โรคสมองอักเสบเฉียบพลันและไวรัสเอนเทอโร
โดย : ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การวินิจฉัยภาวะ “สมองอักเสบเฉียบพลัน” เพื่อให้ได้ถึงสาเหตุและอุบัติการณ์ที่แท้จริง จำต้องทราบ ลักษณะเฉพาะตัวดังต่อไปนี้
1. เป็นภาวะที่เกิดมีกระบวนการอักเสบขึ้นในเนื้อสมอง ส่งผลให้มีการทำงานของสมอง ผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ระบบประสาทในระดับใดก็ได้ กล่าวคือ สมอง และหรือไขสันหลัง รวมทั้งเส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง
2. โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเป็นชั่วโมง วัน จนถึง 2 สัปดาห์
3. การอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งการติดเชื้อ (ไวรัส แบคทีเรีย วัณโรค รา พยาธิ) และไม่ติดเชื้อ เช่น จากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน (post infectious encephalitis หรือ acute disseminated encephalomyelitis) จากโรคแพ้ภูมิตนเอง จากยา หรือจากเนื้องอกบางชนิดที่ทำให้น้ำเหลืองเสีย (paraneoplastic syndrome)
4. เชื้อชนิดเดียวกันอาจทำให้มีอาการต่างๆ กันได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไขสันหลัง และ/หรือสมองอักเสบ โดยอาจแสดงอาการแรกเริ่มที่ระดับไขสันหลังก่อน เช่น ขาอ่อนแรง 2 ข้าง ปัสสาวะไม่ออก หรืออาจมีอาการทางสมองก่อนแล้วตามด้วยอาการทางไขสันหลังก็ได้
5. ความผิดปกติในสมองเป็นได้ทั้งซึมจนไม่รู้สึกตัว หรือมีพฤติกรรมแปรปรวน เอะอะอาละวาด ก่อนที่จะซึม (แต่อาจไม่ตามด้วยซึมก็ได้) นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับอาการชัก หรือมี แขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีกซ้าย หรือขวา ในบางกรณีถ้ามีอาการรุนแรง รุกล้ำ เข้าไปในเนื้อสมองหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น โพรงน้ำในสมองโตระบายน้ำออกไม่ได้ (hydrocephalus) ก็จะทำให้มี อาการซึมไม่รู้ตัวได้เช่นกัน
6. ควรต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยซึมด้วย เนื่องจากอาการซึมอาจไม่ได้เกิดจากการอักเสบที่สมองอย่างเดียว อาจเกิดจากภาวะความดันโลหิต หรือหัวใจผิดปกติ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อหรือเกิดจากเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง (เช่น เกลือโซเดียมต่ำ)
นิยามของสมองอักเสบเฉียบพลัน
สมองอักเสบเป็นภาวะ อันประกอบด้วย
-ไข้-ปวดหัวร่วมกับลักษณะซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติ ของเนื้อสมองและระบบประสาทอื่นๆ โดยมีอาการสำคัญได้ 4 แบบ
- ความแปรปรวนในด้านการรับรู้ อาจมีความจำเปลี่ยนแปลง หลงลืมง่าย พฤติกรรมผิดปกติ เห็นภาพหลอน จนถึงอาจมีอาการทางจิตได้ และ/หรือ
- มีความเปลี่ยนแปลงทางระดับความรู้สึกตัว ทั้งในทางลดลง (ซึม ไม่รู้ตัว) หรือเพิ่มขึ้น (เพ้อเจ้อ กระวนกระวาย) และ/หรือ
- มีความผิดปกติในหน้าที่การทำงานของเนื้อสมอง และ/หรือไขสันหลัง-เส้นประสาท เป็นส่วนๆ และ/หรือ
- ชัก อาจเกิดขึ้นเป็นเฉพาะที่ เช่น กระตุกของแขน ขา หรือทั้งตัวแบบลมบ้าหมู ก็ได้
ไข้อาจไม่มีหรือปรากฏในระยะต่อมาเท่านั้น (เช่นเดียวกับปวดศีรษะ) และอาจจะไม่มีไข้เลย หรืออยู่ในระดับ อุณหภูมิต่ำกว่าปกติตัวเย็น โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะท้ายหรือไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ควรต้องแยกสมอง อักเสบจากภาวะที่สมองทำหน้าที่ผิดปกติจากสารพิษ ยาต่างๆ หรือ มีภาวะตับวาย ไตวาย เป็นต้น
โรคสมองอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. สมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบอื่นๆ ของร่างกายก่อน แล้วจึงลุกลามทั่วร่างกายจนในที่สุดเข้าสมองด้วย
2. สมองเป็นเป้าหมายตรง ซึ่งในกรณีของไวรัส ส่วนใหญ่มักเกิดพยาธิสภาพที่เซลล์สมองเป็นสำคัญ แต่ไวรัสบางชนิดจะมีการติดเชื้อที่เส้นเลือดก่อน เช่น ไวรัสงูสวัด (varizella zoster virus) ไวรัสบางชนิดอาจมีเป้าหมายมากกว่าหนึ่ง เช่น นิปาห์ (Nipah virus) ไปที่สมองและปอด ไวรัสเอนเทอโร เช่น เอนเทอโร 71 (enterovirus 71) เข้าสมอง ปอด และหัวใจ ทำให้เกิดการอักเสบ แต่มีความสามารถพิเศษที่เข้าก้านสมองอย่างเดียวก็ได้ และทำลายตัวประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมปอด และหัวใจ จนน้ำท่วมปอด หัวใจวาย
3. สมองอักเสบที่เป็นผลมาจากกลไกในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สมองอักเสบตามหลังการติดเชื้อ (post infectious encephalitis) โดยเกิดจากทำลายเนื้อเยื่อส่วนสีขาว (white matter หรือ myelin) (immune mediated demyelination) กรณีที่เกิดจากน้ำเหลืองเสียอื่นๆ มีการทำลายที่เซลล์ประสาทโดยตรงได้ (autoantibody-associated encephalitis)
ภาวะทั้ง 3 อย่างนี้แยกจากกันได้ยาก เนื่องจากอาจให้ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ต้องอาศัยลักษณะ อาการ การดำเนินโรค และหลักฐานของการติดเชื้อว่าเริ่มจากระบบอื่นๆ ก่อนหรือไม่ รวมทั้งภาพรังสีวินิจฉัย จึงจะทำให้สามารถคาดเดาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้ และต้องการผลการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการบางอย่างมาช่วยในการวินิจฉัยด้วย
สำหรับไวรัสเอนเทอโร ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ไวรัสเอนเทอโรเป็นต้นเหตุของสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปี 34 ราย และผู้ใหญ่ 4 ราย จากจำนวนทั้งหมด 930 ราย ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่พบว่าอาการไม่มากเป็นเพียงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และหายเองภายในเวลา 2-3 วัน ทั้งนี้ พบว่าทารกแรกคลอดเมื่อกลับบ้านก็มีโอกาสติดเชื้อได้ทันที และมีจำนวน 36% ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ที่มีการติดเชื้อรุนแรงและสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโร การที่ผู้ใหญ่พบการติดเชื้อน้อย น่าจะอธิบายจากการที่ได้สัมผัสเชื้อ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนมีภูมิต้านทาน ดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงในวงกว้างของเชื้อเอนเทอโรในผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีการหาสาเหตุอย่างละเอียด อนึ่ง สายพันธุ์ต่างๆ ของเชื้อเอนเทอโร 71 ในประเทศไทย ก็มีเกือบครบถ้วนไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านนัก โดยมีทั้ง C1 C2 และ C4 รวมทั้ง B5 แต่ก็ไม่มีโรครุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ เป็นเครื่องแสดงว่า ชนิดของสายพันธุ์ มิได้เป็นตัวกำหนดความรุนแรงเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นกับปัจจัยในคนอีกด้วย
ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตนเอง อยู่ที่การรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ ไอจามปิดปาก ผู้ใดมีอาการเจ็บป่วยต้องแยกตัวไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น การทำความสะอาดกำจัดเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ถึงแม้เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ 70% จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มากมายหลายชนิด แต่ไม่ได้ผลในการฆ่าเชื้อเอนเทอโรไวรัส รวมถึงเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ที่กำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขวันนี้ ดังนั้น แม้สะดวก แต่ไม่ได้ผลในการกำจัดเชื้อ ดังนั้น วิธีทำความสะอาดที่เหมาะสม คือ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อจากผิวหนัง เช่นเดียวกันกับสำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์อื่นๆ และพื้น
ส่วนการฆ่าเชื้อที่พื้นและอุปกรณ์จะต้องใช้ Sodium hypochlorite 0.5% เช่น ไฮเตอร์ Clorox ในกรณีที่เป็นผง ให้ใช้ขนาด 5 กรัม กับน้ำ 950 ซีซี เก็บไว้ใช้ได้นาน 7 วัน ยกเว้นถ้าเปลี่ยนสี แสดงว่าหมดอายุต้องทิ้ง เตรียมใหม่ น้ำยานี้ใช้ทำความสะอาดพื้นผิว สิ่งของ เครื่องใช้ ชุบน้ำยาชุ่มเช็ดบนพื้นผิวที่ต้องการ หรือราดที่พื้น ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างหรือเช็ดออก การนำอุปกรณ์ ที่ทำความสะอาดแล้ว ตากแดดให้แห้ง จะช่วยเสริมการกำจัดเชื้อ ได้ดีขึ้น
ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นที่ ใช้ไม่ได้ คือ แอลกอฮอล์ 70% ไลซอล อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม ไอโซโปรพานอล (isopropyl alcohol) ความร้อนต่ำกว่า 50 องศาเซลเซียส ดังนั้น สำหรับอาหารควรอุ่นให้เดือดหรือร้อนจัดอย่างน้อย 10 นาที
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน