จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
การเพิ่มทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 1 หมื่นล้านบาท จาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท ต้องสะดุดล้มกลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ทั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองที่มี กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มาแล้ว
ครม.ให้เหตุผลที่ยังไม่ไฟเขียวเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. เพราะต้องการให้ธนาคารไปทำการแยกบัญชีให้ชัดเจนว่า การปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐ และการปล่อยสินเชื่อปกติของธนาคารให้ชัดเจนและนำกลับมาให้ ครม.พิจารณาใหม่
เหตุผลดังกล่าวของ ครม. ดูผ่านๆ ก็เป็นเรื่องดีที่ ครม.ต้องการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.เป็นอย่างไร จะได้เพิ่มทุนให้พอเหมาะพอสม
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุผลดังกล่าวก็ดูไม่มีน้ำหนักที่ไม่ยอมเพิ่มทุนของธนาคาร เพราะข้อมูลที่ธนาคารชี้แจงก่อนที่จะมาถึงคณะรัฐมนตรีก็ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาธนาคารเป็นแขนขาปล่อยกู้สนองนโยบายของรัฐบาลอย่างหนักหนาสาหัส จนทุนไม่พอ กองทุนเริ่มจะต่ำกว่ามาตรฐาน
ธ.ก.ส.แจงในเอกสารที่เสนอ ครม. ว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อขยายมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2554 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 4.93 แสนล้านบาท สินเชื่อยังไม่รวมกับการปล่อยสินเชื่อในโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรอีก 1.38 แสนล้านบาท โดยธนาคารมีสินเชื่อ ณ สิ้นงวดปี 2554 สูงถึง 7.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.32% จากปี 2553
สินเชื่อที่โตก้าวกระโดด ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของ ธ.ก.ส. ลดฮวบจากปี 2553 อยู่ที่ 13.47 เท่า มาเป็น 10.37 เท่า ในปี 2554 แม้ว่าจะสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดต้องไม่ต่ำกว่า 8.5 เท่า แต่ถือว่าน้อยกว่าของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ที่ 14.79 เท่า
ธ.ก.ส.พยายามแจงให้ ครม. เห็นว่า ฐานะของธนาคารเริ่มอ่อนแอทรุดลงจากการโหมโรงปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐบาล และหากรัฐบาลไม่เพิ่มทุน BIS ของธนาคารในปีนี้ก็จะเหลือต่ำกว่า 10 เท่า และจะเหลือ 8.75 เท่า ในปี 2558 ซึ่งเท่ากับถึงวันนั้น ธนาคารจะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้อีกแล้ว เพราะเงินกองทุนไม่เพียงพอ
ข้อมูลแจ่มแจ้งแดงแจ๋อย่างนี้ แต่ ครม.ยังปัดให้ไปทำข้อมูลมาใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลถูกโจมตีการทำโครงการประชานิยมอย่างหนัก ว่าสร้างความเสียหายมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่ต้องใช้เงินเกือบ 3 แสนล้านบาท เป็นเงินของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้
ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา มีแต่ข่าวไม่ดีเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่ ลักษณ์วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ออกมาเปิดเผย โครงการรับจำนำข้าวจะเกิดความเสียหายในปีแรกถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นลักษณ์ถูกการเมืองเล่นงานอย่างหนักว่า ทำให้รัฐบาลเสียหาย
ต่อมา บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ออกมายอมรับว่า ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจะเสียหายไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นการตอกฝาโลงว่าโครงการนี้ทำแล้วเจ๊งจริง เจ๊งเยอะ
ขณะที่วงการค้าขายประเมินว่า รัฐบาลจะเสียหายจากการรับจำนำไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพราะการรับจำนำรอบแรกมีข้าวอยู่ในโกดังถึง 10 ล้านตัน ต้นทุนตันละ 800 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าราคาตลาดโลกถึงเท่าตัว หากรัฐบาลต้องการระบายข้าวก็ต้องยอมขาดทุนครึ่งหนึ่งไม่มีทางเลือก เพราะยิ่งเก็บไว้ก็ยิ่งมีแต่เข้าเนื้อมากขึ้น
และยิ่งเมื่อก่อนเข้า ครม. ไม่กี่วันมีการรายงานข้อมูลของลักษณ์ ชี้แจงกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงโครงการรับจำนำข้าว ระบุชัดว่า เป็นห่วงการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ล่าช้า อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลถัดไป
โดยปัญหาที่เป็นห่วงคือ 1.สถานที่เก็บข้าวที่รับจำนำจากชาวนาไม่เพียงพอ และ 2.จะขาดเงินทุนที่ใช้ในการรับจำนำ เพราะหากไม่มีการขายข้าวออก ทำให้รัฐบาลขาดสภาพคล่องที่จะนำมาใช้ ทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งหมดเป็นภาพลบความเสียหายอภิมหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่หลั่งไหลออกมาต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ ครม. ต้องเบรกการเพิ่มทุนของ ธ.ก.ส. กลางคัน เพื่อเป็นการตัดไฟที่จะลุกเผาตัวตายเสียก่อน
