จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย : ตะลอนเที่ยว(travel_astvmgr@hotmail.com)
กว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินติดตามเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วแผ่นดิน ไทยเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎร ทรงรับรู้ถึงทุกข์สุขและปัญหาต่างๆของประชาชนอย่างใกล้ชิด อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริต่างๆ เพื่อให้ความรู้และสร้างอาชีพแก่คนไทย อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงความรักความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อคนไทยมาโดยตลอด
และเนื่องในวโรกาสปีมหามงคล 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา “ตะลอนเที่ยว” จึงขอพาไปตามรอยแม่หลวง ใน 10 เส้นทางท่องเที่ยวเด่นๆในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากทั่วประเทศ ซึ่งคัดสรรมาจากโครงการ “ด้วยเพราะรักจากพระราชินี” ที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
ปางอุ๋ง
“โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทย ปางอุ๋ง” จ.แม่ฮ่องสอน แต่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม มีปัญหาการขนส่งยาเสพติดชายแดน ถูกบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและเป็นสถานที่ทำไร่ฝิ่นของชาวเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการหมู่บ้านรวมไทย” ขึ้นในปี 2522
จากวันนั้นหมู่บ้านรวมไทยได้พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ จนเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามขึ้นชื่อ จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยที่หมู่บ้านรวมไทยมีที่พักแบบโฮมสเตย์ หรือสามารถกางเต็นท์ได้บริเวณสวนสนริมอ่างเก็บน้ำ
สวนพฤกษศาสตร์แม่ริม
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริว่า “...กล้วย ไม้ไทยมีความงาม และมีกลิ่นหอมมาก ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ไปทุกขณะ ขอให้ช่วยกันหาทางรวบรวมและอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากพอที่จะคืนสู่ป่าธรรมชาติได้…”
ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานจึงร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยหนึ่งในนั้นก็คือโครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากเพื่อการอนุรักษ์ฯแห่ง สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
สวนพฤกษศาสตร์ แม่ริม มีเนื้อที่กว่า 6,500 ไร่ เป็นสถานที่อนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้เป็นหมวดหมู่ตามวงศ์สกุลต่างๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด ภายในสวนมีแปลงรวมพันธุ์ไม้ดอกขาว อาคารเรือนกระจกที่รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ป่าไว้กว่า 350 ชนิด บางชนิดหาชมยากและใกล้สูญพันธุ์
ศิลปะไทยสร้างอาชีพที่อุบลฯ
ในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรใน อ.บุณฑริก กลุ่มราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จักสาน พระองค์จึงพระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มราษฎรดังกล่าว อีกทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้ราษฎรในพื้นที่ทำงานศิลปาชีพเพื่อเพิ่มพูน รายได้ เป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงเกิดเป็น “โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์” อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็นหัตถกรรมทอผ้าไหม ผ้าลายกาบบัว ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าจากบรรพบุรุษ และอนุรักษ์ให้คงอยู่จวบจนปัจจุบัน
ป่ารักน้ำ ส่องดาว
“โครงการป่ารักน้ำ” บ้านถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เกิดขึ้นมาจากการที่ป่าไม้ถูกทำลายโดยมนุษย์ซึ่งมีผลทำให้เกิดฝนแล้ง และเกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริว่า ป่าไม้เป็นที่ดูดซึมกักเก็บน้ำไว้ในรากใต้ดิน ทำให้เกิดน้ำซับเป็นลำธารขึ้น จึงทรงชักชวนให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่า และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทั้งการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า โดยจัดตั้งโครงการป่ารักน้ำแห่งแรกขึ้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อ.ส่องดาว คือจุดเริ่มต้นของโครงการป่ารักน้ำแห่งแรก และเป็นต้นแบบการอนุรักษ์ป่าที่ยั่งยืนโดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทั้ง การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า
ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ
“โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ และศูนย์ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ” จ.อ่างทอง สร้างขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2549 ราษฎรในจังหวัดอ่างทองจำนวนได้รับผลกระทบและไร้ที่อยู่อาศัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาเอนกประสงค์สำหรับเป็นที่พัก และทำโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยให้ราษฎรมีงานทำ ต่อมาฟาร์มตัวอย่างฯ จึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตรของอ่างทอง
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ชุมชนบางเสด็จ อันโด่งดัง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีดินเหนียวธรรมชาติสามารถปั้นตุ๊กตาได้ เพื่อช่วยสร้างรายได้นอกเวลาทำนาหรือช่วงน้ำท่วม ตุ๊กตาชาววังเป็นศิลปะจากดินเหนียวที่สวยงาม สะท้อนความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของไทย ซึ่งไม่เพียงสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน แต่ยังเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ส่งออกขายไปทั่วโลก
พิพิธภัณฑ์ผ้า ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ (ภาพ : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
พิพิธภัณฑ์ผ้า พระราชินี
“พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต” กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งมีจุดกำเนิดจากพระราชดำริให้ส่งเสริมงานอาชีพหัตถกรรม แก่ราษฎร และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเมื่อปี 2519
สำหรับพิพิธภัณฑ์ผ้านั้น ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ จัดตั้งขึ้นภายใต้มูลนิธิศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทยซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของ ชาติ ภายในมีการจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดสากลและฉลองพระองค์ชุดไทยราชนิยม ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินในพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมอันวิจิตรงดงามด้วยฝีมือชาวบ้านจากมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพฯ เช่น เรือพระที่นั่งจำลอง พระที่นั่งพุดตานถมทอง ฯลฯ มาจัดแสดงให้ได้ชมกัน
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล สัตหีบ
“ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ” อ.สัตหีบ จ. ชลบุรี จัดตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันสามารถเพาะฟักและอนุบาลเต่ากลับคืนสู่ท้องทะเลได้ ปีละกว่า 10,000 ตัว และเต่าเหล่านั้นได้กลับขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของ จ.ชลบุรี ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและสัมผัสกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล โดยจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเต่าทะเล พร้อมวิทยากรบรรยายให้ความรู้ สามารถชมเต่าทะเลอย่างใกล้ชิดได้ที่อะควาเรียมและบ่ออนุบาลลูกเต่าทะเล
สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ราชบุรี
สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ สวนผึ้ง
“สวนป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” อ.สวน ผึ้ง จ.ราชบุรี สร้างขึ้นเพื่อถวายในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในปี 2535 ตามพระราชปณิธานว่า “ขอให้สร้างป่า โดยมีคนอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ทำลายป่า คือต้องช่วยเขาเหล่านั้นจริงๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร เช่น มีที่ดินทำกิน มีน้ำ ให้การศึกษา ส่งเสริมงานศิลปาชีพต่างๆ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเขาอยู่ได้แล้วเขาจะได้ช่วยดูแลป่า”
ปัจจุบันที่นี่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้นานาชนิดที่มีค่าทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งศึกษาทาง ธรรมชาติ มี “แก่งส้มแมว” แก่งหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อนกลางแม่น้ำภาชีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าชม มีต้น “ส้มแมว” เป็นพันธุ์ไม้หาชมยาก นอกจากนี้ยังมีศูนย์ฝึกศิลปาชีพที่ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงให้มีอาชีพเสริมหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ เช่น การทอผ้า ปั้นเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ เพื่อนำมาขายเป็นที่ระลึกที่ศูนย์จำหน่ายสินค้า
ชายเลนสิรินาถราชินี
ป่าชายเลนสิรินาถราชินี
“ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี (ศูนย์สิรินาถราชินีฯ)” อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะมาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ฯ ป่าชายเลนอันเขียวชอุ่ม บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำนากุ้ง ทำให้ป่าชายเลนถูกบุกรุกอย่างหนัก จนกระทั่งปี 2539 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวนอุทยานปราณบุรี ในปี 2539 และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำปราณบุรีที่ถูกบุกรุกทำลาย กรมป่าไม้จึงสนองพระราชดำริด้วยการยกเลิกสัมปทานการทำนากุ้ง และต่อมาได้มีการปรับปรุงดินและฟื้นฟูป่าชายเลน จนสามารถนำความอุดมสมบูรณ์คืนสู่ระบบนิเวศดั้งเดิมได้สำเร็จ
ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในระบบนิเวศป่าชายเลน ที่ประชาชนสามารถเข้าชมได้ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางกว่า 1 กม. ลัดเลาะไปตามป่าชายเลน จะได้เห็นทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยในป่าชายเลน รวมถึงนกนานาชนิดด้วย
ศูนย์ศิลปาชีพ จ.นราธิวาส
ชุมชนหัวใจพอเพียง นราธิวาส
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรใน จ.นราธิวาสเมื่อปี 2547 ทรงทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่ สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อที่ดินในการจัดตั้ง “โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ขึ้น ที่บ้านรอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
จวบจนปัจจุบัน หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บริเวณรอบบ้านยกร่องสวนเพาะปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล รวมทั้งเลี้ยงปลาและสัตว์ปีกเพื่อเป็นอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริในสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หากใครได้ไปเที่ยวชมโครงการเหล่านี้แล้ว นอกจากจะได้สัมผัสกับพระราชปณิธานในการสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้ชาว ไทยแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองโครงการ พระราชดำริของพระองค์ท่านอีกทางหนึ่งด้วย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน