อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การแย่งชิงและความขัดแย้ง ระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย
จากประชาชาติธุรกิจ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม เช่น การร่ายรำ ดนตรีพื้นเมือง เพลงพื้นบ้านและผ้าบาติก จนทำให้วัฒนธรรมบางอย่างมีความคล้ายกัน หรือเคยใช้ร่วมกันมาก่อน
ทว่า การเกิดขึ้นของรัฐชาติเป็นตัวที่สร้างกรอบให้เกิดการแบ่งดินแดน และอัตลักษณ์ด้านต่าง ๆ ขึ้น ในที่สุดทำให้เกิดการอ้างสิทธิ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และนำไปสู่การขัดแย้ง เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ในกรณีกลอง 9 ใบ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555
ความขัดแย้งกรณีกลอง 9 ใบ หรือในท้องถิ่นอินโดนีเซียเรียกว่า "กอร์ดัง เซบิลัน" ซึ่งใช้ในการทำพิธีกรรมของชนเผ่าบาตักในเขตแมนไดลิงบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย กลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง เมื่อรัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาประกาศว่า "กอร์ดัง เซบิลัน" หรือในท้องถิ่นมาเลเซียเรียกว่า "ตอร์ ตอร์" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย ทำให้ชาวอินโดนีเซียในเกาะสุมาตราออกมาประท้วงที่สถานทูตมาเลเซียที่ประจำการอยู่ในอินโดนีเซีย โดยการจุดไฟเผาธงชาติมาเลเซีย
ความขัดแย้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม กรณีกลอง 9 ใบ ไม่ใช่เป็นกรณีแรก แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เกิดความขัดแย้งเรื่อง "ผ้าบาติก" ของอินโดนีเซีย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้วันศุกร์ที่ 2 ของทุกปี เป็นวันใส่เสื้อผ้าบาติก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะการที่รัฐบาลอินโดนีเซียแสดงพลังและอ้างสิทธิ์ ชิงการ
กระทำให้เหนือมาเลเซีย ทำให้ประชาชนมาเลเซียเกิดความไม่พอใจกับการตัดสินใจของยูเนสโก เพราะมาเลเซียก็อ้างว่าเป็นเจ้าของผ้าบาติกเช่นกัน
ดังนั้น จึงทำให้ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งตามมา สำหรับผ้าบาติกนั้นความจริงแล้วไม่ได้มีแค่อินโดนีเซียและมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังมีในไทย อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งการออกแบบของแต่ละประเทศก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันและมีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านของอินโดนีเซีย เมื่อรัฐบาลมาเลเซียและกระทรวงการท่องเที่ยวของมาเลเซีย ได้อ้างสิทธิ์ว่าเพลงพื้นบ้าน "Rasa Sayang" หรือ "รสชาติของความรัก" เป็นของมาเลเซีย ทำให้ชาวอินโดนีเซียเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ชาวอินโดนีเซียเกิดการต่อต้าน และอ้างว่าตนก็เป็นเจ้าของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้เหมือนกัน
ความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น มีท่าทีรุนแรงมากขึ้น ทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องออกมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการเจรจาและปรึกษาหารือ โดยคำนึงถึง ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน มีการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน
ดังนั้น ควรรักษาสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไว้ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดระดับความรุนแรงลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามในการแย่งชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศยังมีสถานการณ์ที่พร้อมจะระเบิดขึ้นตลอดเวลา
ปัญหาความขัดแย้งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีสาเหตุมาจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ปลูกฝังให้ประชาชนมีความคิด ว่าประเทศของตนเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้น ๆ ทั้งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมในภูมิภาคนี้
จากกรณีความขัดแย้งในการแย่งชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย จะเห็นได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา สิ่งนั้นจะเป็นเหตุและปัจจัยแก่ความขัดแย้งอยู่เสมอ ทั้งที่วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความดีงามแก่มนุษย์ แต่หากไม่ให้ความสำคัญในเชิงคุณค่า กลับไปแย่งชิงและอ้างว่าเป็นของตนเพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาค จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างไม่ควรจะเกิด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแต่ละประเทศเข้าใจในเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแค่ไหน อย่างไร และมีความสำคัญอันใดที่ต้องแสดงความเป็นเจ้าของแต่เพียงประเทศเดียว
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน