สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาร์จินใน Futures ต่างจากมาร์จินในหุ้นอย่างไร ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.พีรพล ประเสริฐศรี



Margin ถือว่าเป็น Concept ที่สำคัญมาก ๆ ที่ทุกคนต้องรู้ก่อนจะเริ่มการซื้อขายล่วงหน้า ในตลาดสินค้าล่วงหน้า
ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำศัพท์คำว่า มาร์จิน (Margin) มาบ้างนะครับ ท่านที่อยู่ในวงการค้าขายทั่วๆ ไป เช่น ขายของชำ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบ้านจัดสรร มักใช้คำว่า "มาร์จิน" หมายถึง ส่วนของกำไรที่พึงได้ในการทำธุรกิจ  เช่น ที่หลายท่านบ่นว่า สภาพธุรกิจปัจจุบันนี้อยู่ลำบากเพราะว่ามีคู่แข่งเยอะ ทำให้การค้าขายมีมาร์จินต่ำเหลือเกิน

ในธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า หรือ Futures Trading หรือ ธุรกิจหลักทรัพย์ (ค้าขายหุ้น) ก็มีคำว่า "มาร์จิน" เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการซื้อขายล่วงหน้า คำว่า Margin ถือว่าเป็น Concept ที่สำคัญมาก ๆ ที่ทุกคนต้องรู้ก่อนจะเริ่มการซื้อขายล่วงหน้า (Futures Trading) ในตลาดสินค้าล่วงหน้า (Futures Exchange)

โดยหนึ่งในขั้นตอนของการซื้อขายล่วงหน้านั้น จะมีการเรียกเก็บเงินประกันจำนวนหนึ่ง หรือ ที่เรียกว่า เงินมาร์จิน (Margin) ไว้เพื่อเป็นการรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะมีการเรียกเก็บเงินทั้งทางฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย จุดประสงค์ของการเรียกเก็บเงินดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าล่วงหน้านี้จะปฏิบัติตามภาระผูกพันที่มีอยู่ต่อตลาด

โชคร้ายอย่างหนึ่งนะครับ ว่า มาร์จิน ที่ว่านี้ ดันไปพ้องกับ การซื้อขายหุ้นแบบมาร์จิน (MARGIN) ของวงการตลาดหุ้นแบบชนิดว่าสะกดเหมือนกันเลย และมีลักษณะการใช้งานและการเรียกเก็บที่คล้ายคลึงกันอีก จึงชวนให้สับสนครับว่า มาร์จินที่เราใช้กันในวงการซื้อขายล่วงหน้า (Futures Trading) นั้น แตกต่างไปจาก การซื้อขายหุ้นแบบบัญชีมาร์จินของหุ้นอย่างไร

ตัวอย่างที่เป็นข่าวเป็นคราวของการซื้อขายแบบ Margin ในหุ้นวงการหุ้นเมื่อหลายปีมานี้ก็คือ การตกลงอย่างหนักกว่าร้อยจุดของดัชนี SET จากปรากฏการณ์อังคารทมิฬ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2549 (จากการที่แบงก์ชาติออกมาประกาศนโยบายเรื่อง Capital Control) ด้วยปริมาณการซื้อขายกว่า 75,000 ล้านบาท (ในวันนั้น SET เปิดที่ 721.85 จุด ตกลงต่ำสุดที่ 587.92 จุดและปิดที่ 622.14 จุด) โดยมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Market Capitalization) มีมูลค่าลดลงกว่า 820,000 ล้านบาท

ผลพวงจากการตกลงอย่างรุนแรงของ SET ในวันนั้น ทำให้นักเก็งกำไรของบ้านเราประเภทบัญชีซื้อขายด้วยมาร์จิน ถูก Broker บังคับให้ขายหุ้น หรือ Force Sale เป็นจำนวนมาก (ตามรายงานข่าวน่าจะมีการบังคับขายประมาณหมื่นกว่าล้าน)

ไม่ว่าตลาดหุ้นจะตกลงไปสักเท่าไรนะครับ หากเราซื้อขายหุ้นด้วยเงินสด Broker ก็ไม่มีสิทธิที่จะมายุ่งกับหุ้นของบัญชีเรา แต่หากลูกค้าซื้อขายหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิน (Margin Account) (หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บัญชีเครดิตบาร์ลานซ์ (Credit Balance Account)) ซึ่งในบัญชีนี้ ลูกค้าสามารถกู้ยืมเงินจาก Broker มาซื้อหุ้นได้ หากคิดว่าหุ้นจะมีแนวโน้มขึ้น (หรือสามารถยืมหุ้นจาก Broker มาขายก่อน หรือที่เรียกว่า Short Sale หากคิดว่าหุ้นมีแนวโน้มจะลง)

ในบัญชีมาร์จินนี้ ก่อนที่ลูกค้าจะเริ่มซื้อหุ้นแต่ละครั้ง Broker จะกำหนดให้ลูกค้าต้องวางเงินสดมาวางไว้เป็นหลักประกันไม่ต่ำกว่าอัตรา Initial Margin ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และเมื่อลูกค้าต้องการจะซื้อหุ้นมากกว่าหลักประกันที่วางไว้  ลูกค้าก็จะยืมเงินจาก Broker เพื่อนำไปจ่ายค่าหุ้นดังกล่าวไปก่อน (การยืมเงินนี้มีดอกเบี้ยด้วยนะครับ)  ซึ่งหากหุ้นตกลงอย่างหนัก ทำให้หลักประกันที่วางไว้ต่ำไปกว่าอัตราที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด Broker ก็จะเรียกให้ลูกค้านำเงินสดมาจ่าย หากไม่นำมา Broker ก็สามารถบังคับขาย หรือ Force Sale หุ้นที่อยู่ในบัญชีนั้นได้

แนวคิดของ Margin ในหุ้นนี้ คือการกู้ยืมเงิน นั่นเอง ซึ่งแตกต่างไปจากแนวคิดของ Margin ใน Futures หรือการซื้อขายล่วงหน้า ที่เงินประกัน หรือ Margin มีไว้สำหรับเป็น เงินมัดจำ หรือ หลักประกัน (ตามตำราเรียกว่า A Sign of Good Faith คล้ายกับการวางหลักทรัพย์ หรือ ทรัพย์สิน เพื่อประกันตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ) โดยเงิน Margin ใน Futures นี้ไม่ใช้เงินที่นำมาใช้จ่ายค่าสินค้า (ไม่เหมือนกันหุ้นที่เงิน MARGIN มีไว้เพื่อจ่ายค่าหุ้น) แต่เป็นเงินที่วางไว้เพื่อให้ได้มาของสิทธิที่จะซื้อ หรือ จะขายสินค้าในวันข้างหน้า การจ่ายเงิน-รับเงินสำหรับการซื้อขายสินค้าจริง จะมีขึ้นเมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าครบกำหนดส่งมอบแล้วเท่านั้น

เงินมัดจำหรือหลักประกัน ที่ว่านี้ก็แตกต่างไปจากเงินมัดจำในวงการค้าทั่วไป เช่น จองบ้าน หรือ จองรถ ซึ่งผู้ซื้อต้องเป็นผู้ที่ต้องวางเงินมัดจำ แต่ใน Futures Trading นี้ กำหนดให้มีการวางเงิน Margin ทั้งทางฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขาย ในอัตราที่เท่าๆ กัน

ก็มักมีเสียงบ่น หรือ Complaint ครับจากผู้คนในวงการสินค้าจริง (เช่น โรงสี หรือ ผู้ส่งออก ที่มีสินค้าต้องการขายจริง ๆ) ว่าทำไมผู้ขายต้องวางเงินประกันด้วย ทั้ง ๆ ที่เขาต้องการจะส่งสินค้าจริง แต่การที่บังคับให้ผู้ขายมาวางเงิน Margin นั้น สามารถอธิบายให้เข้าใจได้จากตัวอย่างกรณี  เมื่อมีนายดำเจ้าของโรงงานยางเข้ามาขายล่วงหน้า RSS3 Futures ไว้ใน AFET ที่ราคา 80 บาท/ก.ก. ผ่านไป 2 เดือน ราคายางปรับเพิ่มเป็น 120 บาท/ก.ก. หากไม่มีการเก็บเงินประกันเอาไว้ ก็มีความเป็นไปได้อย่างมาก นายดำอาจไม่ต้องการขายที่ 90 บาทใน AFET แล้ว แต่ต้องการขายยางของตนให้ได้ 120 บาท ตามราคาตลาดมากกว่า

ในทำนองเดียวกับ ผู้ซื้อล่วงหน้า ที่อาจบิดพลิ้วสัญญาได้ กรณีราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตนถืออยู่มีราคาลดลง (เช่น จาก 120 บาท ตกกลับลงมาเหลือ 80 บาท) ก็มีแนวโน้มว่า ผู้ซื้อรายนี้อาจเปลี่ยนใจ ไม่ยอมซื้อที่ราคา 120 บาทแล้ว  

กระบวนการวางเงิน Margin จึงมีความสำคัญมากในธุรกิจซื้อขายล่วงหน้า เพราะว่า การวางเงิน รับเงิน จ่ายเงิน ทำกำไรและขาดทุน ล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการวางเงิน Margin ทั้งสิ้น ซึ่งเงินประกันที่ว่านี้มีอยู่หลายประเภท แต่ที่สำคัญๆ ได้แก่ เงินประกันขั้นต้น (Initial Margin)  เงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin)  เงินประกันเรียกเพิ่ม (Variation Margin) เงินประกันระหว่างวัน (Intra-Day Margin) ซึ่งรายละเอียดขออนุญาตนำมากล่าวในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มาร์จินใน Futures มาร์จินในหุ้น

view