จากประชาชาติธุรกิจ
ยังไม่มีอะไรคืบหน้าสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ของกลุ่มประเทศยุโรป ที่ยังเป็นเหมือนกับดักระเบิดคอยปะทุเป็นจุดจุด
แม้ประเทศที่อาการหนักอย่างกรีซจะผ่านจุดโคม่า ที่หลายคนคลายกังวลว่าจะต้องออกจากกลุ่มยุโรปไปแล้ว จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะรัฐบาลของกรีซต้องดำเนินนโยบายแก้ปัญหาอีกหลายเรื่อง ขณะที่อีกหลายประเทศในกลุ่มยุโรปยังมีภาวะเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น
หลังจากกรีซเริ่มมีแนวทางของตัวเองชัดเจนขึ้น ปัญหาใหม่เริ่มลามมาถึงประเทศสเปน ซึ่งต่างจากกรีซ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่อ่อนแอลง จากผลกระทบเมื่อครั้งวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาในปี 2551
แม้ที่ผ่านมาธนาคารของประเทศสเปนจะพยายามไม่ปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยง เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เป็นผลดีนัก เพราะระยะหลังธนาคารของประเทศสเปน ก็ประสบกับการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
จนเป็นที่มาของการขอกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปในการอัดฉีดสภาพคล่องกว่า 1 แสนล้านยูโร หรือ 4 แสนล้านบาทไทย
ซึ่งปัญหาของยุโรปก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะจบลงที่ใด เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นว่าใครจะเป็นรายสุดท้ายของปัญหา
และยังลามไปถึงประเทศไซปรัส เพื่อนบ้านของกรีซ ที่ยื่นขอความช่วยเหลือเงินกู้จากกองทุนรักษาเสถียรภาพในยุโรป เป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มยูโรโซนที่ขอความช่วยเหลือ ตามหลังสเปน, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส และกรีซ
ขณะที่ภาคการเงินของประเทศสเปนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเครดิต ที่ถูกมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ประกาศปรับลดความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินในสเปนถึง 28 แห่ง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของธนาคารสเปน
เพราะธนาคารเหล่านี้เผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน 15 ธนาคารใหญ่ของโลกก็ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเช่นกัน
นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานใน ครม. ครั้งล่าสุดว่า ขณะนี้วิกฤตการเงินในยูโรโซน จะส่งผลกระทบมาถึงไทยในไม่ช้า ซึ่งมีข้อมูลเชื่อมโยงและคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์อาจคืบคลานเข้าใกล้ประเทศ ไทยมากขึ้นทุกขณะ
ทั้งนี้ จากวิกฤตยูโรนั้นส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการ ส่งออกและการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไทยมีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับทางยูโรไม่มาก และสถาบันทางการเงินมีสภาพคล่องดี
หากปัญหามีความรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศได้ ตลาดการเงินของประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการไหลเข้าไหลออกของเงินในตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงไม่รุนแรง
จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเข้าร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทั้ง 9 กระทรวง ซึ่งจะมีการรายงานอย่างใกล้ชิดต่อไป
ย้อน กลับมาดูภาคสถาบันการเงินในประเทศไทย หลายหน่วยงานออกมาพูดเสียงแข็งตรงกันว่า แม้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตครั้งนี้มากนัก เพราะไม่มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหา
ขณะที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบัน อยู่สูงถึง 15.3% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ 8.5% ดังนั้น เงินกองทุนที่เพียงพอในระบบธนาคารน่าจะเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจ เกิดขึ้นจากการลงทุนต่างประเทศได้
จากตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานไว้ว่าสถาบันการเงินของไทยมีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศใน กลุ่มยุโรปเพียง 17% ต่อเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด น้อยกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศอินโดนีเชียที่มีสัดส่วนหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยุโรป 19.3% ต่อเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด ประเทศไทยอาจจะยังห่างไกลจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
แต่การเติบโตภายในประเทศของสถาบันการเงินกลับหวือหวา เมื่อความร้อนแรงของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี ยังไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนแรงลง
ซึ่งมีแรงหนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวจากน้ำท่วม นโยบายในการกระตุ้นของรัฐบาล เช่น เรื่องรถยนต์คันแรก และมีความต้องการของสินเชื่อของบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยระดมทุนผ่านธนาคารต่าง ชาติ
แต่ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นเช่นนี้ ทำให้ต้องหันมาพึ่งสถาบันการเงินในประเทศ เพราะธนาคารต่างประเทศไม่มีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับ 3% ซึ่งนับว่าไม่สูงมาก ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้สินเชื่อเติบโตได้ในระดับสูง และส่งผลให้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัว
บรรดาธนาคารพาณิชย์ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยโกยเงินฝากเสริมสภาพคล่องรับการเติบ โตทางสินเชื่อ ภาวะการแข่งขันทางเงินฝากจึงกลับมาเร่งเครื่องอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การตึงตัวของสภาพคล่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การส่งสัญญาณว่าสภาพคล่องในระบบจะมีปัญหา เพราะเป็นเพียงการลดลงของสภาพคล่องส่วนเกินที่เคยมีท่วมท้นเท่านั้น
แต่ก็เพียงพอที่จะสร้างความท้าทายในการจัดการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร พาณิชย์ ควบคู่ไปกับการจัดการด้านความเสี่ยงจากสินเชื่อที่ร้อนแรง รวมทั้งยังมีปัจจัยจากวิกฤตยุโรป ที่รุมเร้าให้ต้องตระหนักและระวังตัวมากขึ้น
แม้สถาบันการเงินของประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่ง แต่ความเจ็บปวดในอดีต เมื่อปี 2540 ยังเหมือนแผลเป็นที่เตือนใจได้เป็นอย่างดี
และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือเรื่องปัจจัยด้านดอกเบี้ย ที่ภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ การปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้จึงดูสนุกสนานสำหรับเหล่าสถาบันการเงิน
ประเทศ ไทยในปัจจุบันเริ่มชาชินกับอัตราดอกเบี้ยต่ำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครพูดถึง ซึ่งภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำนานเกินไปก็ไม่ดีนักต่อความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
โดย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด แสดงความเห็น ในงานของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ใช้นโยบายพิมพ์เงินเพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ โดยพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5-1.6% ต่ำที่สุดในรอบ 200 ปี แต่ถ้าดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ จะทำให้มีภาระหนี้เพิ่มทันที
เมื่อถึงตอนนั้น ภาระหนี้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
แม้ว่าภาระหนี้ปัจจุบันของไทยมองแล้วยังไม่มีปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดอกเบี้ยต่ำ แต่อนาคตจะเป็นเช่นไร ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย "บัณฑูร ล่ำซำ" ได้ย้ำสติภาคสถาบันการเงินเอาไว้ว่า "จงอย่าทำเป็นลืมเรื่องในอดีตว่าเคยเกิดอะไรกับสถาบันการเงินของไทย ในปี 2540 แม้ว่าหลายคนในตอนนี้จะเสียงแข็งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวิกฤตในยุโรปจะ ไม่ซ้ำรอยเดิม แต่อย่าทำเป็นลืมความเจ็บปวดในอดีตว่ากว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ยากเย็น เพียงไหน"
สถาบันการเงินเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่ภาคการเงินต้องทำในตอนนี้คือ รักษาความแข็งแกร่งของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
ณ ตอนนี้ผลกระทบจากยุโรป เหมือนลมพายุลูกโตที่เศรษฐกิจของไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ภาวะพายุลูกใหญ่ที่แปรปรวน
ดังนั้น ความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่นำพาเศรษฐกิจไทยผ่านไปได้จนถึงฝั่งอย่างปลอดภัย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน