สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธปท.จัดแผน สกัดเงินทุนป่วนบาท

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

นับแต่เหตุการณ์วิกฤตหนี้เสียของสหภาพยุโรป (อียู) ปะทุขึ้นในเดือน พ.ค. ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ค่าเงินผันผวนหนักจากการไหลเข้าและออกของเงินทุนต่างชาติอย่างรวดเร็ว

สำหรับไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดุลบัญชีเงินทุนและเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิในเดือน พ.ค. 2,830 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายในครั้งแรกของรอบปี 2555 หลังจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่อง

เงินทุนไหลออกสุทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินเชื่อการค้า และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ตามความเสี่ยงของ เศรษฐกิจกลุ่มยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น

แต่ถัดมาอีกเพียงเดือนเดียว เงินที่ไหลออกไปก็ไหลปรี๊ดกลับเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว โดย อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทย โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มียอดซื้อสุทธิ 9.8 หมื่นล้านบาท และ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. มียอดถือครองสุทธิอยู่ที่ 6.04 แสนล้านบาท

“นักลงทุนกังวลจึงขายเงินลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน พ.ค. แต่ก็มีแรงซื้อในส่วนอายุสั้น ทำให้ทั้งเดือนยังมียอดซื้อสุทธิอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

 

เมื่อเงินทุนไหลเข้าออกรวดเร็วขนาดนี้ การกำหนดดอกเบี้ยหรือการคาดเดาอัตราแลกเปลี่ยนจึงทำได้ยากมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเงินจะมา เงินจะไปเมื่อไหร่ และปัจจัยต่างประเทศเองก็เปลี่ยนเป็นรายวัน ทำให้ทั้งผู้นำเข้าและส่งออกปวดหัวไปตามๆ กัน

การเตรียมรับมือความปั่นป่วนของตลาดเงินในขณะนี้ หนักไปทางการดำเนินนโยบายทางการเงินเข้าไปช่วย บทบาทของ ธปท.จึงโดดเด่นอีกครั้งในช่วงนี้ และมีการออกมาตรการรับมือเงินไหลออกเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

มาตรการเบาที่สุดที่ ธปท.ใช้ก่อน คือ ธปท.ตัดสินใจชะลอประกาศใช้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่าง เป็นทางการแล้ว จากก่อนหน้าที่วางแผนจะนำมาใช้ในช่วงไตรมาส 2 หรือไม่เกินต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ จากเดิมที่ได้เตรียมนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.ค.นี้ รวมถึงการชะลอการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเงินออกนอกประเทศของบุคคลธรรมดาและ นิติบุคคล ถือเป็นแผนระยะแรกในแผนแม่บทดังกล่าว

มาตรการถัดมา ธปท.ก็ทบทวนระยะเวลาในการผ่อนคลายการนำเงินออกจากประเทศอีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ในขณะนี้ตลาดเงินโลกค่อนข้างผันผวน และในระยะต่อไปหากสถานการณ์ในยุโรปร้ายแรงขึ้น จึงมีโอกาสที่นักลงทุนทั่วโลกจะย้ายเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อถือเงินเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงและมีสภาพคล่องสูง อาจจะส่งผลให้มีเงินไหลออกจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยได้

ธปท.ยังได้ทำหนังสือเวียน ธปท. เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งถึงนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐทุกแห่ง ที่เปิดให้ผู้ที่ซื้อขายทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ห้ามซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ หากการซื้อขายทองคำนั้นไม่ได้มีการส่งมอบจริง เพราะทำให้ ธปท.ไม่สามารถเห็นปริมาณเงินที่ไหลเข้าออกที่แท้จริงได้ เพราะมีธุรกรรมนี้ผสมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกันมีแผนที่จะสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ไทยดูแลลูกค้าและผู้ ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นจากผู้นำเข้า ซึ่งเป็นอียู และทำหน้าที่แนะนำและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ลูกค้าเพิ่ม

รวมถึงเตรียมมาตรการในการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ไทย สามารถกระจายความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนในต่างประเทศ และการให้สินเชื่อเป็นเงินตราต่างประเทศให้ดีขึ้นด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและออกมาตรการเพิ่มเติม

สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทในการดูแล คือ การที่คลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากบัญชีละ 50 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค. 2555 และเริ่มคุ้มครองบัญชีละ 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2555 เป็นต้นไป

การขยายเวลานอกจากแก้ไขปัญหาการแข่งขันไม่เป็นธรรมระหว่างธนาคารของรัฐ และเอกชนแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยังมีความอ่อนไหว จึงจำเป็นต้องให้ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินและลดการ เคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน

นั่นคือ มาตรการรับมือเงินทุนไหลออกของ ธปท.ที่ได้ดำเนินการแล้ว และถือว่าเป็นมาตรการที่ไม่รุนแรงจนตลาดป่วน และมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนมากนัก

ปัจจุบันมีบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองไม่เกิน 50 ล้านบาทอยู่ประมาณ 60.21 ล้านราย คิดเป็น 99.98% ของฐานเงินฝากทั้งหมด และครอบคลุมฐานเงินฝากจำนวน 5.21 ล้านล้านบาท หรือ 68.86% ของฐานเงินฝากทั้งหมด แต่ถ้าลดเหลือการคุ้มครอง 1 ล้านบาท ต่อบัญชี จะครอบคลุมผู้ฝากลด ลงเป็น 59.53 ล้านราย หรือ 98.42% ของผู้ฝากทั้งหมด แต่ครอบคลุมฐานเงินฝาก 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 23.57% ของทั้งหมด

แถมยังทำให้นักลงทุนขนเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรของไทยมากขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นทั้งส่วนดีและไม่ดี หากมีการนำเอาเงินสกุลที่มีต้นทุนต่ำ เช่น เงินสกุลยูโรที่อ่อนค่าลง เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอเข้ามาลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูง และหากมีการผสมเก็งกำไรค่าเงินก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนอีก

ฉะนั้น มาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาทของ ธปท.จากนี้ไป จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ หากมีสัญญาณผิดปกติ จะได้เห็นมาตรการเสริมของ ธปท.อีกแน่นอน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธปท.จัดแผน สกัดเงินทุนป่วนบาท

view