จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง
ความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของรัฐบาล เพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก สะท้อนออกมาจากนัยคำพูดของวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่ยังควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต ประเทศ (กยอ.) ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้
หากมองข้ามประเด็นจับเท็จคำพูดของประธาน ธปท.ที่ระบุว่า ไอเอ็มเอฟหนุนให้ไทยปรับนโยบายการเงินจากการกำหนด โดยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนด (Inflation Targeting) มาเป็นใช้นโยบายการเงิน โดยการใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนด (Exchangerate Targeting) แต่ไอเอ็มเอฟปฏิเสธว่าไม่ได้หนุนก็จะมองเห็นอีกมิติหนึ่งของสิ่งที่รัฐบาล ต้องการ
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ธปท.ได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงิน โดยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนด (Inflation Targeting) ซึ่งจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Manage Float)
และต้องยอมรับว่าตั้งแต่ ธปท.เอานโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ ก็ไม่ได้สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากมาย แถมช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความยืดหยุ่นให้เข้มแข็งขึ้น และช่วยสร้างพื้นฐานความเชื่อมั่นนักลงทุน และสถานะในต่างประเทศแข็งแกร่งขึ้น
เรื่องนี้ผู้บริหาร ธปท.ยืนยันตลอดเวลาว่า การที่ต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อ ก็เพราะเป็นดัชนีที่มีน้ำหนักมากในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นต้นทุนการผลิต หากต้นทุนการผลิตสูงก็จะทำให้การคุ้มค่าในการลงทุนต่ำ ซึ่งประเทศไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างชาติอยู่
แต่สิ่งที่รัฐบาลที่ไม่เน้นการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ชื่นชอบการเติบโตของตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ก็คือการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อกำหนดนโยบายการเงินเป็นการคุมปริมาณเงินในระบบ ด้วยการใช้ดอกเบี้ยคุม หากเงินเฟ้อสูง กนง.จะดึงดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อชะลอระดับราคาสินค้า แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำก็จะลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
และแน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยจะผูกพันไปกับค่าเงินบาท หากดอกเบี้ยสูงค่าเงินก็แข็งค่าและหากดอกเบี้ยต่ำค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศด้วย ถ้าเงินไหลเข้ามากค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันว่าการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 75% ของจีดีพีประเทศไทย ดังนั้นเมื่อการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทางผู้ส่งออกก็มักจะร้องขอให้มีการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า เพื่อส่งออกได้เพิ่มขึ้นและรัฐบาลก็อยากเห็นดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะนำการใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัว กำหนดนโยบายการเงินตามที่ประธาน ธปท.ต้องการ เป้าหมายอยู่ที่ต้องการให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จากปัจจุบันที่ยืนอยู่ในระดับ 3% เท่านั้นเอง
แต่หากมีการใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนดนโยบายการเงินจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะดีกว่าใช้นโยบายเดิมหรือไม่
คำตอบก็น่าจะหนักไม่มีทางที่ไม่น่าจะดีกว่า เพราะหากใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักก็เท่ากับว่า เรากลับไปใช้การกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นักค้าเงินจะมองเห็นเป้าหมายกรอบต่ำสุดและสูงสุดของค่าเงินที่รัฐบาลกำหนด ก็จะสามารถโจมตีค่าเงินบาทและเก็งกำไรได้อย่างสะดวกกว่าที่จะปล่อยอัตราแลก เปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการเหมือนปัจจุบัน
และหากเกิดแร้งทึ้งค่าเงินบาทขึ้นมาอีกครั้ง ทุนสำรองทางการของไทยที่รัฐบาลมองว่ามีเยอะมาก ควรจะนำเอาออกมาใช้ลงทุนดีกว่า ก็อาจจะหายวับไปในพริบตาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต
ปัจจุบัน ธปท.ก็ดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว ตามระบบลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ ช่วงไหนที่ค่าเงินบาทผันผวน ธปท.ก็จะเข้าไปแทรกแซง จนทำให้ ธปท.ขาดทุนสะสมในงวดปี 2554 รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท และมีส่วนทุนติดลบกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ผู้บริหาร ธปท.ให้นิยามการขาดทุนนี้ว่า “ขาดทุนเพื่อชาติ” ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่จำเป็นเลย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เห็นว่าการดูแลอัตราเงินเฟ้อนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีกำหนดเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อ จากการส่งสัญญาณผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อดูแลในการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งจะใช้วิธีไหนนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศว่านโยบายใดจะก่อ ให้เกิดประสิทธิผลมากกว่า
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและพึ่งพิงภาคการส่งออก ซึ่งแต่ละปีมีการขยายตัวสูงจนทำให้สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกต่อจีดีพีเกิน 100% เห็นว่าควรจะใช้วิธีดูแลด้วยอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการ ใช้ดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ได้ใช้วิธีนี้ควบคุมเงินเฟ้อเช่นกัน
“ส่วนตัวเห็นว่าทุกฝ่ายควรหันหน้ามาตกลงให้ชัดเจนว่าจะดำเนินนโยบายอย่าง ไร แล้วควรจะใช้นโยบายการเงินแบบไหนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการถ้า” ศุภวุฒิ กล่าว
แต่เรื่องการจะให้เปลี่ยนนโยบายการเงินไปเป็นกำหนดโดยอัตราแลกเปลี่ยน นั้น รัฐบาลคงจะไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย หากยังไม่สามารถแก้ไขราคาสินค้าแพงได้เหมือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
อาจจะเข้าข่ายยิ่งเปลี่ยนยิ่งเละ ส่งออกก็ไม่เพิ่มแถมเงินก็เฟ้ออีกต่างหาก
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน