สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พล.อ.บุญสร้าง ย้อนบทเรียน 19 กันยา 49 ทหารเป็นเหยื่อนักวางแผนการเมือง..จัดการม็อบก็เจ๊ง

จากประชาชาติธุรกิจ

ย้อนค่ำคืนแห่งการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) ถ.แจ้งวัฒนะ

เขาเป็นคนบอกให้เพื่อนนายพลทั้งระดับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา อย่าใช้กำลังต่อสู้กับคณะยึดอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด

6 ปีให้หลังการยึดอำนาจ "พล.อ.บุญสร้าง" ในวัยปลดเกษียณ เปิดบ้านย่านรัชดาภิเษก สนทนากับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงเหตุผลที่เขาไม่คิดใช้กำลังต่อสู้กับเพื่อนทหารด้วยกัน

ในฐานะอดีต 1 ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เขาเล่าตำนาน ย้อนอดีต วันเกือบนองเลือด

- ถูกยกย่องว่าเป็น "วีรบุรุษ 19 กันยา" เพราะเป็นผู้ทักท้วงว่า อย่าไปต่อสู้

จะได้ไม่เสียเลือดเนื้อ โดยเฉพาะกับทหาร หรือประชาชน ซึ่งควรจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราป้องกันการเสียเลือดเนื้อได้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

- แต่คืนนั้นก็เตรียมศูนย์บัญชาการการตอบโต้เหมือนกันใช่ไหม

ผมว่าเมื่อเรารู้เหตุการณ์ เราไปนั่งประชุมกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ไปตั้งกองบัญชาการเพื่อไปปราบแบบนั้น (หัวเราะ)

สถานการณ์ยุ่งยากพอสมควร ถ้าสู้กัน...มันก็ตายกันมากมาย การยึดอำนาจต่อสู้กันในประเทศ ต้องหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด เพราะมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหรอก

- ในวอร์รูม มีคนเห็นตรงกับท่านว่าไม่ควรใช้กำลังหรือว่าท่านเป็นเสียงเดียว

ผมก็ว่าเขาเห็นด้วยทั้งนั้นที่สำคัญ คือผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.เรืองโรจน์ (มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น) ท่านเห็นด้วย สู้กันไปก็นองเลือด ที่บางคนบอกว่าต้องนองเลือดก่อนมันถึงสงบ คิดว่าจริงไหม ทั้งที่ในอดีตก็นองเลือด แต่ไม่เห็นมันสงบ เดี๋ยวนี้ก็นำเรื่องที่นองเลือดมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันไปเรื่อย เจ็บแค้นกันไม่รู้จักเลิก มันไม่ใช่วิธีที่ดีแน่นอน ดังนั้นถ้าคนมีทางเลือกก็ไม่เลือกการนองเลือด

- มีการกล่าวหาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นต้นเหตุความขัดแย้ง คิดแบบนั้นไหม

ผมไม่คิดอะไร เพราะสังคมคอยแต่ชี้ว่าใครเป็นคนผิด หรือเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้น บอกว่าใครคือจำเลยที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ แล้วพิสูจน์ไม่ได้ด้วยเนี่ยนะ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา

- สังคมได้บทเรียนอะไรจากการรัฐประหาร 19 กันยายน

1.ต้องไม่รุนแรง บทเรียนของโลกตลอดมา ถ้ารุนแรงก็ฆ่ากันตายฟรี ชีวิตคนมันมีค่า 2.ทำยังไงก็แล้วแต่ จะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ ใครเป็นรัฐบาล จะต้องทำงานให้ดี เป็นผู้นำของประชาชน ส่วนประชาชนก็มีบทบาทชี้นำให้รัฐบาลทำงาน ไม่ปล่อยให้มีเชื้อความขี้โกง

- เชื้อที่ทหารจะปฏิวัติยังมีอยู่หรือไม่

อย่าเรียกว่าทหารเลย บางคนไม่เป็นทหารก็ไปยุให้ทหารปฏิวัติก็มี บางครั้งทหารบอกว่าประชาชนเรียกร้องก็มี แต่ผู้ปฏิวัติเขาต้องมีมติมหาชนจำนวนมากพอสมควร ว่าประชาชนต้องการให้ปฏิวัติ ไม่เช่นนั้นเขาไม่กล้าทำหรอก

- แต่พอปฏิวัติไปแล้ว คนที่เคยสนับสนุนกลับหายไป

(ย้อนถาม) ใช่ไหม มันขึ้นกับหลายอย่าง วิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยดี ประชาชนปฏิวัติเสียเองสิ ไม่ได้หมายถึงยึดอำนาจ แต่คือ 1.ปฏิวัติตัวเองให้ดี ขยันขันแข็ง 2.ปฏิวัติคนรอบข้าง สังคมก็จะเรียบร้อย ด้วยความสันติ ไม่รุนแรง ยั่งยืน

- แวดวงการเมือง กองทัพจะต้องปฏิวัติตัวเองอย่างไร

มันไม่ง่าย เหมือนต้นไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประชาธิปไตยมันไม่ได้เกิดในประเทศเราโดยธรรมชาติ เหมือนกับต้นไม้ที่โตแล้ว ออกดอกสวยงดงาม เหมือนบ้านเมืองเขาเจริญงดงาม เราก็อยากมีแบบนั้นบ้าง เราก็ไปล้อมต้นไม้ต้นที่โตแล้วมา พอมาลงดินบ้านเรา ดินก็ไม่เหมือนกัน สุดท้ายอาจเหี่ยวตายไป หรือบางทีดูงดงามดีจากภายนอก แต่รากไม่ค่อยออก ลมพัดมาแรง ๆ ก็ล้ม

- ต้นไม้ประชาธิปไตยของไทยใส่อะไรถึงจะเป็นต้นไม้ที่ยั่งยืน

แย่นะ (หัวเราะ) ใส่ปุ๋ยอะไรก็ต้องวิเคราะห์ แต่ยังไม่มีปุ๋ยที่ต้นไม้ชนิดนี้ชอบ มันจึงยังไม่แข็งแรง เห็นได้ชัดเจนหลายเรื่อง คนไทยมีปัญหากับประชาธิปไตยเยอะ เพราะนิสัยคนไทยไม่เข้ากับประชาธิปไตย อุปนิสัยคนก็ไม่เหมาะ อย่างในที่ประชุมดูเหมือนเห็นด้วย แต่พอออกมาข้างนอกก็ด่าที่ประชุมกันขรม ทั้งที่ตัวเองก็อยู่ในที่ประชุม แต่กลับไม่พูดอะไร

- เคยบอกว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง จะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ตอนที่พูดเรื่องนี้เป็นช่วงที่มีการผลักดันให้ทหารแก้ปัญหาการเมืองให้ไปจัดการไอ้โน่นไอ้นี่ ให้ทหารเข้าไปเป็นเหยื่อของนักวางแผนการเมือง เพราะรัฐบาลขณะนั้นต้องการให้ทหารไปจัดการกับม็อบ ทหารไปจัดการกับม็อบก็เจ๊งอยู่แล้ว

- แสดงว่าทหารกลายเป็นเหยื่อของการเมืองที่ดึงเข้าไปแก้ปัญหาต่าง ๆ

จะเรียกว่าเป็นเหยื่อหรือเปล่าไม่รู้ แต่ทหารก็จะต้องพูดบ้าง เพื่อไม่ให้นักการเมืองไม่กล้าใช้ในงานที่ส่งเข้าไปตาย (เน้นเสียง) จึงบอกว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง เพื่อไม่ให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลที่จะใช้ทหาร เพราะรู้ดีว่าทหารไม่ได้ฝึกมาให้ดูแลประชาชน แต่ทหารฝึกมาฆ่าคน

- การส่งทหารไปตาย หรือไปทำให้คนอื่นตาย เป็นสิ่งที่ทหารอึดอัดใจทุกครั้ง

อึดอัดทุกครั้ง ทุกครั้งเลือกได้ไม่มีใครเขาไป แม้แต่ไปปฏิวัติมันก็อึดอัด ไม่มีใครเขาอยากปฏิวัติ เพราะทหารต้องเป็นคนรับโทษทัณฑ์จากผลเสียที่เกิดขึ้นมากกว่าคนอื่น เลือกได้เขาไม่ทำ ทำเสร็จก็ถูกคนด่า

- มองความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไร

ผมก็รู้สึกเขาเรียบร้อยดีนะ ก็รู้สึกดี ไม่เลว ไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรรุนแรง อย่างน้อยที่สุดไปกันได้ดีพอสมควร

- บทเรียนรัฐประหาร ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่ทหารเองที่จะต้องเป็นแพะรับบาป

ใช่ ไม่มีอะไรดีขึ้นกับส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะกองทัพ หลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ทุกคนก็รู้ พูดจริง ๆ เขาก็ไม่อยากทำ ดูที่เหตุด้วยจะดีนะ ที่เขาอ้างเพราะเรื่องจริงมันเป็นอย่างนั้น คือขี้โกงกันเยอะ เศรษฐกิจย่ำแย่ คนขี้โกงเข้าบริหารบ้านเมือง มีการหมิ่นเบื้องสูง  เล่นพรรคเล่นพวก ก็ทำให้มันดีซะจะง่ายกว่า

- แต่เรื่องที่ทำให้ประเทศสะดุดคือการทำรัฐประหาร

เรื่องที่สะดุดอีกอย่างคือ เมื่อรัฐประหารผ่านไปแล้วก็ยังไปขุดแผลกันอยู่ ไม่ต้องทำอะไรกัน หลังจากสะดุดหกล้มหัวแตก แทนที่จะลุกขึ้นวิ่งต่อไป ก้อนหินนั้นจบไป ก็พยายามไปหาว่าก้อนหินที่ตัวเองไปชนมันอยู่ที่ไหน ไม่ยอมลุกขึ้น คลำแผลที่เจ็บปวดมันยิ่งเจ็บหนักเข้าไปอีก หรือไปคิดว่าใครมาหลอกตีหัว มีคนมาแกล้งหรือเปล่า มันไม่ไปข้างหน้า พวกที่ทำอย่างนี้ก็มักตกเป็นเหยื่อของคนที่ฉวยโอกาสจากความมีอคติ เคียดแค้น เขาก็เล่นจากความรู้สึกนี้ให้ได้เปรียบกับพวกเขา เขาก็ทำนาบนหลังคน