การจะเพิ่มทุนให้กับ ธ.ก.ส. ในช่วงนี้ จะทำให้รัฐบาลเสียหายอย่างหนัก เป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวทำแบงก์เจ๊งจนต้องเอาเงิน ภาษีประชาชน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด เพราะการเพิ่มทุนให้ธนาคารก็ต้องไปปล่อยกู้โครงการรับจำนำรอบใหม่ และหากมีรับจำนำอีกก็ต้องเพิ่มทุนให้อีกไม่จบสิ้น เพราะโครงการนี้ใช้เงินหลายแสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายเก่าจากโครงการรับจำนำที่รัฐบาลยังค้างจ่ายให้ ธ.ก.ส. อีก 1.7 แสนล้านบาท ที่เป็นโครงการรับจำนำในหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่รับจำนำเสียหายจนเป็นฝุ่นไม่เหลืออะไรจะมาขายมาใช้หนี้ได้แล้ว
ความเสียหายเก่าใช้ไม่หมด ความเสียหายใหม่กำลังจะมาถมอีกเป็นแสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องหาเงินมาโปะเพิ่มทุน เพื่อเดินหน้าโครงการรับจำนำรอบใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการซุกไว้ใต้พรม ไม่ต้องการให้โผล่ขึ้นมาหลอกหลอนรัฐบาลทำประเทศเสียหาย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถหนีความจริงพ้นจากฐานะของ ธ.ก.ส. ที่อ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มทุนเพิ่มกำลังให้กับธนาคารเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
รัฐบาลรู้อยู่เต็มอกว่า ธ.ก.ส.ไม่ได้รับภาระจำนำข้าวให้รัฐบาลจนหมดตัวที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น ยังมีโครงการประชานิยมอื่น เช่น การพักหนี้ดีไม่เกิน 5 แสนบาท เข้าเนื้อรายได้ธนาคารไป 8,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับหางเลขโดยเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝาก 0.47% ไปอีก 6,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีผลกำไรจะออกมาขาดทุนในปีนี้ทันที
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ต้องการให้แบงก์รัฐเจ๊งเพราะสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาล จึงรีดเงินงบประมาณมาโปะให้ ธ.ก.ส. ในส่วนของโครงการพักหนี้ดีครึ่งหนึ่ง ทำให้ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ยังออกมาไม่ขาดทุน
ความเสียหายของ ธ.ก.ส.จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึง เพราะตั้งแต่รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวแทนโครงการรับประกันราคาของ รัฐบาลเก่า นักวิชาการก็ออกมาเตือนว่าจะสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้กับประเทศ ทั้งเป็นภาระทำให้หนี้เพิ่ม เพราะต้องกู้เงินมารับจำนำ
ทำให้แบงก์รัฐเสียหายอ่อนแอ เพราะต้องใช้เงินไปรับจำนำ ทำให้ตลาดค้าข้าวพัง เพราะรัฐบาลรับจำนำข้าวสูง ทำให้ข้าวไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง และการส่งออกมาในครึ่งแรกก็แสดงให้เห็นว่าการส่งออกข้าวไทยมีปัญหาลดลงถึง 50% และกำลังเสียแชมป์การส่งออกข้าว 30 ปี ให้กับประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการทุจริตตลอดเส้นทางการรับจำนำ ตั้งแต่การสวมสิทธิข้าวต่างประเทศมารับจำนำ ปัญหาข้าวที่รับจำนำไม่มีตัวตน และตอนนี้ข่าวล้นโกดังรัฐบาลจนมุมต้องระบายข้าวออก ก็จะมีนายทุนนักการเมืองใช้กำลังภายในเส้นสายซื้อข้าวจากรัฐบาลราคาถูกไปขาย ราคาแพง เป็นมหกรรมทุจริตบนความสุจริตบนซากความเสียหายของประเทศหลายแสนล้านบาท
ทั้งหมดส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวมีแผลเน่าเต็มตัว เริ่มโชยกลิ่นเหม็นไปทั่ว ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการให้การเพิ่มทุนแบงก์ ธ.ก.ส. มาเป็นมีดกรีดแผลเน่าให้ส่งกลิ่นเหม็นเพิ่ม
ซึ่งการหมกปัญหาโครงการรับจำนำไว้ใต้พรม ส่งผลให้ฐานะ ธ.ก.ส.มีปัญหา และในไม่ช้าก็จะมีปัญหาเหมือนกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่ปล่อยสินเชื่อนโยบายรัฐบาลจำนวนมาก เกิดหนี้เสียเพิ่ม เงินกองทุนต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้รับเงินเพิ่มทุนจากรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลถังแตก และไม่ต้องให้การเพิ่มทุนถูกมองว่าเป็นการกลบหนี้เน่าประชานิยม
ส่งผลให้ทุกวันนี้เอสเอ็มอีแบงก์ ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อทั้งที่เงินกองทุนไม่ถึง โดยรัฐบาลอ้างว่า แบงก์รัฐไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องทำตามมาตรการของ ธปท.
ขณะที่ ธ.ก.ส.วันนี้ กำลังมีเส้นทางไม่ต่างจากเอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อมาก ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก้อนโต และรัฐบาลไม่ยอมเพิ่มทุนให้ เพราะต้องการกลบเรื่องเน่าโครงการประชานิยม ที่ส่งกลิ่นเหม็นเอาไม่อยู่ไปทั่วแล้ว
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน