สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาเซียนไหวตัวรับเงินเฟ้อผลข้างเคียงเศรษฐกิจ ร้อนแรงเกิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นอกเหนือจากที่เหล่าผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะต้องวิตกกังวลกับข่าวร้ายรายวันเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป จีน หรือแม้กระทั่งสหรัฐแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กันและจะกลายมาเป็นปัญหากวนใจที่สำคัญอีก อย่างในอนาคตอันใกล้คือ “ปัญหาเงินเฟ้อ”

ประการแรก นักวิเคราะห์มองว่าต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เหล่าบรรดาธนาคารกลางในอาเซียน โดยเฉพาะ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม ต้องเริ่มหันมาพึงระวังอย่างมากต่อปัญหาเงินเฟ้อนั่นก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างรวดเร็วและร้อนแรงเกินกว่า ที่คาดการณ์เอาไว้

อย่างเช่น เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 2 ปีนี้ที่จะโตมากถึง 6.4% สูงกว่าที่คาดไว้ 6.1% ขณะที่ในไตรมาสเดียวกันไทยโตที่ 4.2% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.1% สวนทางกับเขตเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐที่ไตรมาส 2 โตได้เพียงแค่ 1.3% ยูโรโซนหดตัวที่ 0.2% โดยสิ้นเชิง

ภาวะความร้อนแรงของเศรษฐกิจในอาเซียนในช่วงที่ผ่านมานั้น มีปัจจัยหลักมาจากเหตุผลสองประการก็คือ การขยายตัวของความต้องการบริโภคจากตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นกลางในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อินโดนีเซีย ที่ในปี 2009 ปริมาณชนชั้นกลางมีอยู่ที่ 50 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2014 จะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เป็นถึง 150 ล้านคนทีเดียว

นอกจากนั้น การทุ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศ อาเซียนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เข้าสู่ภาวะ ร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในอินโดนีเซียที่มีมูลค่ามหาศาล ถึง 194 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 6.29 แสนล้านบาท มาจนถึงโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในไทยมูลค่า 1.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ชี้ว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่นำโดยเอเชียกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และในปีนี้จะครอบครองสัดส่วนต่อผลผลิตจีดีพีของโลกมากกว่า 50% เป็นครั้งแรกในปีนี้ สวนทางกับเมื่อ 12 ปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียงแค่ 37% ของโลก จึงสรุปว่าภาวะความชะงักงันในเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกในวันนี้ไม่เพียงพอที่จะทำ ให้เอเชียสะดุดลงได้” เฟดเดอริก นูแมน หัวหน้าร่วมฝ่ายเศรษฐกิจเอเชีย จากสถาบันวิจัยโลกของธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี

นอกเหนือจากการเติบโตของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว มาจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการของรัฐแล้ว การไหลทะลักของเงินทุนจากตะวันตกเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนจากผลพวงมาจากการใช้ นโยบายอัดฉีดทางการเงินครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในช่วงก่อนหน้านี้ก็กำลังทำให้เกิดความวิตกต่อปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้มาก ขึ้นเช่นกัน

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางทั่วอาเซียนก็อยู่ในช่วงเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจ ดังเห็นได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืน พันธบัตรระยะ 1 วัน ลงที่ 0.25% ถึง 2 ครั้ง ในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว กับเดือน ม.ค.ปีนี้ ขณะที่มาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% มาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2011 ทำให้อัตราดอกเบี้ยในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ

“อัตราดอกเบี้ยในเอเชียยังคงต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นจริง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ความเสี่ยงที่มาจากวิกฤตหนี้ในยุโรปจะยังคงอยู่ก็ตาม” ฟิโอนา เลก นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารโกลด์แมน แซคส์ กล่าว

ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวนี้สะท้อนออกมาในรูปของข้อมูลตัวเลข เงินเฟ้อในเดือน ก.ย.นี่เอง ซึ่งระดับเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 3.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งทาง สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง ถึงกับยอมรับตรงๆ ว่า ตัวเลขเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.5% ในปีหน้า ขณะที่ปีนี้จะอยู่ที่ 3.3% ในส่วนทางฝั่งของมาเลเซีย สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3% ขณะที่ปีนี้จะอยู่ที่ 2.5%

ไม่เพียงเท่านั้น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ถึงกับออกโรงกระตุ้นเตือนพี่ใหญ่แห่งอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ว่าอย่าหลงลืมหันมาเตรียมพร้อมดำเนินนโยบายทางการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงในปัจจุบันกำลังทำให้ภาวะเงิน เฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของแดนอิเหนาจะเพิ่มสูงขึ้น 4.2% ในปีนี้ ขณะที่ปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 4.7%

ฉะนั้น แนวโน้มความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของบรรดาแบงก์ชาติทั้งหลายใน อาเซียน จึงอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเร่งคุมเข้มปัญหาเงิน เฟ้อมากขึ้นนั่นเอง

สอดรับกับความเห็นของ เผิงเฉิงตวน ผู้อำนวยการฝ่ายหนี้สินของบริษัทบริหารสินทรัพย์ แมนวลไลฟ์ จากสิงคโปร์ ที่กล่าวว่าหากมองในภาพกว้างแล้ว มีโอกาสที่ อินโดนีเซียจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้านี้ เนื่องจากฐานการบริโภคของตลาดภายในมีความแข็งแกร่งมาก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การที่ธนาคารกลางไทยกับมาเลเซียร่วมกันลงนามในข้อตกลงสวอปอัตราดอกเบี้ย ระหว่างกันเมื่อไม่นานมานี้ ยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดถึงความวิตกกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังก่อ หวอดขึ้น

“มีแนวโน้มการทำข้อตกลงสวอปดอกเบี้ยกำลังจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีไม่มากนัก ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังมองหาโอกาสในการตัดลดดอกเบี้ย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังดีขึ้น โดยเป็นผลพวงมาจากการกระตุ้นจากเฟดและอีซีบี” วีคุนฉง นักยุทธศาสตร์ จากธนาคารโซซิเอเตเจเนอร์ราล สาขาฮ่องกง กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่อาเซียนจะต้องพึงระวังและจะต้องควบคุมให้ดี จึงไม่ได้อยู่ที่ภารกิจในรักษาระดับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียง อย่างเดียว แต่ต้องระวังหลังไม่เสียท่าให้กับปัญหาเงินเฟ้อ ที่แม้แต่จีนที่เศรษฐกิจแน่ๆ ยังเสียท่าจนแทบเอาตัวไม่รอดมาแล้ว!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาเซียนไหวตัว รับเงินเฟ้อ ผลข้างเคียง เศรษฐกิจ ร้อนแรงเกิน

view