- มีการกล่าวว่ามีตัวแปรที่ทำให้ 2 ขั้วหันหน้าเข้าหากันไม่ได้คือ คุณทักษิณ ชินวัตร ท่านเห็นด้วยไหม

ถ้าผมอยู่ในฐานะที่ส่งผลต่อส่วนรวม ผมก็ต้องระมัดระวังตัวมาก ๆ ถ้าตัวเองมีสตางค์ร้อยล้านบาท อยู่ในประเทศไทยแล้วทำให้คนวุ่นวาย แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นสายล่อฟ้า ผมก็จะไปอยู่ข้างนอก แล้วทำประโยชน์จากนอกประเทศ แต่จะต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะยิ่งอยู่ไกล ยิ่งไม่รู้อะไรชั่วอะไรดี แต่สิ่งที่ทำ เช่น เขียนหนังสือ บริจาคเงินที่เป็นประโยชน์ ชี้นำสิ่งที่เป็นคุณธรรม วันหนึ่งแก่ลง ผลบุญที่ทำไว้ คนไทยทุกฝ่ายก็จะอ้าแขนรับ กลับมาอย่างสง่างาม และไม่เดือดร้อนทั้งปัจจุบันและในอนาคต มันดีสำหรับทุกฝ่าย

- คิดว่า คมช.ควรได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาบ้าง

ไม่ต้องเรียกความยุติธรรม คมช.คงไม่อดตาย คงอยู่กันไปได้ จะด่ากันยังไง เขาคงไม่ติดยึดอะไรนักหนา แต่อยากให้สังคมไม่สะดุดอยู่อย่างนี้

- ในรัฐบาลสมัครพูดถึงมือที่มองไม่เห็นรัฐบาลชุดนี้ก็มีวาทกรรมอำมาตย์

ผมคิดว่าไม่ได้ผิดตรงมือ แต่ผิดที่คนของเราไม่รักหน้าที่ ไม่ยืนหยัดในหน้าที่ ถ้ามีคนที่ไม่มีหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่เห็นต้องสนใจ เขาทำอะไรเราไม่ได้ แต่ปัญหาหลักคือคนที่อยู่ในหน้าที่ไม่มั่นคง ไปคิดว่าอะไรสำคัญกว่าหน้าที่

- ถ้าคนที่อยู่ในหน้าที่เข้มแข็ง มือที่มองไม่เห็น หรืออำมาตย์ย่อมสั่งไม่ได้

ไม่ได้ สั่งไม่ได้อยู่แล้ว

- คนมีหน้าที่อาจกลัว ถ้าหากไม่ทำตามคำสั่งของคนที่อยู่นอกระบบ

เพราะกลัวตัวเองจะถูกลงโทษ เพราะกลัวว่าคนที่อยู่นอกระบบจะไปบอกคนที่มีอำนาจเหนือหัวตัวเองมาลงโทษตน ทางแก้คือให้คนที่อยู่ในระบบ ต้องอยู่ในระบบจริง ๆ มันก็หมดปัญหา คนอยู่นอกระบบควรอยู่ในบทบาทให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ รัฐบาลก็ควรทำให้เปิดเผย ไม่มีอะไรที่อยู่ในความมืด

- จะแนะนำน้อง ๆ ที่อยู่ในกองทัพเวลานี้อย่างไร

ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่ เป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นต้องมีทั้งจิตใจและการปฏิบัติ ต้องเรียกว่าตายเสียดีกว่าหน้าที่บกพร่อง ต้องมีสปิริตแบบนั้น

- ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการทำอะไรบ้าง

ช่วยงานการกุศลเป็นหลัก งานวิชาการ งานที่เราไม่ต้องการผลตอบแทน เพราะเราอยากทำงานช่วยเหลือประชาชนฟรี ๆ จึงเน้นงานวิชาการเยอะ ๆ บรรยาย เขียนหนังสือ ทำมูลนิธิเพื่อนสันติภาพ

- เคยคิดเขียนเกี่ยวกับรัฐประหาร

19 กันยายน 2549 บ้างไหม(ยิ้ม) ไม่เขียน แล้วก็ไม่คิดหรอกนะ แต่เวลานี้ได้แปลหนังสือเรื่องการสร้างชาติ หลังการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 200 ปีที่แล้ว คิดว่าถ้าเราได้อ่านมีประโยชน์เยอะ เพราะเราอยู่ในระยะสร้างชาติเหมือนกัน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พล.อ.บุญสร้าง ย้อนบทเรียน 19 กันยา 49 ทหารเป็นเหยื่อ นักวางแผนการเมือง จัดการม็อบก็เจ๊ง

view