จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ
หลังจากที่ปล่อยให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างเต็มที่ใน ปีนี้ ล่าสุดก็ถึงคราวของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ที่กำลังเปลี่ยนสภาพจากหมีจำศีลเป็นกระทิงกับเขาบ้าง
นอกจากราคาสินค้าเกษตรจะเป็นตัวนำขบวน อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งทั่วโลกตามที่เคยวิเคราะห์กันมาหลายครั้งแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มของ “ทองคำ” ก็กำลังมาแรงอย่างน่าจับตาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วยเช่นกัน
ราคาทองงวดส่งมอบล่วงหน้าเดือน ธ.ค. ในตลาดโคเม็กซ์ สหรัฐ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ปรับตัวบวกได้ถึง 19.90 เหรียญสหรัฐ พุ่งทะยานไปแตะที่ระดับ 1,642.90 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยทะลุแนวต้านทางเทคนิคที่ระดับ 1,630-1,640 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ไปแล้ว เฉพาะในเดือน ส.ค.นี้ เพียงแค่เดือนเดียวราคาทองปรับตัวบวกขึ้นไปแล้วถึง 35%
ในทางเทคนิคแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นเพียงการเก็งกำไรตามปกติของบรรดานักลงทุน
ทว่า หากราคาทองสามารถฝ่าแนวต้านยืนพื้นเหนือ 1,640 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ได้ยาวๆ จนราคาทองสามารถกลับเข้าสู่ตลาดกระทิงได้อย่างเต็มตัว เรื่องนี้อาจหมายถึงสัญญาณของ “ยุคเงินเฟ้อ” ที่กำลังจะกลับมาหลอนอีกครั้ง
แม้สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะอยู่ในภาวะง่อยเปลี้ยทั้งในฝั่งสหรัฐ ยุโรป และกระทั่งจีน ท่ามกลางแนวโน้มซบเซาลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จนไม่น่าจะมีปัจจัยอะไรมาส่งเสริมให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในปีนี้ได้ แต่ยิ่งเศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงเท่าไร นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็ยิ่งเก็งกันมากขึ้นเท่านั้น ว่าจะต้องมี “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ออกมาในเร็ววัน ซึ่งจะยิ่งนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มปริมาณเงินในระบบให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องไม่ลืมด้วยว่า ในปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรกำลังเป็นด่านหน้าที่ดันให้ราคากลุ่มสินค้า โภคภัณฑ์ทั่วโลกขยับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงทั่วโลกตั้งแต่ในสหรัฐ แอฟริกา ไปจนถึงอินเดีย ซึ่งปัจจัยทั้งสองข้อนี้ ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ที่จะดันให้ภาวะเงินเฟ้อกลับมาขยายตัวขึ้นอีก ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าหาทองกันอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะ เงินเฟ้อลง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การลงทุนในทองคำได้แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนหนัก ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่น และซื้อเงินเหรียญสหรัฐกันมากขึ้นจนทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นมา 3.3% ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่บรรดากองทุนเก็งกำไรความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์ ก็ลดการลงทุนในทองคำลงถึง 66% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดของปี 2554
อย่างไรก็ตาม ราคาทองที่ลดลงมา 4% ในไตรมาส 2 หรือลดลงมามากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551 ก็ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าไปซื้อกันอีกครั้ง โดยเฉพาะ 2 กองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของ จอร์จ โซรอส และ จอห์น พอลสัน ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจำนวนมากในเอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์ หรือกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะเดียวกันแนวโน้มที่เสาเศรษฐกิจสำคัญของโลกทั้ง 3 ต้นจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังในครึ่งปีหลังนี้ เริ่มมีสัญญาณความเป็นไปได้มากขึ้นทุกขณะ หลังจากที่ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสหรัฐไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีพอ ขณะที่ในยุโรปกับจีนกลับย่ำแย่ลง
บรรดานักลงทุนยังจับตาไปที่สหรัฐ กับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างวันที่ 1213 ก.ย.นี้กันเป็นพิเศษด้วยว่า จะมีมาตรการอัดฉีดใหม่ๆ ออกมาหรือไม่ หลังจากที่ส่งสัญญาณมาแล้วหลายครั้งว่า พร้อมที่จะเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ หากพบว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงาน
ปัจจุบันรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยังไม่สามารถลดอัตราการว่างงานให้ลงมาต่ำกว่าระดับ 8% ได้ ส่งผลให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ได้ส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า อาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อสร้างงานใหม่ให้มาก ขึ้น เนื่องจากวิกฤตการณ์หนี้ในยุโรปได้ฉุดรั้งการฟื้นตัวของสหรัฐมากกว่าที่คาด เอาไว้
สิ่งที่นักวิเคราะห์จับตาก็คือ หากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 ก็จะทำให้มีปริมาณเงินมหาศาลเข้าสู่ตลาดโลกอีกครั้งเหมือนในปี 2551 และ 2553 ซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและการขยับขึ้นของราคาทองตามมา
ทางด้านจีนนั้น ล่าสุดทางการเมืองฉงชิ่งได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.2 ล้านล้านบาท) เพื่อกระตุ้นการลงทุนในเมืองศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมทางตะวันตกเฉียงใต้ของ จีนแห่งนี้ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
งบกระตุ้นการลงทุน 1.5 ล้านล้านหยวน (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) ของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองฉงชิ่งครั้งนี้ จะทุ่มไปใน 7 ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมิคอล ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งฉงชิ่งถือเป็นเมืองที่ 5 ของจีนต่อจาก ฉางซา กว่างโจว หนานจิง และหนิงโป ที่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินพันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปในปีนี้
นอกจากรัฐบาลท้องถิ่นแล้ว นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งเองอาจต้องออกมาตรการอัดฉีดขนาน ใหญ่ออกมาเช่นกัน หลังจากที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้เพียง 7.6% หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี อันเป็นผลพวงจากแรงซื้อในฝั่งยุโรปและสหรัฐที่ซบเซาลง
ขณะเดียวกันบรรดานักวิเคราะห์ต่างก็จับตาไปยังสถานการณ์ในยุโรป ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ตามมาหรือไม่ จากการประชุมหลายระลอกที่จะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ อาทิ การหารือของนายกรัฐมนตรี ฌอง โคลด จุงเกอร์ แห่งลักเซมเบิร์ก ระหว่างการเดินทางเยือนกรีซ และการประชุมคณะกรรมการการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
“ตลาดกำลังคาดหวังมาตรการกระตุ้นหลายระลอกจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะมาตรการที่คาดหวังที่สุดก็คือ คิวอี ซึ่งไม่ได้เห็นกันมาระยะหนึ่งแล้ว” เดวิด เลนนอกซ์ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ แฟต โพรเฟตส์ ในออสเตรเลีย เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์
ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนคาดหวังจากยุโรป ยังเป็นเพราะการส่งสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากรัฐบาลเยอรมนีต่อการแก้ปัญหา หนี้กรีซ หลังจากที่ สส.รายหนึ่งในพรรคของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะผ่อนปรนเงื่อนไขให้รัฐบาลกรีซ ตราบใดที่กรีซแสดงความมุ่งมั่นว่าจะเดินหน้าทำตามเงื่อนไขรัดเข็มขัดรายจ่าย ต่อไป
ปัจจุบันแม้สัญญาณเงินเฟ้อจะยังไม่เห็นชัดเจนนัก แต่สัญญาณราคาอาหารแพงซึ่งเป็นด่านแรกของภาวะเงินเฟ้อ ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งราคาธัญพืช ข้าวโพด อ้อย จากปัญหาภัยแล้งรุนแรงในสหรัฐ และราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาฝนแล้งในอินเดีย
ราคาทองในช่วงครึ่งปีหลัง จึงมีสิทธิพุ่งทะยานสู่ภาวะขาขึ้นเหมือนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เมื่อนักลงทุนไม่เหลือทางเลือกของการพักเงินที่ปลอดภัยมากนัก
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน