เราควรเตรียมตัวอย่างไรสำหรับ QE3
โดย : เสถียร ตันธนะสฤษดิ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เดือนที่แล้วผมเล่าเรื่อง Asean Financial Market Integration
ดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบรับจากท่านผู้อ่านพอควร เดือนนี้ก็เกือบจะเขียนภาค 2 ของเรื่อง Asean ต่อ แต่เผอิญไปอ่านเจอเรื่อง QE3 ในอินเทอร์เน็ต ประกอบกับไปเห็นข่าวผู้ใหญ่ในโลกการเงินบ้านเราบอกให้เตรียมตัวพร้อมรับกับ QE3 ผมในฐานะผู้น้อยก็เลย "น้อมรับ” เรามาเริ่มเลยนะครับ
ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านของผมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง QE3 นี้มากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแต่ตามแห่เขาไป (ซึ่งหากนำผลของปฏิกิริยาที่ตลาดการเงินมีออกมาไปใช้ “อย่างทันท่วงที” ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร) แต่ในโลกเราสมัยนี้ก็คงไม่ยากที่จะค้นคว้าเพื่อให้รู้มากขึ้น คงไม่ต้องรู้อย่างลึกซึ้งหรอกครับ ผมขออนุญาตเล่าเรื่อง QE3 อย่างสั้น ๆ เพื่อเป็นการ "ปูพื้น” ก่อนจะไปเล่าเรื่องการเตรียมตัวของพวกเราในตอนท้ายนะครับ
ข้อเท็จจริงก็คือ QE3 ของอเมริกาไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ญี่ปุ่น ,อังกฤษ ก็เคยใช้และกำลังใช้อยู่ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า QE3 เหมือนกับที่ Fed เรียก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือกรณีธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) เราทุกคนทราบอยู่ว่าญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และภาวะเงินฝืด (deflation) มานานกว่าสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นดี BOJ เองก็ใช้นโยบาย QE มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ต้นปี 2544 ขบวนการ QE ไม่ว่าจะเป็นของใคร มีกลไกที่คล้ายคลึงกัน
กล่าวคือ ธนาคารกลาง “พิมพ์แบงก์” ออกมา แล้วเอาไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets) จากธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเอกชนอื่นๆ (ไม่ได้ซื้อจากรัฐบาลนะครับ) โดยมีเป้าหมายที่จะฉีดเงินเข้าไปในระบบธนาคาร (และสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป)
กลไกการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ จะมีสภาพคล่องเหลืออยู่มาก กดดันให้มีการปล่อยสินเชื่อไปยังภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งในที่สุด ก็จะทำให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้จ่าย นำพาระบบเศรษฐกิจออกจากภาวะตกต่ำได้ในที่สุด
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ที่ธนาคารกลางใช้นโยบาย QE ก็คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอยู่ใกล้ศูนย์ หรือศูนย์ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน และระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีสภาพคล่องอย่างมากมาย หากเราดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ระบบเศรษฐกิจ ก็ยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควรตลอดระยะเวลากว่าสิบปี (ไม่อยากบอกว่าเกือบสิบห้าปี เพราะมันทำให้ผมเสียวๆ หากอเมริกาไม่กระเตื้องยาวนานขนาดนั้น) ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์มาโดยตลอด อาจกล่าวได้ว่า QE มันไม่เวิร์คที่ญี่ปุ่น ทำไมล่ะ?
1.QE จะเวิร์คก็ต่อเมื่อระบบธนาคารพาณิชย์จะต้องปล่อยสินเชื่อออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่เอาเงินไปทำอย่างอื่น โดยเฉพาะนอกระบบเศรษฐกิจของตนเอง
2.อัตราดอกเบี้ยที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์มันบั่นทอนฐานะของคนชอบออม และผู้เกษียณอายุ (Savers and Pensioners) บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องอาศัยดอกเบี้ยในการดำรงชีวิต ในเมื่อเก็บเงินฝากแบงก์แล้ว ได้ดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ เขาย่อมเลือกที่จะใช้จ่ายน้อยลง ดังนั้นหากประชาชนไม่ใช้จ่ายก็หมายความว่า ของที่ผลิตออกมาก็จะขายไม่ออก ผู้ผลิตก็จะหยุดผลิต สุดท้ายการจ้างงานก็ไม่เกิด
แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่า QE มันเริ่มเวิร์ค ผมขอให้ท่านตามตัวเลขเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะของอเมริกา) ดังนี้ให้ดีนะครับ ตัวเลขการจ้างงาน (อัตราการว่างงาน , Non farm Payroll , Jobless Claims) คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) Housing Starts และ New Home Sales (อันนี้อาจจะไม่ค่อยเน้นในตอนนี้เท่าไหร่เพราะว่าบ้านเก่ามีเหลือบานเบอะ) ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจกำลังกระเตื้องขึ้นมาหรือไม่อย่างไร ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ เราอาจจะ "มองข้าม" ไปก่อนก็ได้ หากท่านเป็นผู้ติดตามข่าวการเงินระหว่างประเทศเป็นประจำ ก็จะทราบว่าอเมริกามีตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจมากมายหากไม่เลือกสนใจก็จะสับสนและวิเคราะห์ผิดได้ แล้วเราต้องเตรียมตัวอย่างไรสำหรับ QE3
ข้อแรก ผมเชื่อว่า ดอกเบี้ยของไทยต้องลงมาในที่สุด ทั้งนี้เพราะมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า หากจะซื้อพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่ชอบ ก็น่าจะซื้อซะตอนนี้ก็จะดีกว่านะครับ
ข้อสอง หากมี Capital inflow ค่าเงินบาทก็คงจะแข็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือ เราค่อนข้างจะคุ้นเคยกับภาวะเงินบาทแข็งค่าเพราะเราอยู่กับมันมานาน คงไม่ต้องแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีกนะครับ
ข้อสาม ผมคาดการณ์ว่าหากเป็นไปตามข้อที่หนึ่งและข้อที่สองข้างต้น ทางการก็คงต้องต่อสู้กับภาวะดังกล่าวด้วยการผ่อนปรนและผ่อนคลายการไปลงทุนต่างประเทศ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะใช้โอกาสนี้ในการ "โกอินเตอร์” แต่ขอเรียนเตือนนิดนึงว่าหากจะลงทุนเมืองนอกจริง ๆ ต้องระวังปรากฏการณ์สองเด้งคือต้องดูแลบริหารราคาสินทรัพย์ที่ไปซื้อและดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
หาก Fed ยังยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาจะอยู่ที่ระดับต้อยต่ำอย่างนี้ไปอีกถึงปี 2015 (2558) และหากทางการทำการผ่อนปรนและผ่อนคลายตามข้อสามไม่ได้อย่างเพียงพอ สภาวะราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้น (asset bubbles) ก็จะกลายเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้เราต้องแก้ไข (และแก้ได้ยาก) ถึงแม้จะยังไม่ใช่ภัยคุกคามในตอนนี้ก็ตาม สุดท้ายเช่นเคยความเห็นในบทความที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม และขอได้โปรดใช้วิจารณญาณในการ "รับชม” นะครับ สวัสดี
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน