จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ประสาร"ย้ำไม่ประมาทผลกระทบQE3พร้อมรับภาวะเงินทุนไหลเข้า ยันไม่ลดดอกเบี้ย เหตุธ.พาณิชย์แข่งขันระดมเงินฝาก-ปล่อยสินเชื่อ"ณรงค์ชัย"คาดดบ.ขาลง
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการQE- 3 เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม และไว้วางใจไม่ได้ แต่เชื่อว่าภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่เงินทุนจะไหลเข้ามากที่สุด เพราะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าเอเชีย แม้ผลของคิวอี 3 จะทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 1- 2% แต่ไม่รุนแรงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค
ดร.ประสาร กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีความสมดุล เห็นได้จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้น และพันธบัตร จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนต่างไปประเทศของคนไทย จำนวน 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป รวมทั้งการที่ดุลชำระเงินมีแนวโน้มเกินดุลเล็กน้อย ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ ทำให้แรงกดดันค่าเงินบาทแข็งค่าลดลง
ผู้ว่าฯธปท. ย้ำว่า ภาคเอกชนไม่ควรชะล่าใจ และต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพราะธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาท เมื่อเกิดภาวะตื่นตระหนก หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยจะไม่มีการฝืนกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้ธปท. ยังมีเครื่องมือในการดูแล และสามารถใช้ได้ดีพอสมควร แต่การดำเนินนโยบายก็มีต้นทุน จึงต้องผสมผสานการใช้นโยบาย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย รวมถึงกฎระเบียบที่ใช้ดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการเงินในยุโรป ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ไม่ลดดอกเบี้ย เหตุส่งสัญญาณตลาดผิด
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยโดยตรง จะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะธนาคารพาณิชย์ ยังมีการแข่งขันระดมเงินฝากเพื่อปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยตามนโยบาย และอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาดและนักลงทุน และสร้างผลกระทบให้กับระบบเศรษฐกิจได้
ดร.ประสาร กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ในส่วนของไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะนำข้อมูลจากหลายด้านมาประกอบกัน ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสูงกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพียงแต่เศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตได้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ขยายตัวร้อนแรงและธนาคารพาณิชย์ยังแข่งขันระดมเงินฝาก กนง.จึงห่วงว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจยังไม่ใช่การส่งผ่านนโยบายการเงินที่ดี และเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด
ส่วนข้อเสนอที่ว่าถ้าธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง จะเป็นการช่วยลดภาระของธปท.ในการดูดซับสภาพคล่องจากการออกพันธบัตรด้วยนั้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่กนง. รวมทั้งธปท. ต้องคิดอยู่เป็นประจำ เพราะการลดดอกเบี้ยนโยบายลง อาจช่วยให้รายจ่ายของธปท.ในการดูดซับสภาพคล่องลดลงตามไปด้วย แต่ธปท.จำเป็นต้องดูว่าผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างไรด้วย
ผู้ว่าธปท. ย้ำว่า การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบลักษณะนี้ ทำให้ราคาสินทรัพย์บางประเภทปรับตัวสูงขึ้น เช่น ทองคำ ดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเห็นในอดีต การปรับขึ้นลักษณะนี้เวลาที่หุ้นขึ้นไปมากๆ ก็มีความผันผวนมากเช่นกัน ดังนั้นควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
"ณรงค์ชัย"ย้ำQE3ไทยได้ประโยชน์-คาดดอกเบี้ยลดลง
ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวบรรยายเรื่อง “AEC & GMS and New Investment Opportunity” บอกว่าAEC และ GMS จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน แม้ว่าอาจจะยังประเมินออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ถ้าโดยลำพังจะให้เศรษฐกิจไทยโตจากนี้ในระดับ 5 - 6% โดยไม่มี AEC และ GMS เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือโอกาส
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ใช้มาตรการกระตุ้นเชิงปริมาณแบบผ่อนคลาย (QE-3) อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทยมากกว่าเพราะน่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นเป้าหมายของเม็ดเงินต่างชาติรวมทั้งไทยมากขึ้นด้วย แต่ภาพที่ดีคือมาตรการ QE-3 หากช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่แย่ และดึงเศรษฐกิจโลกไม่ให้แย่ไปด้วย เศรษฐกิจของไทยเองก็น่าจะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยเองนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องดูถึงเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนการสร้างสมดุลให้กับเงินทุนไหลออก (Capital Outflow) ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่เกิดจากเงินทุนไหลเข้าเหล่านี้
หลังวิกฤติต้มยำกุ้งมาประเทศไทยมีฐานะทุนสำรองที่ดีขึ้นตามลำดับมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน และอาจจะมีมากเกินความจำเป็น ซึ่งน่าจะใช้จังหวะนี้ในขณะที่ประเทศกำลังต้องการเงินลงทุนไปเพื่อพัฒนานำเงินเหล่านี้ออกมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสมก็จะช่วยลดแรงกกดันในเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาทได้เช่นกัน เพราะการที่ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเกินความจำเป็น และยังมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเช่นนี้ ธปท.เองก็จะต้องมีต้นทุนในการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน จึงน่าจะพิจารณาเพื่อสร้างสมดุลระหว่าเงินไหลเข้า-เงินไหลออกให้เหมาะสมด้วย
ดร.ณรงค์ชัย ย้ำว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยดูแลในเรื่องของเงินทุนไหลเข้า-ออก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะต้องมีการดูถึงมาตรการในด้านอื่น เพื่อจะมาใช้ในการดูแลไม่ให้เงินทุนไหลเข้าเร็วเกินไป จนส่งผลต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน หากมองแนวโน้มของดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี 1วัน) ในปัจจุบันคงอยู่ในแนวโน้มที่ทรงตัว หรือลดลงมากกว่า ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบด้วย เพราะปัจจุบันสินเชื่อในประเทศก็ยังเติบโตดีในระดับดอกเบี้ยปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คงต้องพิจารณาในทุกๆ ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน