'ดักคอประธานสภาอย่าลักไก่นัดประชุมสภา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ส.ส.ปชป.วอนประธานสภาอย่านัดประชุมสภาแบบลับลวงพราง เพราะจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ควรทำเป็นหนังสือนัดประชุมและกำหนดวาระการประชุมให้ชัดเจน
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีการนัดประชุมสภาทั้งประชุมสภาผู้แทนราษฏร และประชุมรัฐสภา ขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภา ดำเนินการนัดประชุมด้วยความชัดเจนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ควรนัดประชุมด้วยวิธีการลับลวงพราง หรือลักษณะที่เข้าข่ายลักไก่อีกต่อไป หากยังทำ จะทำให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงมากขึ้น
"ที่ผมเรียกร้องแบบนี้เพราะข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 13 ระบุว่าการนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือให้ชัดเจน หรือนัดแบบมีการบอกรับในที่ประชุมแล้ว เมื่อประธานไม่ได้บอกนัดในการประชุมครั้งล่าสุด ประธานต้องทำเป็นหนังสือโดยนัดล่วงหน้า 3 วัน ตามข้อบังคับ หากประธานดำเนินการตามนี้ การลักไก่จะไม่เกิดขึ้น"
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ประธานต้องคำนึงด้วยว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดปัญหา ประธานจึงไม่ควรนัดประชุมที่จะก่อให้เกิดความสงสัยเข้าใจผิด เพราะจะทำให้ปัญหาเกิดเพิ่มเติมขึ้นได้ แต่รัฐบาลควรประสานงานกับสภาผู้แทนราษฏร ให้งดเว้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด และรัฐบาลควรดำเนินการสานเสวนาตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามความถูกต้องเหมาะสม นำไปสู่ความปรองดองที่เห็นพ้องต้องกัน
“สำหรับ พล.อ.สนธิ (บุญยรัตนกลิน) ที่บอกว่าไม่ได้รับจ๊อบใคร แต่การดำเนินการเหมือนกับมีการเตรียมการไว้ ท่านอาจจะบอกว่าไม่ได้รับจ๊อบ แต่ผมสงสัยว่าท่านรับจ้างมาหรือเปล่า รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังนั้น เหตุการณ์ใดจะเกิดความขัดแย้งต้องถอดชนวน ไม่ใช่เอาไฟสุ่มเข้าไปในกองไฟให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น” นายองอาจ กล่าว
'จรัล'ย้ำร่างรธน.วาระ3เป็นการต่อสู้ที่แหลมคมที่สุด
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"จรัล ดิษฐาอภิชัย"เชื่อรัฐประหารโดยตุลาการ ต่อต้านยากกว่าทำโดยทหาร ย้ำผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วาระ 3 เป็นการต่อสู้ที่แหลมคมที่สุด
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในช่วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ผมเขียนบทความ รัฐประหารโดยตุลาการ (judicial coup d'etat)แจกจ่ายแก่บุคคลและองค์การระหว่างประเทศ เช่น อียู คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา สื่อมวลชนหลักๆ ฯลฯ ซึ่งความจริง ดำเนินมาเรื่อยๆ มาถึงปัจจุบัน รัฐประหารนี้ต่อต้านยากกว่า ทำโดยทหาร
"ผมเห็นด้วยที่สภาผู้แทนเดินหน้าลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วาระ 3 นี่เป็นการต่อสู้ที่แหลมคมที่สุดระหว่างสถาบันทางการเมืองสูงสุดของอำนาจอธิปไตยของประชาชน กับสถาบันสูงสุดทางอำนาจและประเพณี"นายจรัล กล่าว
นายจรัล กล่าวอีกว่า มีประสบการณ์ไม่ดีกับศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ศาลนี้รับคำฟ้องคดีที่ผมฟ้องสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถอดผมออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน จนถึงวันนี้ ยังไม่เริ่มพิจารณาคดี
รองปธ.วุฒิสภาเห็นด้วยเดินหน้าลงมติแก้รธน.วาระสาม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธาน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา กล่าวว่า ตนจะเชิญ ส.ว.หารือต่อประเด็นที่ทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่าจะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาในประเด็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้ระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ว่าเห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าวของวิปรัฐบาลหรือไม่ อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าประเด็นคำสั่งศาลไม่มีอำนาจต่อการเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ควรเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม และในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ให้อำนาจดำเนินการได้
นายนิคม กล่าวต่อว่าสำหรับประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ..... นั้น ตนสนับสนุนที่จะให้มีการชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และจัดให้มีการทำความเข้าใจในเนื้อหาของร่างกฎหมายก่อน เพราะขณะนี้สังคมมีความสับสนว่าจะเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเงินที่ถูกยึดจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทอย่างไรบ้าง ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเวทีคัดค้านนั้น ส่วนตัวมองว่าทางหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ควรเสนอร่างกฎหมายปรองดองเข้าสู่สภาฯ ให้พิจารณาด้วย
ศาลรธน.ขู่พท.ดึงดันเดินหน้าโหวตรธน.อาจเจอยุบพรรค
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการรับคำร้องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องรับคำร้องจากอัยการสูงสุด เท่านั้น ว่า เป็นการตีความของโฆษกพรรคเพื่อไทยเอง แต่ถ้าได้อ่านเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2555 จะชัดเจนว่า คณะตุลาการได้ตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้ว่า ประชาชนสามารถสามารถใช้สิทธิในเรื่องนี้ผ่าน 2 ช่องทาง คือผ่านทางอัยการสูงสุดและยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
"คำให้สัมภาษณ์ ของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้บอกชัดเจนแล้วว่า คณะตุลาการฯ เห็นว่า มีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณาเรื่องนี้ ก่อนที่คณะตุลาการจะมีหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ก็ได้มีการพูดคุยกันและพิจารณาแล้วว่า การชะลอการรับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งส่วนตัวเองเห็นว่า หากรัฐสภาเดินหน้าประชุมต่อ ก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะเกิดขึ้นอย่างที่ตุลาการได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้"
อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ว่า ถ้ามีการดำเนินการอย่างนั้นจริงศาลจะมีท่าทีอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่คิดว่าตุลาการฯ คงจะต้องมีการหารือกัน
นายพิมล กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเรื่องนี้ค่อนข้างเร็วว่า ส่วนตัวมองถึงสภาพแวดล้อมทางการเมือง และสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่า เรารอได้หรือไม่ และได้ชี้แจงไปก่อนแล้วว่า การใช้อำนาจของคณะตุลาการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นการใช้อำนาจในเชิงป้องกันไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งการรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของคณะตุลาการฯ รวมถึงต้องพิจารณาว่า เป็นไปตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดว่าเรื่องประเภทใดจะต้องพิจารณาจะรับหรือไม่รับภายในระยะเวลาเท่าใดนับแต่มีการยื่นคำร้องเข้ามา
ทั้งนี้ ปกติเมื่อเรื่องเข้ามายังสำนักงานฯ แล้วก็จะมีการแต่งตั้งตุลาการฯประจำคดี ว่าควรรับหรือไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย หากเห็นว่า สมควรรับ ก็ดำเนินการต่อ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับก็เสนอให้ที่ประชุมคณะตุลาการฯพิจารณา แต่ในกรณีคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และได้ให้ตุลาการทั้งหมดเป็นตุลาการประจำคดี คือทั้งองค์คณะช่วยกันพิจารณา ว่าจะรับหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ท่านเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ
"การพิจารณาลักษณะเช่นนี้ก็เคยทำในกรณีการพิจารณา พ.ร.ก. ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ และกรณีของขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่จะมีการประชุม คณะตุลาการฯ ก็จะมีการพูดคุยแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองทุกครั้ง"
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับเรื่องไว้พิจารณาของศาล ทำให้ถูกมองว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารเร็วขึ้นหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า คงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการที่เราจะดำเนินการอะไรก็ระมัดระวังอยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ไม่อยากให้ทหารเข้ามา
ขู่ ดึงดันเดินหน้าทำให้เสียหาย อาจถึงขั้นยุบพรรค
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สำหรับบทลงโทษกรณี หากประธานสภาไม่ฟังคำสั่งศาล ที่ออกคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาการลงมติในการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ไปก่อนจนกว่าศาลจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ ถึงแม้ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งก็ต้องผูกพันองค์กร ตามรัฐธรรมนูญของมาตรา 68 วรรคสาม ระบุ ว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ เนื่องจากเห็นว่า เห็นมีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมือง ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางล้มล้างได้
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า การที่เขาจะเดินหน้าต่อ บทลงโทษก็คงไม่มี แต่เมื่อแสดงพฤติการณ์ เจตนาจงใจฝ่าฝืน ศาลรัฐธรรมนูญคงไปห้ามไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจแสดงให้เห็นพฤติการณ์ว่า กำลังจะมีการพฤติการณ์ ส่อไปทางนั้นหรือไม่ ทั้งที่ศาลเองก็ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า การที่พ้น 15 วันไปแล้ว ไม่ลงวาระที่ 3 จะส่งผลเสียหายอะไร
"บ้านเมืองไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าดันทุรังทำไปบ้านเมืองเสียหายหรือไม่ อย่ามาตั้งโจทย์ว่าศาลจะไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ" แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