สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัดฉีดดคิวอี3เงินบาทผันผวนหนัก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์/พรสวรรค์ นันทะ

หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ผ่านการซื้อสินทรัพย์และหลักทรัพย์รอบใหม่ (คิวอี 3) พร้อมกับขยายเวลาการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำเป็นพิเศษให้นานจนถึง กลางปี 2558 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ทองคำ และน้ำมัน พุ่งทะยานรับข่าว

วันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการหนุนหลังด้วยสัญญาจำนองในวงเงิน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งจะดำเนินควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนตราสารหรือหลักทรัพย์ระยะสั้นที่เฟด ถือครองในงบดุลเป็นตราสารหรือหลักทรัพย์ระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี

การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านคิวอี 3 โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าเงินที่เฟดอัดฉีดจะสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายใน 1 ปี

เท่ากับในโลกนี้จะมีเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงโดยอัตโนมัติ และดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในทุกหมวดปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในระยะถัดไป

เมื่อเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า ผลกระทบโดยตรงคือเงินบาทและสกุลเงินในเอเชียทั้งหมดจะแข็งค่า เพราะจะเห็นเงินเหรียญสหรัฐไหลเข้าพักในที่ที่มีผลตอบแทนสูง ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดพันธบัตร แต่ไม่ได้เข้ามาในรูปแบบการลงทุนระยะยาว (เอฟดีไอ) เป็นเพียงการลงทุนระยะสั้นหาผลกำไรที่ดีที่สุด

เงินสกุลต่างๆ จะแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกัน เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินทุกสกุลในเอเชียจะแข็งค่าเหมือนกันหมด เพราะเงินที่เข้ามาจะกระจายตัวทั้งภูมิภาค เมื่อเงินบาทแข็ง เงินริงกิตของมาเลเซียและเงินเหรียญสิงคโปร์ก็จะแข็งค่าด้วย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก จากนี้รัฐบาลจึงต้องติดตามความผันผวนค่าเงินที่เกิดจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และผลต่อตลาดทุนของไทย เพราะหากเงินเข้ามาก็จะเข้าในทุกตลาด ทั้งพันธบัตร หุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองศักยภาพพื้นฐานประเทศและความน่าสนใจในการลงทุน ไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุน เพียงแต่เป็นเงินทุนระยะสั้น ไม่ได้สะท้อนศักยภาพการแข่งขันในด้านการลงทุนระยะยาว เมื่อเป็นเงินเก็งกำไรช่วงสั้น จึงไม่น่ามีผลต่อนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นหลัก ในทางกลับกัน หากเป็นเงินร้อนที่ไหลเข้ามาพักชั่วคราวและทำให้เงินบาทแข็งค่า ธปท.ก็มีวิธีในการเข้าแทรกแซงเงินบาทอย่างที่เคยทำมา เพื่อดูแลเงินบาทและผู้ส่งออก

ความเหมาะสมของการงัดนโยบายการเงินเข้าสู่เงินร้อน จึงไม่น่าเป็นวิธีที่ ธปท.เลือกใช้ แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปีนี้ยังเหลืออีก 2 ครั้ง

แต่การจะลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น หาก ธปท.ให้ความสำคัญ น้ำหนักจะอยู่ที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ที่ฉุดการส่งออกลดลงมากกว่าที่คาดหมาย เป็นความกังวลจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นเรื่องเงินทุนไหลเข้าไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยน นโยบายการเงินของ ธปท. เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม หากจะมองในมุมเงินเฟ้อจากการอัดฉีดเงินเหรียญสหรัฐเข้าสู่ระบบ ก็จะเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆ ที่ไม่ได้ส่งผลมากนักเหมือนที่สหรัฐเคยงัดมาตรการคิวอี 1 และ 2 ออกมาแล้ว ปรากฏผลข้างเคียงก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาก ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อในไทยขณะนี้ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง

สำหรับทิศทางตลาดเงินตลาดทุน ระดับอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ในตลาดต่างๆ ในขณะนี้น่าจะซึมซับข่าวดีของมาตรการคิวอี 3 ค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งทำให้การประเมินทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในช่วงหลังจากนี้ นอกจากจะต้องพิจารณาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังต้องติดตามอีกหลายตัวแปรประกอบเข้าด้วยกัน ได้แก่ เม็ดเงินจริงที่เคลื่อนออกจากตลาดสหรัฐและพัฒนาการแก้ปัญหาหนี้ในยุโรป ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าจะสร้างแรงกดดันเงินเหรียญสหรัฐได้ยาวนานเพียงใด

ขณะที่ในมุมมองของ สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน คือ มาตรการคิวอี 3 ไม่ส่งผลต่อการใช้นโยบายการเงินของ ธปท.เพราะนโยบายการเงินจะคุมเรื่องเสถียรภาพด้านราคาและอัตราการเติบโตทาง เศรษฐกิจเป็นหลัก จึงมองว่าการประชุม กนง.ครั้งหน้าที่จะถึงนี้ ธปท.ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% โดยไม่ปรับลด แต่การประชุมครั้งสุดท้ายของปีน่าจะมีน้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ จะกระทบการส่งออกของไทยเข้ามาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มมีน้ำหนักเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น หากการส่งออกของไทยมีปัญหา ก็มีโอกาสที่ ธปท.จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ได้ทัน

 

กรณีของคิวอี 3 ที่จะส่งผลต่อไทยคือ ความผันผวนของค่าเงิน จะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทและสอดคล้องกันทั้งภูมิภาค หากเงินไหลเข้ามาในเอเชีย ก็น่ากระจายถึงกันหมด เป็นแรงกดดันของผู้ส่งออกไทยในระยะถัดไป แต่หากเงินทุกสกุลในเอเชียแข็งค่าเหมือนกัน ก็เป็นการเฉลี่ยผลกระทบของผู้ส่งออกที่ไม่เฉพาะผู้ส่งออกไทยที่ต้องเผชิญ ปัญหาเพียงประเทศเดียว

เงินบาทในช่วงสิ้นปีนี้จึงมีโอกาสอยู่ที่ระดับ 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 3% แต่ก็มีโอกาสที่การประชุมดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปี ธปท.จะมีแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้ออาจก่อตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่มีผลถึงขั้นเป็นประเด็นหลักของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

ในขณะที่การใช้นโยบายการเงิน ก็ต้องพิจารณาในฟากของดอกเบี้ยที่แท้จริงด้วย เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค และสูงกว่าไต้หวันเพียงประเทศเดียว นี่จึงเป็นแรงกดดันในการพิจารณาดอกเบี้ยจากการใช้เครื่องมือทางการเงินใน ภาวะที่นโยบายการคลังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้ดี มีการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการขอสินเชื่อต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากภาคธนาคารพาณิชย์ที่ขยับเป้าสิน เชื่อปีนี้แทบทุกแห่ง ในเมื่อเศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ดี ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่ ธปท.ต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย

แนวทางการลดดอกเบี้ยจึงไม่ใช่เครื่องมือที่ต้องงัดออกมาใช้รับมาตรการคิว อี หากย้อนกลับไปดูท่าทีของกนง.ให้ดี ไม่มีครั้งใดที่การพิจารณาลดดอกเบี้ยเกิดจากความตื่นตระหนกจากมาตรการต่าง ประเทศโดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจแท้จริงในประเทศเพียงสักครั้งธปท.น้อมรับคำแนะ นำรับมือทุนไหลเข้า”ดร.โกร่ง” ชี้เป็นคำแนะนำที่ดี และสอดคล้องกับแนวทางที่ธปท.ดำเนินการอยู่แล้ว

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากการหารือกับประธานกรรมการ ธปท. วีรพงษ์ รามางกูร ในเรื่องการเตรียมตัวรับมือเงินทุนไหลเข้า โดยมีความเห็นสอดคล้องกันและบางส่วนเป็นมาตรการที่ ธปท.มีอยู่แล้ว ดังนั้นจะยังไม่มีมาตรการใหม่ออกมา

“ที่สำคัญค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากนัก เมื่อเทียบกับสกุลในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทเริ่มปรับอ่อนค่าลงแล้ว อย่างไรก็ตาม หากต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้ถี่มากขึ้นก็สามารถทำได้ในหลายช่อง ทางอยู่แล้ว” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

เมื่อ ธปท.ตัดสินใจไม่ออกมาตรการเพิ่ม สิ่งที่ ธปท.จะต้องทำคือ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ธปท.เองมีการเตรียมพร้อมและมีเครื่องมือไว้รับมือความผันผวนของการไหลเข้า ออกของเงินแล้ว อาทิ กเครื่องมือที่เรามีก็น่าจะพอรู้ๆกันอยู่บ้างแล้ว อย่างการเปิดโอกาสให้คนไทยและธุรกิจไทยสามารถนำเงินออกไปต่างประเทศได้สะดวก ขึ้น เพื่อสร้างสมดุลเงินไหลเข้าออก

ขณะเดียวกัน บางส่วนก็อาจจะขยายหรือผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่ที่ประเมินดูตอนนี้เงินทุนไหลเข้าไม่มีอะไรผิดปกติ เงินบาทยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลในภูมิภาค และอ่อนค่าลงบ้างแล้ว” นายประสารกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.มั่นใจว่า จากการวิเคราะห์ภาวะเงินทุนไหลเข้ารอบนี้ มองว่าไม่น่าจะรุนแรงเท่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียและไทยเราเคยมีบัญชีเดินสะพัดสูง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็สูง ทำให้มีแรงกดดันจาก 2 ด้าน คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเ และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล แต่สถานการณ์ในขณะนี้แตกต่างกัน เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งไทย เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวอย่างร้อนแรงและสูงมาก ไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แม้การส่งออกจะชะลอตัวมาก

ฉะนั้น แรงกดดันด้านดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะไม่สูงและดุลการชำระเงินก็จะไม่ขาดดุล หรือเกินดุลมากจนเกินไปมากเท่ากับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้นภาวะเงินทุนไหลเข้าจึงไม่น่าจะรุนแรงเท่าในอดีต

ทั้งนี้ แนวทางที่ ธปท.เตรียมจะมีการผ่อนผันมากขึ้นในการเปิดให้เงินทุนไหลออก อาทิ เปิดให้นักลงทุนซื้อเงินเหรียญสหรัฐได้ไม่จำกัด ในกรณีที่จะใช้เงินภายใน 1 ปี หรือกรณีที่ถือเกิน 1 ปี จำกัดวงเงินที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

การฝากเงินในบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) และกรณีที่จำเป็นต้องขายเงินที่ถือครอง ก็สามารถทำได้ เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น เพราะช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีของคนที่ต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ โดยผู้นำเข้าหรือผู้ที่จะชำระคืนหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากสภาพคล่องเงินเหรียญสหรัฐเข้ามาทำให้ซื้อได้ในราคาถูก ด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการดูแลสถาบันการเงิน ธปท.ก็มีอยู่พร้อม ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในไทยก็เข้มแข็ง

ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนและการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ คิวอี 3 สะเทือนไทยทางตรงคือ ค่าเงิน สภาพคล่อง และดอกเบี้ย แต่ผลกระทบทางอ้อมไม่มากนัก เศรษฐกิจไทยยังดีพอจะรับแรงกระแทกจากปัจจัยนอกประเทศได้

ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมี‌ภูมิคุ้มกันต่อความผันผวน‌และการหดตัวของ‌เศรษฐกิจโลก ซึ่ง‌มาตรการกระตุ้น‌เศรษฐกิจของสหรัฐ ‌คิวอี 3 สะเทือนไทย‌ทางตรงคือ ค่าเงิน ‌สภาพคล่อง และ‌ดอกเบี้ย แต่ผลกระทบทาง‌
อ้อมไม่มากนัก เศรษฐกิจไทยยัง‌ดีพอจะรับแรงกระแทกจากปัจจัยนอก‌ประเทศได้

แต่เรื่องนี้ก็อย่าประมาท หากเราสร้างหนี้จน‌เกินตัว รัฐบาลยังใช้เงินอย่างไร้ประสิทธิภาพ‌ละลายไปกับโครงการประชานิยม ไทยอาจจะกลาย‌เป็นภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ในที่สุด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัดฉีด คิวอี3 เงินบาท ผันผวนหนัก

view