สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แม่วงก์รำพึง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ที่ราบนอกเขตอุทยานฯ แต่จะเป็นอ่างเก็บน้ำ

ผมละหวั่นใจจริงๆ ว่าสุดท้ายโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนเสือเต้นน่าจะมีการลงมือก่อสร้างในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน
ประสบการณ์มันสอนและมีสิ่งบ่งชี้หลายอย่างว่าจะมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น

สมัยเป็นนักศึกษา ในฐานะของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ (คอทส. 16 สถาบัน) เป็นช่วงที่มีการผลักดันสร้างเขื่อนน้ำโจนพอดี รัฐบาลในยุคนั้น (น่าจะเป็นสมัยป๋าเปรมเป็นนายก) มีการรับฟังเหตุผล ให้ทางฝ่ายสนับสนุนเอาข้อมูลออกมาชี้แจง ผมจำได้ว่า กฟผ.ซื้อหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์เต็มหน้าเลย ทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เอาข้อมูลด้านต่างๆ ออกมานำเสนอเท่าที่จะมีเวที แต่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านทำเพื่อให้สาธารณชนได้รู้ข้อมูลให้มากที่สุด ทั้งข้อมูลในพื้นที่ ผลประโยชน์ที่จะได้ และข้อเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ผมและพรรคพวกเอาโมเดลปูนปลาสเตอร์ที่จำลองพื้นที่บริเวณแก่งน้ำโจนในป่าทุ่งใหญ่ ไปตั้งโต๊ะถือโทรโข่ง แจกใบปลิวที่สนามหลวงอยู่หลายวัน ผมว่าบรรยากาศแบบนี้มันดีตรงที่คนที่เขาไม่รู้ข้อมูล ห่างไกลข้อมูล ก็เข้ามาสอบถาม มาดูให้เข้าใจ ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของสาธารณชน โชคดีที่รัฐบาลสมัยป๋าเปรมท่านรับฟังเหตุผล ชั่งผลได้ ผลเสีย ป่าทุ่งใหญ่จึงเป็นมรดกโลกเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติมาทุกวันนี้

แต่มายุคนี้ ยุคที่มั่นใจนักหนาว่าคน 15 ล้านคนเลือกเข้ามาบริหารประเทศ มีผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ด้วยเหตุผลว่าจะได้บรรเทาน้ำที่ลงมาท่วมภาคกลางอย่างเมื่อปี 2554 และแก้ปัญหาภัยแล้งในกับเกษตรกร เหตุผลหลักๆ ก็แค่นี้ ฝ่ายที่เขาคัดค้านก็ออกมายกเหตุผลตัวเลขปริมาณน้ำว่า มีน้ำจากป่าแม่วงก์ออกมาสมทบกับน้ำเหนือที่ไหลลงมาท่วมภาคกลางเท่าไหร่ ถ้ากั้นเขื่อนแม่วงก์แล้วจะกันน้ำออกไปได้เท่าไหร่ สร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วน้ำจะไม่ท่วมจริงหรือ เขามีตัวเลขปริมาณน้ำมาชี้แจงละเอียดยิบ

ปัญหาภัยแล้งก็เหมือนกัน ฝ่ายคัดค้านเขาก็บอกว่า ในช่วงหน้าแล้งก็มีน้ำไหลออกมาจากป่าแม่วงก์ผ่านลำห้วยลำคลองต่างๆ ส่วนที่ไหลลงทางโครงการที่จะสร้างเขื่อนกั้นนี้ก็เป็นคลองแม่เรวา ซึ่งมีน้ำไหลออกมาจากป่าตลอดทั้งปี ฝ่ายต่อต้านก็เลยงงว่าในเมื่อมีน้ำไหลออกมาจากป่าอยู่แล้ว ทำไมคนที่มีหน้าที่จัดการบริหารน้ำไม่จัดสรรน้ำเพื่อเอาไปบรรเทาภัยแล้งอย่างที่อ้าง

ฝ่ายคัดค้านยังนำเสนอความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์ว่ามีทั้งเสือ มีต้นไม้ที่สมบูรณ์อยู่ คือนำเสนอข้อมูลออกสู่สาธารณะฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลที่อยากสร้างเขื่อนนั้น เงียบมาตลอด ไม่เอาข้อมูลออกมาบอกกล่าวแก่สาธารณะ หรือเอาข้อมูลออกมาหักล้าง แต่กลับเดินหน้าโครงการไปทีละขั้น เหมือนไม่สนใจเสียงคัดค้าน อย่างที่บอกไปว่า การที่แต่ละฝ่ายเอาข้อมูลของตนออกมานำเสนอต่อสาธารณะ จะเป็นการให้ข้อมูลชาวบ้านไปในตัว ชาวบ้านเขาจะคิดและตัดสินใจเอง ในประเทศที่อารยะและเป็นประชาธิปไตยจริง (ไม่ใช่แค่มีเลือกตั้งก็เรียกประชาธิปไตย แบบที่บ้านเราเป็นอยู่นี้) รัฐบาลเขาจะฟังเสียงชาวบ้าน ฟังคำทัดทาน ถ้าคัดค้านโดยไม่มีน้ำหนักเขาก็สร้าง แต่มีเหตุผล รัฐบาลที่มีอารยะเขาก็ฟัง แต่รัฐบาลทุรชนจะเมินเสียงชาวบ้าน ประมาณว่า ดีไม่ดีไม่สน จะทำซะอย่าง

ในเมื่อรัฐบาลเมินการให้ข้อมูล ผมก็จะเล่าสภาพป่าของบริเวณที่จะสร้างเขื่อนให้ได้เห็นภาพกัน พื้นที่ที่จะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำนี้ จะมีสันเขื่อนเชื่อมระหว่างมออีหืดและภูเขาเตี้ยๆ อีกลูกที่ผมลืมชื่อ ระหว่างเขาสองลูกนี้จะมีห้วยแม่เรวาไหลผ่าน ซึ่งห้วยนี้ไหลออกมาจากป่าลึกข้างใน มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เพราะป่าข้างในยังสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งซับน้ำจนทำให้มีน้ำไหลออกมาในหน้าแล้ง

ในหน้าแล้ง แก่งหินและลานทรายจะโผล่ขึ้นมา ตรงแก่งหินกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวบ้าน เรียกว่า "แก่งลานนกยูง" ส่วนลานทรายที่ลึกเลยเข้าไป แต่ก่อนจะมีนกยูงออกมารำแพนหางเกี่ยวกัน ต่อมาเมื่อมีการรบกวนจากคนนกยูงเลยหายๆ ไป เขาเลยเอานกยูงชนิดเดียวกันกับพันธุ์ดั้งเดิมจากศูนย์เพาะเลี้ยงมาปล่อย จนเดี๋ยวนี้นกยูงที่เอามาปล่อยผสมพันธุ์กับนกยูงเดิมจนออกลูกออกหลาน ใครไปก็เห็นทุกที ส่วนในหน้าน้ำ ลำห้วยแม่เรวาตั้งแต่ด้านหน้าอุทยานฯออกไป จะมีกิจกรรมล่องแก่ง มีนายทุนมาซื้อที่ริมน้ำ ปลูกรีสอร์ทจัดการท่องเที่ยวเป็นที่เอิกเกริก

พื้นที่ป่าแม่วงก์ทางด้านนี้จะเป็นป่าเบญจพรรณและเต็งรัง ผ่านการสัมปทานไม้มาแล้ว ตอไม้สัก ไม้มะค่าที่ถูกตัดไปเมื่อหลายสิบปี ตอนนี้แตกต้นออกมากลายเป็นต้นใหม่ โตสูงท่วมหัว  นี่แค่ชายป่า ถ้าในป่าลึกๆ มันจะสมบูรณ์ขนาดไหน จุดที่มองเห็นพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างรับน้ำได้ดีที่สุดคือบนยอดมออีหืด ซึ่งเป็นเนินเขาสูงที่สุดในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา ขึ้นไปถึงจะเห็นที่ราบด้านหน้าไพศาล ไกลออกไปเป็นภูเขาสองลูกมาบรรจบกัน ตรงกลางมีกิ่วเล็กๆ เรียก "เขาชนกัน" ตรงนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนมีดำริจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเอาเขาชนกันเป็นสันเขื่อน แล้วให้อ่างน้ำเป็นที่ราบที่ว่านี้

มาตอนนี้ที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เขื่อนถูกดันให้เข้ามาอยู่ในเขตอุทยานฯเพราะที่ราบด้านนอกเป็นของนักการเมืองในนครสวรรค์ไปหลายพันไร่แล้ว ที่บอกว่าน้ำจะท่วมที่ชาวบ้านซึ่งมาหักร้างถางพงตั้งแต่สมัยสัมปทาน จริงๆ ที่ดินเปลี่ยนมือไปเยอะแล้ว (แบบเดียวกับวังน้ำเขียว) มีนายทุนมาซื้อที่ทำรีสอร์ทอย่างที่บอกบ้าง คนรวยมาซื้อที่ทำเป็นไร่ตากอากาศบ้าง

พอหันมองอีกด้านจากยอดมออีหืด เข้าไปทางป่าลึกจะเห็นร่องเขาคดเคี้ยวเข้าไปในป่า ซึ่งยืนยันได้ว่ายังเป็นป่าสมบูรณ์ ใครไปก็จะเห็นเหมือนกันชนิดโกหกไม่ได้ แต่ร่องเขานี้จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำเมื่อสร้างเขื่อน ที่ดินนายทุนและของนักการเมืองด้านหน้าเขื่อนจะมีมูลค่าขึ้นมหาศาล เพราะเหตุนี้แม้โครงการสร้างเขื่อนจะฟื้นขึ้นมาแต่ขอขยับเขื่อนเข้าไปด้านใน ป่าพังช่างมันแต่ที่ฉันต้องยังอยู่

ที่มีน้ำให้เห็นแม้ในหน้าแล้งจนอยากสร้างเขื่อน เพราะป่าต้นน้ำมันยังสมบูรณ์ ครั้นทำลายป่าโดยการสร้างเขื่อนไปทับแล้วไม่แน่ว่าน้ำจะมีเท่าเดิมหรือไม่ การทำลายป่านั้นง่าย การสร้างขึ้นมาต่างหากที่ยาก ทั่วโลกเสียสมดุลทางธรรมชาติเพราะป่าถูกทำลายไปมาก ชาวบ้านต้องเผชิญกับดินถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง ก็เพราะขาดข้อมูลในการตัดสินใจเลือกแนวทาง กลับถูกนักการเมืองเป่าหู ให้ข้อมูลเท็จ

เพราะนักการเมืองที่หนุนรัฐบาลมันทุรชน รัฐบาลจึงทุรชนไปด้วย สร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ก็ทิ้งความดี ความถูกต้องบนโลกนี้ไปเลย เพราะความเลวครองเมืองเบ็ดเสร็จ....

แก่งลานนกยูงแหล่งท่องเที่ยวที่นิยม

ป่าอันสมบูรณ์ ที่จะต้องกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ

นกยูง ที่คุ้นคนย่านหน่วยฯแม่เรวา

เสียดายต้นสักที่งอกจากตอที่ถูกสัมปทานในอดีต จะถูกน้ำท่วม

กล้วยไม้ดิน ที่ออกดอกในช่วงต้นฝน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แม่วงก์รำพึง

view