ช็อกโกแลตกับความ 'หวาน-ขม' นานาชาติ
โดย : วลัญช์ สุภากร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การเดินทางของ "ช็อกโกแลต" จากเครื่องดื่มของชาวมายาสู่ยุโรป ขั้นตอนแปรเมล็ดโกโก้เป็นช็อกโกแลต ความแตกต่างของช็อกโกแลตในแต่ละประเทศ
ชาว มายา (Maya) เป็นชนเผ่าแรกในโลกที่ค้นพบ ช็อกโกแลต (Chocolate) ต่อมาชาวยุโรปเป็นผู้รับช่วงในการทำให้ช็อกโกแลตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แม้กระทั่งญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่เลือดรักชาติแห่งเอเชียก็ยอมรับช็อกโกแลต สร้างธรรมเนียมใหม่ให้คนในชาติด้วยการริเริ่มมอบ 'ช็อกโกแลต' แทนคำตอบรักหลังได้รับของขวัญวันวาเลนไทน์
ตามประวัติศาสตร์ของชาวมายาและอารยธรรมแอซเทค (Aztec)แห่งอเมริกาใต้ นานก่อนที่ชาวยุโรปค้นพบอเมริกา ชาวมายาและชาวแอซเทคกินช็อกโกแลตในรูปของเครื่องดื่มกันแล้ว หนึ่งพันห้าร้อยปีก่อนคริสตกาลชาวมายาและแอซเทคเชื่อว่าผลจากต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พวกเขาใช้ทำเครื่องดื่ม คือของขวัญจากเทพเจ้าที่พวกเขาเคารพ เทพองค์นั้นชื่อ เคทซัลโคโอ (Quetzalcoatl) จึงตั้งชื่อผลจากต้นไม้ชนิดนั้นตามชื่อเทพเจ้าว่า คาเคา (Cocoa ออกเสียงตามภาษาไทยว่า "โกโก้") เครื่องดื่มที่ทำจากผล 'คาเคา' นี้ก็คือช็อกโกแลตนั่นเอง มร.ฌอง หลุยส์ เกรนดอร์จ (Mr.Jean-Louis Graindorge) กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช็อกโกแลต
จากประวัติศาสตร์ ทุกคนทราบกันดี 'คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส' นักสำรวจชาวอิตาเลียนคือผู้ค้นพบอเมริกา แต่ตอนนั้นเขายังไม่เข้าใจและไม่รู้คุณค่าของโกโก้ จนกระทั่งอีก 5-6 ปีต่อมา มร.เออร์นัน คอร์เตช (Hernan Cortez) นักสำรวจชาวสเปน ได้กลับไปยังดินแดนนั้นอีกครั้งในฐานะตัวแทนกษัตริย์สเปนที่พิชิตชาวแอซเทคเหนือดินแดนอเมริกา บังเอิญ มร.คอร์เตซมีรูปลักษณ์เหมือนเทพเจ้าที่เคยประทานเมล็ดโกโก้ให้ชาวมายา ซึ่งชาวมายาบันทึกว่าเทพองค์นี้จะกลับชาติมาเกิดใหม่ในรูปลักษณ์ร่างกายเป็นมันเลื่อมคล้ายงูและปกคลุมด้วยขนสัตว์ คอร์เตซสวมชุดเกราะและมีขนนกที่ศีรษะ ทำให้ชาวแอซเทคแสดงพิธีกรรมและปฏิบัติต่อเขาราวเทพ หนึ่งในพิธีกรรมทำให้คอร์เตซมีโอกาสลิ้มรสเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดโกโก้ ซึ่งเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นพิธีกรรมการดื่มเฉพาะกษัตริย์ นักรบ บุคคลในแวดวงชั้นสูงของชาวแอซเทค เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง ทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถออกล่าสัตว์ได้ทั้งวัน จึงกลายเป็นคอร์เตซที่เป็นผู้นำโกโก้มาให้ยุโรปรู้จัก
หลักฐานความสำคัญของโกโก้ สามารถหาได้ตามหลักฐานโบราณวัตถุสำคัญมากมาย เช่น ภาพเขียนเทพเจ้าที่ในมือถือผลโกโก้ ภาพวาดกษัตริย์ขณะทรงสนทนากับข้าราชบริพาร ก็มีการแทรกภาพโกโก้ไว้ในภาพเขียน รวมทั้งลวดลายบนภาชนะดินเผา เวลานั้นผลโกโก้มีค่าเทียบเท่ากับ 'เงิน' ผลโกโก้ 100 ผลแลกทาสได้หนึ่งคน
แต่กว่ายุโรปจะรู้จักเมล็ดโกโก้และชิมรสเครื่องดื่มที่น่าหลงใหลชนิดนี้ก็อีก 100 ปีถัดมาหลังจากคอร์เตซนำเมล็ดโกโก้ออกจากดินแดนแอซเทคกลับสู่สเปน เนื่องจากรสชาติอันเลอเลิศ กษัตริย์สเปนทรงเก็บความลับเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดโกโก้ไว้เฉพาะภายในราชวงศ์ของพระองค์
ประเทศต่อมาที่รู้จักเครื่องดื่มชนิดนี้คือ ฝรั่งเศส เมื่อกษัตริย์สเปนทรงนำผลโกโก้ถวายเป็นของขวัญในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ช็อกโกแลตในรูปเครื่องดื่มแพร่ไปทั่วยุโรป ชนชั้นสูงในยุโรปตอบรับรสชาติเครื่องดื่มชนิดใหม่นี้ทันที
อย่างไรก็ตาม รสชาติเครื่องดื่มช็อกโกแลตแบบดั้งเดิมมีความเข้มข้นมาก รสหนักและค่อนข้างขม แต่เมื่อเครื่องดื่มชนิดนี้แพร่กระจายออกไป ทำให้มีการเริ่มลองเติมเครื่องเทศลงไปเพื่อปรับแต่งรสชาติ จนกระทั่งมีการเติม น้ำตาลทราย ความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ก็พุ่งขึ้นสูงสุด กลายเป็นกระแสแฟชั่นในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูงในแต่ละประเทศทั่วยุโรปที่ต้องจัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการดื่มช็อกโกแลต หรือไม่ก็ถ่ายภาพตนเองคู่กับเครื่องดื่มชนิดนี้ แต่ถึงกระนั้น การดื่มช็อกโกแลตก็ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มสังคมชั้นสูง
จนล่วงเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 มีการคิดค้นและพัฒนา เครื่องจักร เพื่อผลิตสินค้าให้ได้คราวละจำนวนมากๆ และ ช็อกโกแลต ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเป้าหมาย นับจากนั้นประชาชนทั่วไปก็สามารถซื้อหาช็อกโกแลตได้สะดวกขึ้น ทุกวันนี้ 'ช็อกโกแลต' เป็นของหวานที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมหาศาลทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออก
มร.ฌอง หลุยส์ เกรนดอร์จ เล่าประวัติช็อกโกแลตไว้ในงานเวิร์คชอป The Chocolate Master Class by NEW MAGNUM ก่อนจะไขข้อสงสัยที่ว่าทำไมช็อกโกแลตเบลเยียมจึงดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไอศกรีมแม็กนั่มใหม่ (New Magnum) เลือกใช้ช็อกโกแลตเบลเยียมในการผลิต
ขั้นตอนการผลิตโกโก้เพื่อทำช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตที่มีคุณภาพดี ได้จากเมล็ดโกโก้ที่ผ่านขั้นตอนการผลิตอย่างพิถีพิถันและมีความชำนาญในทุกขั้นตอน มร.เกรนดอร์จ กล่าว
หลังจากเก็บผลโกโก้สดมาแล้ว เกษตรกรจะเปิดผลโกโก้ออกเพื่อ บ่มเมล็ดโกโก้ (Fermentation) โดยนำเมล็ดโกโก้พร้อมเยื่อหุ้มเก็บไว้ในถังขนาดใหญ่ รอจนเยื่อหุ้มเมล็ดแห้งเป็นสีน้ำตาล มักกินเวลาราว 2-7 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โกโก้ ช่วงเวลานี้เองที่เมล็ดโกโก้จะสร้างรสชาติของช็อกโกแลตขึ้นในตัวเอง ขั้นตอนการบ่มนี้สำคัญมาก เมล็ดโกโก้ที่ไม่ผ่านการบ่มจะไม่สร้างรสชาติและกลิ่นหอมของช็อกโกแลต หากบ่มไม่ดี รสชาติช็อกโกแลตก็จะเสียไปเช่นเดียวกับไวน์
จากนั้นนำเมล็ดโกโก้ที่บ่มได้ที่แล้วออก ตากแดดเพื่อทำให้แห้ง (Drying) ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ช่วงเวลานี้เมล็ดโกโก้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น ได้กลิ่นหอมจนสังเกตได้ และสะดวกในการทำความสะอาดก่อนส่งให้โรงงานผลิตช็อกโกแลต ซึ่งจะนำเมล็ดโกโก้ได้ที่ไป คั่วด้วยความร้อน (Roasted) เพื่อพัฒนาความหอมและรสชาติช็อกโกแลตเป็นขั้นตอนสุดท้าย ต้องใช้ความชำนาญในการคั่ว หากคั่วนานเกินไปจะทำให้รสชาติโกโก้จางหายไป หากคั่วน้อยเกินไปเมล็ดโกโก้ก็จะให้รสชาติและกลิ่นแบบเหม็นเขียว หากบ่มและตากแห้งเมล็ดโกโก้ไม่ดี ไม่ว่าจะคั่วอย่างไรก็ได้โกโก้ที่ไม่ดี
เมื่อนำเมล็ดโกโก้ที่คั่วแล้วมาบด จะได้ผลผลิต 2 ชนิดหลักในการใช้ทำช็อกโกแลต คือ โกโก้ บัตเตอร์ (Cocoa Butter) มีลักษณะเป็นน้ำมันครีมสีเหลืองซีด หอมกลิ่นช็อกโกแลตอ่อนๆ ได้จากการนำเมล็ดโกโก้ที่บดแล้วใส่ถุงผ้าแขวนไว้ในห้องที่ค่อนข้างอุ่นกว่าปกติ หาภาชนะมารองไว้ใต้ถุงผ้า โกโก้บัตเตอร์จะค่อยๆ แยกตัวออกมาจาก 'เมล็ดโกโก้บด' หยดลงสู่ภาชนะ ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องจักรที่สามารถแยกโกโก้บัตเตอร์ขณะบดเมล็ดโกโก้ได้ทันที เมล็ดโกโก้แต่ละเมล็ดมีโกโก้บัตเตอร์ราว 54% ใช้เป็นส่วนผสมหลักที่ใช้ทำไวท์ช็อกโกแลตและช็อกโกแลตนม (Milk Chocolate) เป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ช็อกโกแลตมีความนุ่มละมุนจนสัมผัสได้ภายในปาก ด้วยความที่มีคุณสมบัติอ่อนตัวที่อุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียส ช็อกโกแลตที่มี 'โกโก้บัตเตอร์แท้' เป็นส่วนผสมจึงมักละลายในปากและช่วยกระจายรสชาติช็อกโกแลตให้ลิ้นสัมผัสรสชาติได้เต็มที่ เป็นคุณสมบัติของช็อกโกแลตคุณภาพดี
เมื่อโกโก้บัตเตอร์แยกตัวไป สิ่งที่เหลืออยู่คือ โกโก้ แมส (Cocoa Mass) ที่จับตัวกันแบบชื้นๆ สามารถนำมาทำเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ก่อนแห้ง เช่น แผ่นสี่เหลี่ยม ก้อนกลม หรือทำให้เป็นผง เรียกว่า โกโก้ เพาเดอร์ (Cocoa Powder) เป็นรสชาติแท้ๆ ของเมล็ดโกโก้ คือขมแบบโกโก้ นิยมนำไปทำเครื่องดื่ม ไอศกรีม ขนมเค้ก
เริ่มต้นจากสเปน แต่โด่งดังที่เบลเยียม
มร.เกรนดอร์จ กล่าวว่า ต้นโกโก้ที่ใช้ทำช็อกโกแลตก็เหมือนกับต้นองุ่นที่ใช้ทำไวน์ ซึ่งให้รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ตามสายพันธุ์ แหล่งและดินที่ปลูก ปีที่ปลูก ปริมาณน้ำฝน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เบลเยียม ได้ขยายอาณานิคมไปถึงแอฟริกาใต้ซึ่งเต็มไปด้วยต้นโกโก้หลากหลายพันธุ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตช็อกโกแลตเบลเยียมอันเลื่องชื่อ
สายพันธุ์โกโก้ที่ปลูกกันในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
1. เฟอราสเทโร (Forastero) เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกมากในแอฟริกาตะวันตก บราซิล และตะวันออกไกล มีกลิ่นแรงและรสขมอมเปรี้ยว ปลูกง่ายและให้เมล็ดมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 85 ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก เหมาะสำหรับใช้ทำช็อกโกแลตนม โกโก้ผงและเนยโกโก้
2. คริโอโล (Criollo) สายพันธุ์หายากที่ให้ผลผลิตชั้นยอด ปลูกในประเทศเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ และหมู่เกาะชวา มีกลิ่นหอมคล้ายคาราเมลและดอกไม้ รสชาติขมแต่นุ่มละมุน เหมาะสำหรับทำช็อกโกแลตธรรมดา
3. ทรินิทาริโอ (Trinitario) สายพันธุ์ผสมของเฟอราสเทโรและคริโอโล นิยมปลูกในแถบแคริบเบียนและมาดากัสการ์ ถือเป็นช็อกโกแลตชั้นเลิศที่หอมและขมกว่าพันธุ์ดั้งเดิม
มร.เกรนดอร์จ กล่าวด้วยว่า ประเทศที่ผลิตโกโก้คือประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร เพราะโกโก้เป็นพืชที่ชอบภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตรเขตร้อน แต่ประเทศที่ผลิตโกโก้ส่งออกมากที่สุดคือไอวอรี่โคสต์ 1.3 ล้านตัน/ปี คิดเป็น 38% ของโลก ตามมาด้วยกานา ส่งออก 650,000 ตัน/ปี หรือ 21% ของผลผลิตโลก นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกคุ้นเคยกับรสชาติโกโก้ที่มาจากสองประเทศนี้เพราะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ช็อกโกแลตที่ทำจากโกโก้สองประเทศนี้ถือเป็นช็อกโกแลตที่มีคุณภาพ
ด้วยการคัดสรรเฉพาะวัตถุดิบชั้นเลิศ เลือกใช้เมล็ดโกโก้ตามแบบต้นฉบับจากแอฟริกาใต้ ใช้โกโก้บัตเตอร์แท้ ใช้โกโก้แมส 55-56% ควบคู่กับความพิถีพิถันทุกขั้นตอนการผลิต การนำเทคนิคการผลิตช็อกโกแลตจากนักทำช็อกโกแลตประเทศต่างๆ มาผสมผสานกับเทคนิคพิเศษที่คิดค้นขึ้นในแบบฉบับของเบลเยียม การทำให้ช็อกโกแลตมีความละเอียด 20-30 ไมครอน ช็อกโกแลตเบลเยียม จึงได้รับการยอมรับจากเชฟและเหล่านักชิม ว่าเป็นช็อกโกแลตที่ถือว่าดีที่สุดในโลก ไม่หวานและไม่ขมจนเกินไป เป็นช็อกโกแลตที่เหมาะสำหรับการมูส (Mousse) และยกย่องให้เบลเยียมเป็น 'นครหลวงแห่งช็อกโกแลต' ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า เบลเยียมเปรียบเหมือนเขาโอลิมปัส ศูนย์กลางช็อกโกแลตในจักรวาล (the Olympus, the center of the universe for chocolate) มร.เกรนดอร์จ กล่าว
รสชาติช็อกโกแลตนานาชาติ
ช็อกโกแลตมีการผลิตในหลายประเทศ ซึ่งการผลิตก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ความรู้ในการผลิต และรวมไปถึงรสนิยมในรสชาติความชอบที่แตกต่างกัน
สวิตเซอร์แลนด์ โด่งดังในเรื่อง 'ไวท์ช็อกโกแลต' เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตนมสุดพรีเมียม คุณภาพนมได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก ไวท์ช็อกโกแลตของสวิตเซอร์แลนด์จึงมีความโดดเด่นในเรื่องรสชาติของนม หวานมันเข้มข้น ด้วยส่วนผสมของ 'โกโก้บัตเตอร์สุดครีมมี่' ไวท์ช็อกโกแลตสวิตเซอร์แลนด์แท้ๆ ละลายในปากทันที ละมุนลิ้นทุกคำ สัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมหวานของนมเคล้าคลอ
ช็อกโกแลตอังกฤษ มักออกรสชาติหวานมันคล้ายลูกกวาด บริษัทผลิตช็อกโกแลตในอังกฤษมักเติมส่วนผสมประจำชาติ 'คาราเมลเข้มข้น' ลงในช็อกโกแลต เนื้อสัมผัสช็อกโกแลตอังกฤษจึงมักนุ่มละมุนผสานกับความหวานมันฉ่ำคาราเมลแบบเต็มอารมณ์ ถูกใจคนรักขนมหวานในแนว Bitter Sweet เพราะคนอังกฤษยังคงชอบช็อกโกแลตรสชาติเข้มข้นที่มีส่วนผสมของ 'โกโก้ แมส' เปอร์เซ็นต์สูง
ช็อกโกแลตอเมริกา แม้รับความรู้การผลิตช็อกโกแลตจากอังกฤษ แต่ช็อกโกแลตของอเมริกามักออกรสเปรี้ยวแบบ acid ติดลิ้นกว่าช็อกโกแลตอังกฤษ เนื่องจากนมที่เป็นส่วนผสมสำคัญนั้นผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่เหมือนกัน คนอเมริกันอาจชอบช็อกโกแลตรสหวานนำ ช็อกโกแลตอเมริกาจึงมักมีโกโก้แมสเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าอังกฤษ แต่อเมริกาก็สร้างสรรค์รสชาติช็อกโกแลตที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง ด้วยการเติมความหอมมัน 'รสฮาเซลนัท' ลงในช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตแอฟริกา ด้วยสายพันธุ์ดั้งเดิมแบบต้นตำรับจึงทำให้ช็อกโกแลตจากประเทศในแอฟริกา มีความเข้มข้นของช็อกโกแลตมากเป็นพิเศษ ถูกใจคอช็อกโกแลตที่ชื่นชอบ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Dark Chocolate) รสชาติเข้มข้น เมื่อชิมเนื้อช็อกโกแลตจะค่อนข้างหยาบและออกรสเฝื่อนผสมเปรี้ยว ให้กลิ่นกรุ่นฟุ้งในปากแบบต้นฉบับโกโก้แท้ เช่น ช็อกโกแลตเปรูที่มีโกโก้แมสถึง 64%
ช็อกโกแลตเอเชีย ผู้ผลิตมักใช้ 'ไขมันพืช' แทนโกโก้บัตเตอร์ เพื่อให้ช็อกโกแลตทนความร้อนกับภูมิอากาศของทวีปเอเชีย รสชาติเนื้อช็อกโกแลตค่อนข้างเบาบาง ต้องเคี้ยวสัมผัสรสชาติอย่างช้าๆ จึงจะรับรู้ถึงกลิ่นและรสชาติที่หอมหวานของช็อกโกแลตที่มีเพียงบางเบา เนื่องจากโกโก้แมสที่มีเปอร์เซ็นต์น้อย หากกินช็อกโกแลตยี่ห้อไหนแล้วช็อกโกแลตในปากไม่ละลายซะที หรือติดเหนียวอยู่บนเพดานปากไม่ยอมละลาย นั่นคือสัญญาณของช็อกโกแลตที่ทำจากไขมันพืช ยกเว้นช็อกโกแลตแบรนด์ดังในบางประเทศของเอเชียที่ผลิตช็อกโกแลตแบบเน้นคุณภาพ ซึ่งมักมีราคาค่อนข้างสูงกว่าช็อกโกแลตระดับตลาดทั่วไป
ช็อกโกแลตจับคู่ไวน์
ของหวานยอดนิยมชนิดนี้จับคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท 'ไวน์หรือแชมเปญ' โดยมีหลักการง่ายๆ คือ จับคู่ไวน์รสอ่อนกับช็อกโกแลตรสชาติออกหวาน และ ไวน์ที่มีรสชาติแรงเข้มกับช็อกโกแลตรสขม เพื่อเพิ่มความอร่อยที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น มร.เกรนดอร์จ แนะนำดังนี้
1. ไวท์ช็อกโกแลต-แชมเปญ ไวท์ช็อกโกแลตประกอบด้วยโกโก้บัตเตอร์มากถึง 33% เวลาชิมจะสัมผัสได้ถึงความกลมกล่อมและรสชาติของเนยเข้มข้น แชมเปญจะช่วยดึงรสหวานเข้มข้นของช็อกโกแลตออกมาให้โดดเด่น หรือเติมรสหวานแนวผลไม้ด้วยไวน์องุ่นพันธุ์ Orange Muscat ของแคลิฟอร์เนีย หรือ Prosecco ของอิตาเลียนก็ได้ เสิร์ฟคู่ผลไม้สดตระกูลเบอร์รี แนะนำให้กินผลไม้หลังสุด
2. มิลค์ช็อกโกแลต-แชมเปญ มิลค์ช็อกโกแลตเป็นช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้มากถึง 40% ขึ้นไป ให้รสชาติเข้มข้น หวานมันนุ่มละมุนลิ้น ควรจับคู่กับแชมเปญ (Champagne) หรือสปาร์คลิ้งไวน์ (Sparkling Wine) ผสมผสานรสชาติช็อกโกแลตหวานมันด้วยความเปรี้ยวซ่าของแชมเปญ เลือกมิลค์ช็อกโกแลตที่สอดไส้คาราเมลด้วยก็ยังได้
3. ดาร์ก ช็อกโกแลต-ไวน์แดง มักมีส่วนผสมของโกโก้ 70% ขึ้นไป ให้รสชาติขมเข้มข้น หอมละมุนแบบต้นตำรับช็อกโกแลตแท้ ลองเลือกดาร์กช็อกโกแลตสอดไส้คาราเมลฮาเซลนัทเพื่อตัดรสขมฝาด แล้วค่อยจิบไวน์แดงเสริมรสชาติความเข้มข้น
ช็อกโกแลตเบลเยียมกับไอศกรีม
การจับคู่อย่างสมบูรณ์แบบของช็อกโกแลตกับไอศกรีม เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1934 (พ.ศ.2477) โดย มร.คริส เนลสัน (Chris Nelson) เจ้าของร้านไอศกรีมแห่งเมืองไอโอวา คิดค้น ไอศกรีมแท่ง ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจับความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบช็อกโกแลตนำมาเคลือบกับไอศกรีมแท่ง ถือเป็นสุดยอดความแตกต่างที่เข้ากันอย่างลงตัวระหว่างความเย็นนุ่มลิ้นของไอศกรีมกับความเข้มข้นหอมละมุนของช็อกโกแลตแท้ ครองใจคนทั่วทุกมุมโลก
คู่คลาสสิก จับคู่ไอศกรีมวานิลลากับดาร์ก ช็อกโกแลต ความคลาสสิกจากสองสายพันธุ์ หวานหอมและเข้มข้น
คู่หอมมัน จับคู่กับไอศกรีมวานิลลากับมิลค์ช็อกโกแลต ตัดรสชาติความหวานหอมด้วยอัลมอนด์กรุบกรอบ
คู่เข้มข้น จับคู่ไอศกรีมช็อกโกแลตกับดาร์ก ช็อกโกแลต เสริมความเข้มข้นของโกโก้ด้วยความเนียนข้นของเนื้อไอศกรีม
ภาพ : อนันต์ จันทร์สูตร / นวลพรรณ กิติราช
มร.ฌอง หลุยส์ เกรนดอร์จ : กูรู ช็อกโกแลต
มร.ฌอง หลุยส์ เกรนดอร์จ อายุ 40 ปี เป็นชาวเบลเยียม เข้าสู่โลกแห่งช็อกโกแลตเมื่ออายุ 23 ปี ด้วยการก่อตั้งบริษัทแกลโลไทย (Gallothai) ร่วมกับคุณพ่อของเขา มร.พอล (Mr.Paul Graindorge) ในปี ค.ศ.1993 เริ่มต้นงานในฝ่ายผลิต การขายและการตลาดของบริษัท ได้ชื่อว่าเป็น 'กูรู ช็อกโกแลต' ชั้นนำของเมืองไทย มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับช็อกโกแลตตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต คัดสรรสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับคนไทยซึ่งชอบกินช็อกโกแลต เป็นผู้สร้างสรรค์ช็อกโกแลตบูทีค ดุ๊ก เดอ พาแลง เบลเยียม (Due de Praslin Belgium) ปัจจุบันบริหารงานในตำแหน่งกรรมการบริหาร (Managing Director) ดูแล 3 บริษัทใหญ่ของวงการช็อกโกแลต บริษัทแกลโลไทย (Gallothai) บริษัทเบลโค คอนเฟรคชั่นนารี (Belco Confectionary) และบริษัทปูราโตส (Puratos) ซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายช็อกโกแลตปริมาณมากกว่า 1,500 ตันต่อปีให้กับคาเฟ่และร้านอาหารชั้นนำในเมืองไทยและต่างประเทศ คิดเป็นเงินมูลค่า 9 ล้านยูโร
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน