วิจัยพบคนไทยงมงาย “ตัดกรรม-สแกนกรรม” เชื่อคอร์รัปชันทำบุญลบล้างได้
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อึ้ง! ผลงานวิจัยดีเด่น มจร.พบพุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื่อเรื่อง “ตัดกรรม-สแกนกรรม” แถมยังเชื่อว่า ฉ้อโกง ทุจริต คอร์รัปชัน ลดกรรมได้ด้วยการทำบุญบริจาค หนักกว่านั้นยังมีคนเชื่อว่า ใครๆ ก็บรรลุนิพพานได้
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในการจัดงานสัมมนาผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2555 มีผลงานวิจัยดีเด่นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็น อย่างมากคือ ผลวิจัย เรื่อง “หลักกรรมทางพระพุทธศาสนาในวิถีชีวิตของสังคมไทย”
นายวุฒินันท์ กันทะเตียน นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มจร.หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า ผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวได้ทำการสุ่มสำรวจความเห็นจากพุทธศาสนิกชนทั่ว ประเทศ 1,110 คน พบว่า ร้อยละ 90.2 ยังมีความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ขณะที่ร้อยละ 66.5 เชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ส่วนร้อยละ 18.2 เชื่อว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” และเมื่อถามถึงความเชื่อและการปฏิบัติเรื่องกรรมในชีวิตประจำวันพบว่า เรื่องที่พุทธศาสนิกชนเชื่อมากที่สุดถึงร้อยละ 79 คือ ผลกรรมจากการรังแกสัตว์ การเบียดเบียนผู้อื่นทำให้มีโรคภัย
นายวุฒินันท์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อถาม ถึงเรื่องการตัดกรรม หรือการทำให้กรรมในอดีตหมดไปนั้น พบว่า ร้อยละ 51.4 ไม่เชื่อว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ในขณะเดียวกันยังมีพุทธศาสนิกชนถึงร้อยละ 19 ที่มีความเชื่อเรื่องการตัดกรรม นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่า พุทธศาสนิกชนร้อยละ 30.6 เชื่อเรื่องคนที่มีญาณวิเศษ สามารถสแกนกรรม หรือสำรวจกรรมได้ ส่วนร้อยละ 35.7 ไม่เชื่อ ขณะที่ยังมีพุทธศาสนิกชนสูงถึงร้อยละ 31.5 ที่เชื่อว่า ใครๆ ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกรรมในอดีตชาติ ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อมีร้อยละ 38.8 และที่น่าตกใจ คือ จากผลการสำรวจพบว่ามีพุทธศาสนิกชนถึงร้อยละ 21.1 เชื่อว่าการทำชั่ว เช่น การทุจริต ฉ้อโกง หรือการคอร์รัปชัน สามารถลดทอนกรรมได้ด้วยการทำบุญบริจาค ส่วนกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เลือกปฏิบัติที่เชื่อว่าเพื่อลดกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ ร้อยละ 25.5 อันดับ 2 ถวายสังฆทาน ร้อยละ 21.8 อันดับ 3 ให้ทานแก่คนขอทานร้อยละ 21.1 อันดับ 4 ถือศีลในวันพระ ร้อยละ 20.8 และอันดับ 5 บวชชีพราหมณ์ ร้อยละ 12.1
พระสุธีธรรมานุวัตร หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง หลักกรรมทางพระพุทธศาสนาในวิถีชีวิตของสังคมไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าว สะท้อนพฤติกรรมคนไทยในปัจจุบัน ที่แม้จะเชื่อเรื่องกรรม แต่มีมุมมองเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีการทำนุบำรุงพุทธศาสนามากที่สุดในโลก และมีขอทานจำนวนมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมทำบุญด้วยการให้ทาน เพราะคิดว่าเป็นการก่อกรรมดีและมีส่วนช่วยทุเลาเบาบางผลของกรรมชั่วที่ได้ กระทำทั้งปัจจุบันและชาติก่อน ซึ่งตามหลักพุทธศาสนา สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว หากทุจริต ฉ้อโกง แล้วทำเงินไปบริจาค ก็ถือว่าทรัพย์ที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ ย่อมไม่ได้อานิสงส์จากการทำบุญเหมือนกับทรัพย์ที่หามาได้โดยการประกอบอาชีพ โดยสุจริตแน่นอน
โพลเผยคนเชื่อทำบุญช่วยล้างบาปทุจริตได้
จาก โพสต์ทูเดย์
มจร.เผยผลวิจัยชี้ ชาวพุทธ เชื่อทำบุญบริจาค ลดบาปจากการทุจริต-คอร์รปชันได้ บางส่วนไม่เชื่อทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มจร. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีวิจัย จัดงาน “สัมมนาผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2555” และแถลงผลวิจัย “ความเชื่อเรื่องกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทย”
นายวุฒินันท์ กันทะเตียน นักวิจัย บัณฑิตวิทยาลัย มจร. เปิดเผยว่า การสำรวจความเห็นชาวไทยพุทธทั่วประเทศ 1,110 คน พบส่วนใหญ่ 90.2% ยังมีความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว แต่มีบางส่วนไม่แน่ใจในผลของการกระทำ โดย 66.5% เชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” 18.2% เชื่อว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” ขณะที่ 15.3% ไม่แน่ใจ
ส่วนความเชื่อและการปฏิบัติเรื่องกรรมในชีวิตประจำวันพบว่า มีเรื่องที่เชื่อมากที่สุดเพียงเรื่องเดียวคือคนรังแกสัตว์/เบียดเบียนผู้ อื่นทำให้มีโรคภัยเบียดเบียนสูงถึง 79% ส่วนเรื่องการตัดกรรม 51.4% ไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อีก 19% เชื่อ ส่วน 24.1% ไม่แน่ใจ ทำให้เรื่องนี้ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทย โดยกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เลือกปฏิบัติเพื่อลดกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ 25.5% ถวายสังฆทาน 21.8% ให้ทานแก่คนขอทาน 21.1% ถืออุโบสถศีลในวันพระ 20.8% และบวชเนกขัมมะ/ชีพราหมณ์ 12.1%
“ที่น่าตกใจคือ เรื่องการทุเลาเบาบางผลของกรรม มีคนไทยถึงร้อยละ 21.1 เชื่อว่าการทำชั่ว เช่น การทุจริต ฉ้อโกง หรือการคอรัปชั่น สามารถลดทอนกรรมได้ด้วยการทำบุญบริจาค ขณะที่ 26% เชื่อว่าการดื่มสุราไม่เป็นกรรมชั่วเพราะไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นพฤติกรรมเชิงจริยธรรมที่เป็นประเด็นปัญหาของสังคมไทยใน ปัจจุบัน โดยเป็นความพยายามหาเหตุผลเข้าข้างพฤติกรรมของตนเอง หรือหาวิธีปรับจากผิดให้เป็นถูก”นายวุฒินันท์ กล่าว
พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าว สะท้อนพฤติกรรมคนไทยในปัจจุบัน ที่แม้จะเชื่อเรื่องกรรม แต่มีมุมมองเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีการทำนุบำรุงพุทธศาสนามากที่สุดในโลก และมีขอทานจำนวนมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมทำบุญด้วยการให้ทาน เพราะคิดว่าเป็นการก่อกรรมดีและมีส่วนช่วยทุเลาเบาบางผลของกรรมชั่วที่ได้ กระทำทั้งปัจจุบันและชาติก่อน ซึ่งตามหลักพุทธศาสนา สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว หากทุจริต ฉ้อโกง แล้วทำเงินไปบริจาค ก็ถือว่าทรัพย์ที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ ย่อมไม่ได้อานิสงส์จากการทำบุญเหมือนกับทรัพย์ที่หามาได้โดยการประกอบอาชีพ โดยสุจริตแน่นอน
ด้าน พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร. ในฐานะผู้ผลักดันการวิจัยของ มจร. กล่าวว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องใส่ใจกับการปฏิบัติที่ถูกต้อง เห็นผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ไม่โอนอ่อนตามกระแสวัตถุและอำนาจของเงินตรา เรียนรู้อย่างจริงจังเพื่อนำพาสังคมไปสู่ความดีงาม สร้างสังคมให้ดีด้วยปัญญา
ทั้งนี้มจร. พยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านการวิจัยใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.คัมภีร์ หลักธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง 2.การประยุกต์หลักธรรมทางพุทธศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม 3.การวิจัยทางด้านพุทธศาสนาเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรพุทธศาสนา การบริหารองค์กรสงฆ์ และ 4.การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยมีโน้มเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่น การวิจัยคัมภีร์ หลักธรรม ได้นำไปจัดทำหนังสือเรียนด้านพุทธศาสนาในสถานศึกษาทุกระดับ การอบรมพระธรรมทูตเพื่อไปเผยแผ่พุทธศาสนาประจำวัดไทยในประเทศต่างๆ ทั่วไป เป็นต้น
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน