ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ย (ตอนที่ 1)
โดย : รัญชนา พงศาปาน
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพคล่องดูจะเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ บางครั้งมีคำถามว่าแบงก์ชาติดูดสภาพคล่องมากเกินไป
จนทำให้สภาพคล่องในระบบมีไม่เพียงพอ และอาจเป็นสาเหตุให้ต้นทุนในการกู้ยืมปรับสูงขึ้นหรือไม่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพคล่องและบทบาทของแบงก์ชาติในการบริหารสภาพคล่อง รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย
ก่อนอื่น เราคงต้องให้คำนิยามที่ชัดเจนกับสภาพคล่อง ในทางเศรษฐศาสตร์ สภาพคล่องมีหลายนิยาม ทั้งสภาพคล่องในนิยามที่แคบที่สุด คือ เงินสดหมุนเวียนและเงินฝากของสถาบันการเงินที่แบงก์ชาติ (หรือที่เรียกว่า ฐานเงิน) ไปจนถึงสภาพคล่องในนิยามที่กว้าง คือ เงินสดหมุนเวียนและเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน (หรือที่เรียกว่า ปริมาณเงิน) ทั้งนี้ สภาพคล่องที่แบงก์ชาติสามารถบริหารจัดการได้โดยตรงคือฐานเงิน โดยมีหน้าที่บริหารสภาพคล่องดังกล่าวให้อยู่ในสมดุล เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยตลาดระยะสั้นเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด ซึ่งระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว กนง. ได้ประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น และจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงหรือซบเซาจนเกินไปในระยะข้างหน้า รวมทั้งช่วยดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย สำหรับสภาพคล่องอีกนิยามที่เป็นที่สนใจและกระทบเศรษฐกิจโดยตรง ก็คือ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดครั้งต่อไป
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุปสงค์ของสภาพคล่อง (ฐานเงิน) ขยายตัวไม่ทันอุปทานของสภาพคล่อง ส่งผลให้เกิดภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน และแบงก์ชาติต้องดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนั้น เพื่อช่วยปรับสมดุล อุปสงค์ของสภาพคล่องขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจ จากความต้องการใช้สภาพคล่องของภาคเอกชน (ทั้งประชาชนและสถาบันการเงิน) ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2554 ในขณะเดียวกัน อุปทานสภาพคล่องก็เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจาก 1. การเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศของแบงก์ชาติ (คือ การขายเงินบาท หรือเพิ่มสภาพคล่องเงินบาทในระบบ) เพื่อดูแลค่าเงินมิให้ผันผวนมากเกินไปจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และ 2. การใช้จ่ายของภาครัฐสุทธิ ที่ช่วยเพิ่มอุปทานสภาพคล่องในระบบอีกทางหนึ่ง หากแบงก์ชาติไม่ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนประมาณ 5 แสนล้านบาทนี้ ออกไปจากระบบ ก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะไปกระตุ้นการบริโภค การลงทุน มากเกินพอดี ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงและอาจสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้ง asset price bubble ได้ ดังนั้น การดูดสภาพคล่องของแบงก์ชาติจะไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป เนื่องจากเป็นเพียงการปรับสมดุลให้อุปทานเท่ากับอุปสงค์ของสภาพคล่องเท่านั้น ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา แบงก์ชาติกลับเป็นฝ่ายปล่อยสภาพคล่องสุทธิเข้าไปในระบบ เนื่องจากอุปทานของสภาพคล่องปรับลดลงจากการออกพันธบัตรของรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่อุปสงค์กลับปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง จากความต้องการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล แบงก์ชาติจึงต้องเพิ่มอุปทานสภาพคล่องในระบบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อรองรับอุปสงค์สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น
ในการสร้างสมดุลให้กับสภาพคล่อง แบงก์ชาติจะดำเนินการในตลาดการเงิน ผ่านเครื่องมือหลักๆ คือ การออกพันธบัตร ธปท. การดำเนินการผ่านหน้าต่างซื้อคืนพันธบัตร (Bilateral Repo : BRP) และ ตลาด SWAP นอกจากนี้ ยังมีหน้าต่างตั้งรับ (Standing Facilities) ให้สถาบันการเงินสามารถลงทุน (โดยการฝากเงิน) และกู้ยืมระยะ 1 วัน เพื่อปรับสภาพคล่อง ณ สิ้นวันกับ ธปท. ได้ สำหรับการจัดสรรเครื่องมือบริหารสภาพคล่อง แบงก์ชาติจะประเมินและประมาณการสภาพคล่องและภาวะตลาด รวมทั้งคำนึงถึงการพัฒนาตลาด (โดยร่วมมือกับกระทรวงการคลัง) ทั้งนี้ ในการบริหารสภาพคล่อง 1. ผ่านการออกพันธบัตร ธปท. แบงก์ชาติจะประกาศแผนการออกพันธบัตรล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ร่วมตลาดสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม 2. ผ่านหน้าต่าง BRP โดยการดูด/ปล่อยสภาพคล่องทุกวัน ผ่านคู่ค้าของ ธปท. (BRP Primary Dealers) และ 3. ผ่านตลาด FX swap โดยดำเนินการในลักษณะ Over-the-Counter (OTC) ณ ปัจจุบัน ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. มีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของเครื่องมือบริหารสภาพคล่องทั้งหมด ส่วนหนึ่งเนื่องจากแบงก์ชาติใช้พันธบัตร ธปท. เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในการดำเนินการในตลาดการเงิน สถาบันการเงินจะเป็นผู้เสนอปริมาณและอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเลือกช่องทางในการลงทุน/กู้ยืม ในขณะที่แบงก์ชาติจะกำหนดวงเงินพันธบัตร ธปท. ที่ออกขาย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน (ยกเว้นธุรกรรม BRP ระยะ 1 วัน ที่ ธปท. จะทำที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น) จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยตลาด (market-determined) และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย term และ liquidity premium เป็นต้น โดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะข้ามคืน จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.00) แต่สำหรับอัตราดอกเบี้ยตลาดระยะอื่นๆ ที่ยาวกว่า 1 วัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 6 เดือนอยู่ที่ ร้อยละ 3.24 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีก 6 เดือนข้างหน้า
หากแบงก์ชาติดูดสภาพคล่องมากเกินไปจริง อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น ควรจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น หากสภาพคล่องมีไม่เพียงพอ สถาบันการเงินจะต้องหาสภาพคล่องโดยการกู้ยืมจากตลาดการเงิน ซึ่งจะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับสูงขึ้น แต่จากข้อมูลล่าสุด อัตราดอกเบี้ยในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะข้ามคืน (Overnight interbank market rate) และอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชน ระยะข้ามคืน (Overnight Private Repo) อยู่ที่ร้อยละ 2.94 และ 3.00 ตามลำดับ ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราสามารถตอบคำถามในประเด็นสภาพคล่องได้ดังนี้ คือ แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลอุปทานสภาพคล่อง (ฐานเงิน) ให้อยู่ในระดับที่สมดุลกับความต้องการสภาพคล่อง จึงดูดสภาพคล่องเฉพาะในส่วนที่เกินกว่าความต้องการเท่านั้นเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยตลาดระยะสั้นเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด ไม่ได้ดูดมากเกินไป นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยตลาด สำหรับครั้งต่อไป จะอธิบายถึงสภาพคล่องในนิยามกว้าง และปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนในการกู้ยืมของภาครัฐและเอกชน
บทความนี้ เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน