จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดแผนรัฐเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติยุโรป ชูแนวคิดตั้งกองทุนพยุงหุ้น-ใช้เงินคงคลัง 5.5 แสนล้าน อัดฉีดสภาพคล่อง พร้อมให้ธปท.ปล่อยสภาพคล่องกดดบ.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมพร้อม ทั้งด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่จะเข้าไปดูแลกรณีที่เศรษฐกิจไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้น แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าไทยจะได้รับผลกระทบดังกล่าว จนไม่สามารถที่จะบริหารเศรษฐกิจตามเป้าหมาย
"เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าจะได้รับผลกระทบทำไม่ได้ตามเป้า นอกจากข้อกังวลจากคนภายนอกหรือนักวิชาการ ทั้งเรื่องส่งออกหรือจีดีพี ซึ่งยังยืนยันเป้าหมายส่งออกไว้ที่ 15% และ เชื่อว่า จีดีพีปีนี้จะโตได้ที่ 5.5-6.5%"
กระทรวงการคลัง ได้เตรียมการมานานแล้วในเรื่องของแผนรองรับ ยกตัวอย่าง เรื่องการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ความเป็นจริงก็คือ ได้เตรียมการมานานแล้ว โดยทาบทามผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่เคยร่วมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในอดีต เพื่อร่วมลงขันในการจัดตั้ง กรณีที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นรุนแรง ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่า เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวจริง ทางการก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล
"ถามได้เลยผู้บริหารสถาบัน ที่เคยร่วมจัดตั้งกองทุนที่ดูแลเรื่องหุ้นในอดีต ทุกคนถูกทาบทามเงียบๆ มาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว และทุกคนก็ไปทบทวนวิธีการขออนุมัติวงเงินลงขัน ก็จะใช้เวลาไม่กี่วันถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ฉะนั้น จะไม่เกิดภาวะที่เรียกว่าหุ้นตกแรงมาเป็นเวลานานเดือนๆ แล้ว แต่ไม่มีใครมาดูแล เอาเป็นว่า ถ้าหุ้นอ่อนตัวลงอย่างไม่สมควร ก็จะมีกองทุนพยุงหุ้นที่มีขนาดใหญ่โตมาซื้อแน่ๆ แค่เป่านกหวีดก็มาแล้ว ทำไมถึงเชื่อ ก็เพราะมันดีกับส่วนรวมและก่อให้เกิดกำไรกับกองทุน สุดท้ายถ้ากองทุนกำไรไปก็อย่าไปว่าเขานะ"
@ใช้เงินคงคลังอัดฉีดสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะระดับของเงินคงคลัง ปัจจุบันมีจำนวน 5.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความผันผวนและปัญหาการขาดสภาพคล่อง ขณะเดียวกัน ก็ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ปล่อยสภาพคล่องเข้ามาในระบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย
"เครื่องมือทางการคลังเรามีมาก เช่น เงินคงคลังมีสูงถึง 5.5 แสนล้านบาท ถามว่า ทำไมต้องสูง ก็ถ้าเกิดความผันผวน ขณะที่ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็พร้อมที่จะสนับสนุน ทั้งที่เราเชื่อว่า สภาพคล่องในระบบมีอยู่มากก็ตาม แต่ก็ต้องพร้อมเป็นพิเศษ ถ้าผมจะบริหารด้วยประสิทธิภาพ เพื่อประหยัดดอกเบี้ย ก็สามารถปล่อยให้เงินคงคลังต่ำกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น 4 แสนล้านบาทหรือต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ก็ยังถือว่าไม่มีอันตราย แต่ทำไมต้องสั่งให้กรมบัญชีกลางและสำนักบริหารหนี้ หรือ สบน. ต้องดูแลเงินตรงนี้ ก็เพื่อความปลอดภัย ก็แอบทำมาหลายเดือน"
@สั่ง ธปท.ปล่อยสภาพคล่องกดดอกเบี้ย
ในแง่การดูแลสภาพคล่องในระบบ นายกิตติรัตน์ เผยว่า ขณะนี้ ภาคเอกชน หรือสถาบันการเงิน มีความต้องการที่จะเตรียมพร้อมด้านสภาพคล่อง ขณะที่ ธปท.มีหน้าที่ดูแลสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบถึง 4 ล้านล้านบาท แต่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดกลับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงได้สั่งการให้ธปท.ปล่อยสภาพคล่องที่ได้ดูดซับเข้าไปออกมาสู่ตลาดมากขึ้น
"ได้พูดจากันแล้วกับแบงก์ชาติเรื่องสภาพคล่อง เพราะบางหน่วยงานเขาต้องการเพิ่มสภาพคล่อง แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลก็ต้องประเมินสิ่งเหล่านี้ เวลานี้สิ่งสำคัญที่สุด คือเสถียรภาพ ขณะที่บางเวลา คือ เรื่องของประสิทธิภาพ ผมไม่ได้ตระหนกที่จะทำ แต่ทำมานานแล้ว และคิดว่าแบงก์เอกชนก็ไม่ได้ตระหนก แต่ก็แอบทำมานานแล้วเช่นกัน"
@ลั่นรัฐบาลพร้อมรับมือวิกฤติ
นายกิตติรัตน์ ยังเชื่อว่า แม้ภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าการค้าขายระหว่างประเทศในอาเซียน จะช่วยพยุงให้การส่งออกไม่ลดลงมากนัก ซึ่งจากประสบการณ์ในอดีต จะไม่ทำให้เกิดปัญหาการลดคนงาน เพราะเมื่อลดคนงานแล้วจะให้กลับมาทำงานอีกเป็นเรื่องยาก
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าสถานะทางการเงินของประเทศเข้มแข็งมาก จึงไม่มีอะไรน่าวิตกขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ
"จากการทำงานของรัฐบาล เราก็ต้องบอกว่ามีการเตรียมความพร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ใช้ชีวิตตามปกติไม่ต้องถึงขนาดเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก"นายกิตติรัตน์ กล่าว
@ยันไม่มีแผนใช้เงินทุนสำรอง
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีแนวคิดในการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ในการลงทุนด้านต่างๆ แม้ว่าจะมีหลายโครงการที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต แต่ก็มีวิธีการอื่นๆ ที่จะหางบประมาณมาใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด
เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีแนวคิดในเรื่องการนำเอาทุนสำรองมาใช้ในการลงทุน เป็นความคิดส่วนบุคคลของบางคนเท่านั้น แต่เชื่อว่าการเอาเงินทุนสำรองมาใช้ยังไม่มีความชัดเจนว่าประโยชน์จะเกิดกับประเทศได้อย่างไร อย่างไรก็ตามการนำเงินในส่วนนั้นมาลงทุนอาจเป็นประโยชน์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ในระยะสั้น
"แนวคิดที่เอาทุนสำรองมาใช้ไม่ใช่แนวคิดของรัฐบาล เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็น และผมก็ยังไม่เห็นว่าจะเอาทุนสำรองมาใช้ได้ด้วยวิธีใด การเอาทุนสำรองมาลงทุนก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อแบงก์ชาติมากที่สุด เนื่องจากการเอาเงินมาลงทุนทำให้แบงก์ชาติมีฐานะทางการเงินมั่นคงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องดีแต่คงไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ในระยะสั้นๆ” นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบัน ธปท.มีหนี้ที่เป็นพันธบัตรในอัตราที่สูงมาก โดยมากกว่าอัตราที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ซึ่งภาระดอกเบี้ยที่ ธปท.จะต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้ถือพันธบัตรในแต่ละปีก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี
ดังนั้น ธปท.อาจจะใช้วิธีการออกพันธบัตรระยะสั้นเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หรือวิธีการอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่า คณะกรรมการของ ธปท.น่าจะกำลังพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ ธปท.ออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรกู้เงินจำนวนมากมาใช้ในการลงทุน ตนก็อยากขอให้เข้าใจด้วยว่าการกู้เงินของรัฐบาลมีความจำเป็น เพราะนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามความจำเป็น
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย มียอดคงค้างพันธบัตร ทั้งสิ้นประมาณ 2,913,387.01 ล้านบาท ขณะที่ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 6,048,448.76 ล้านบาท ส่วนเงินทุนสำรองของประเทศ ณ เดือนมิ.ย. 2555 อยู่ที่ 2,193,976,726,316 บาท แบ่งเป็น เงินตราต่างประเทศ 123,664,747,828 บาท ทองคำมูลค่า 245,211,286,081 บาท หลักทรัพย์รัฐบาลไทยและหลักทรัพย์ต่างประเทศ 1,817,960,834,743 บาท ตั๋วเงิน - ทองคำ และ สินทรัพย์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ สินทรัพย์อื่น รวม 7,139,857,664 บาท
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน