สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศุภวุฒิ ท้าธปท.ดีเบตกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

'ศุภวุฒิ'ท้าธปท.ดีเบตกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"ศุภวุฒิ"ฟันธงเศรษฐกิจไทยเหมาะใช้ "อัตราแลกเปลี่ยน" คุมเงินเฟ้อ เหตุสัดส่วนนำเข้า-ส่งออกไทยสูงขึ้น สะท้อนระบบเศรษฐกิจเปิด พร้อมดีเบตทุกเวที
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันอย่างเป็นมั่นเหมาะว่า นโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นนโยบายที่สอดรับกับเศรษฐกิจไทยมากสุดเวลานี้ แต่มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่า "ไม่จริงเสมอไป" เพราะ "เครื่องมือ" ที่ "คุมเงินเฟ้อ" ได้ดีกว่า คือ "อัตราแลกเปลี่ยน" เพราะเงินเฟ้อโลกกับเงินเฟ้อไทยมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ดังนั้น ที่เห็นเงินเฟ้อไทยต่ำ อาจเป็นเพราะเงินเฟ้อโลกต่ำก็ได้

หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชื่อนี้ คือ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" จะพาไปรับฟังแนวคิดจากเขากัน ศุภวุฒิ มั่นใจว่า การใช้นโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จะทำได้ยากขึ้นในอนาคต เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เป็นผลจากมูลค่าส่งออกที่มีสัดส่วนเพิ่มต่อเนื่อง เมื่อเทียบจีดีพี แต่เขาไม่ได้หมายความว่า กรอบเป้าเงินเฟ้อเป็นนโยบายการเงินที่ไม่ดี

"การตั้งเป้าเงินเฟ้อโดยใช้วิธีปรับขึ้น หรือลดดอกเบี้ย เป็นแนวคิดบนสมมติฐานว่า "เศรษฐกิจปิด" เมื่อเศรษฐกิจไม่ปิด จึงมีคำถามว่า การใช้ดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อได้ผลจริงหรือไม่ เพราะการเป็นประเทศเล็กและเปิด เงินเฟ้อมักถูกกำหนดจากข้างนอก ถ้าต้องการดูแลเงินเฟ้อ ก็ควรดูผ่านอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate)"

ส่วนข้อสังเกตที่ว่าอุตสาหกรรมในไทยส่วนใหญ่ ผลิตเพื่อการส่งออก และไม่เกี่ยวข้องกับในประเทศมากนัก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อีกทั้งตะกร้าผู้บริโภคไทยยังนำเข้าสินค้าแค่ 15% ศุภวุฒิ ยอมรับว่า ใช่.. เพียงแต่การดูแบบนี้ อาจไม่ถูกต้องนัก เช่น ข้าว ซึ่งไทยผลิตข้าวได้ปีละ 20 ล้านตัน จำนวนนี้ส่งออก 10 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 10 ล้านตัน แต่ราคาข้าวล้วนถูกกำหนดโดยราคาต่างประเทศ ยกเว้นกรณีที่รัฐบาลเข้าแทรกแซง

กรณีรถยนต์ แม้ไทยผลิตเพื่อส่งออก แต่ราคารถยนต์ และน้ำมัน ถูกกำหนดโดยตลาดโลก เมื่อราคาตลาดโลกหรือเงินเฟ้อโลกเพิ่ม เงินเฟ้อไทยย่อมเพิ่มขึ้นด้วย

"ถ้ายอมรับว่า เราเป็นประเทศ Price Taker (ตามตลาดโลก) คือ ราคาตลาดโลกเป็นอย่างไร ราคาของไทยย่อมเป็นอย่างนั้น หรือเงินเฟ้อโลกเป็นอย่างไร เงินเฟ้อไทยย่อมเป็นอย่างนั้น ในกรณีนี้ ดอกเบี้ยโลกเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยไทยก็ควรต้องเป็นอย่างนั้นด้วย สุดท้ายตัวที่คุมเงินเฟ้อได้ดีสุด คือ อัตราแลกเปลี่ยน"

เขาบอกด้วยว่า เมื่อรูปการณ์เป็นแบบนี้ หาก ธปท.ยังขึ้นดอกเบี้ยอีก ยิ่งดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น ถ้าดูพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 0.26% ขณะที่พันธบัตรไทยรุ่นเดียวกัน ดอกเบี้ย 3% จึงไม่แปลกที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามา ทำให้ ธปท.ต้องสนับสนุนคนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล

"ที่ผ่านมา ผมไปดูเงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้ว ก็พบว่า Correlation (ความสัมพันธ์) มีกว่า 70% ไม่ว่าจะก่อนวิกฤติ ซึ่งยังไม่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือหลังวิกฤติที่เริ่มใช้แล้ว ที่บอกว่าเงินเฟ้อเราต่ำเพราะใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรณีนี้อาจไม่จริงก็ได้ ความจริงอาจเป็นเพราะเงินเฟ้อโลกต่ำ ทำให้เงินเฟ้อเราต่ำด้วย ถ้ากลับไปดูช่วงที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 2% เงินเฟ้อโลกก็อยู่เพียงแค่ 1%"

สำหรับนิวซีแลนด์ที่เป็นต้นกำเนิดการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเทศเล็กมีประชากรเพียง 3 ล้านคน และเศรษฐกิจเขาไม่ได้เปิดมาก มีการนำเข้าและส่งออกเพียง 70-80% ของจีดีพี ขณะที่ไทยสัดส่วนนำเข้าและส่งออกสูงราว 140% ของจีดีพี

นอกจากนี้ เขายังเห็นด้วยถ้าจะทำประชาพิจารณ์หรือเปิดดีเบต ในหมู่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีต่อนโยบายการเงินของไทย เรื่องนี้เข้าใจว่ามูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก็สนใจที่จะจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศุภวุฒิ ท้าธปท. ดีเบต กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

view