จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 ก็เรียบร้อยรอเพียงการโปรดเกล้าฯ และเข้าถวายสัตย์ในเร็ววันนี้
หากจับสัญญาณการแต่งตั้งว่าที่รัฐมนตรีใหม่และรัฐมนตรีหน้าเก่าที่สลับ เก้าอี้ไปมา จะพบว่าไม่ได้มีนัยเพียงเพื่อลดแรงกดดันภายในพรรคเพื่อไทย หรือการต่างตอบแทนเท่านั้น
แต่มีเป้าหมายเฉพาะ “เจาะจง” แต่แฝงเร้นผลในทางการเมืองเช่นกัน
เริ่มตั้งแต่เก้าอี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ยังเกาะเก้าอี้เหนียวหนึบทั้งสองเก้าอี้ โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.คลังที่มีข่าวออกมาว่า วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง บ้านเลขที่ 111 ที่พ้นโทษทางการเมือง และมีภาษีพอที่จะนั่งเก้าอี้ รมว.คลัง แต่กลายเป็นว่า ถูกบังคับให้เลี้ยวซ้ายเข้านั่งในตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทน
ทำให้แรงกดดันในฐานะรัฐมนตรีเบอร์ 1 ในรัฐบาลปูของ กิตติรัตน์ จึงหาคนดับรัศมียาก
เป็นที่รู้กันว่า กิตติรัตน์ เป็นรัฐมนตรีคนสำคัญที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไว้ใจมากที่สุด ทั้งเป็นสายตรง “คนไกลบ้าน” ที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ ของรัฐบาลภายใต้สโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”
ผลงานตลอด 1 ปีของ กิตติรัตน์ อาจไม่เข้าตาใครหลายคน แต่เข้าตานายกรัฐมนตรีที่มอบให้ กิตติรัตน์ กระทำการแทนในแทบทุกเรื่อง และเข้าตานายใหญ่แน่ๆ
โดยเฉพาะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่เดินหน้าเต็มพิกัดรักษาฐานเสียงรากหญ้าได้อยู่หมัด
ในขณะที่มีผลงานชิ้นโบแดงการันตีว่าเก้าอี้ “เดอะโต้ง” ไม่หักกลางทาง ก็คือการออกกฎหมายกู้เงิน 4 ฉบับจนสำเร็จลุล่วง
โดยเฉพาะกฎหมายการโอนภาระกองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้แบงก์ชาติ และกฎหมายกู้เงินลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
แม้ว่า 1-2 เดือนก่อนปรับ ครม. กิตติรัตน์ ออกอาการ “แกว่ง” ให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งแรงกดดันจากภายนอก ส่วนภายในก็ถูกทีมที่ปรึกษาก๊วนหูกระต่าย “แทงข้างหลัง” เพื่อเขี่ยให้พ้นทาง จากการหลุดปาก “โกหกสีขาว” จนนายใหญ่ต้องเรียกบินด่วนไปเคลียร์
ไม่เพียงเท่านั้น กิตติรัตน์ ยังใช้กำลังภายในเดินสายพบ “บิ๊กสื่อ” 4-5 ค่ายใหญ่ เพื่อเคลียร์ใจ หวังใช้เป็นฐานสนับสนุนให้เก้าอี้มั่นคงขึ้น
เพราะลำพังแรงหนุนจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฝ่ายเดียวคงไม่พอ
แต่การที่ กิตติรัตน์ ยังนั่งถ่างขาควบเก้าอี้ รมว.คลัง นอกจากประเด็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ให้ลุล่วงแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าขบคิด...
นั่นคือ ทั้งๆ ที่วราเทพได้แรงหนุนส่งจาก “เจ๊ใหญ่” และรู้งานกระทรวงการคลังดี แต่ไม่อาจคว้าเก้าอี้ รมว.คลัง ได้
สาเหตุอาจเป็นความไม่ไว้ใจคนรอบข้างของ กิตติรัตน์ ก็เป็นได้
โดยเฉพาะกรณีล่าสุด หนังสือ กค 0904/17560 ลงวันที่ 3 ต.ค. 2555 ที่ระบุตัวเลขการใช้เงินในโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวตั้งแต่ปี 2547 ที่รัฐบาลต้องรับภาระต้นเงินและดอกเบี้ย 7.87 แสนล้านบาท มีผลขาดทุน 2.07 แสนล้านบาท หนี้สินคงค้าง 4.55 แสนล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้แล้ว 3 แสนล้านบาท
เอกสารฉบับนี้ที่รั่วออกมาทำให้ กิตติรัตน์ ออกอาการฉุนกึกเลยทีเดียว
แต่ที่สำคัญ คือ หนังสือฉบับนี้ลงนามโดย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นรัฐมนตรีสายเจ๊ใหญ่ โดยมีวราเทพยืนเป็นเงาค้ำ
หากมีวราเทพเข้ามารั้งตำแหน่งว่าการฯ อีกคน เท่ากับกระทรวงนี้ถูกคุมโดยคนสายเจ๊ใหญ่ กิตติรัตน์อาจถูกแทงซ้ำจากข้างหลังได้ทุกเมื่อ
วราเทพจึงลงเอยที่ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
แต่ใช่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความหมาย เพราะเป็นบททดสอบฝีมือวราเทพ เนื่องด้วยในปี 2556 รัฐบาลต้องเร่งผันเงินทุกบาททุกสตางค์ตามนโยบายเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และกองทุนเอสเอ็มแอล 1.02 แสนล้านบาท ลงพื้นที่เพื่อโด๊ปเศรษฐกิจฐานราก
เพื่อสร้างกำลังซื้อทดแทนภาคการส่งออกที่ยังเอาแน่ไม่ได้
หากผลงานเข้าตา เป้าหมายต่อไปของวราเทพ คือ รมว.คลัง
เก้าอี้ รมว.พลังงาน ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เหตุใด “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล สายตรงนายใหญ่ ที่หมายตาเก้าอี้ รมว.คมนาคม มานาน จึงยอมถอยลงมานั่งตำแหน่ง รมว.พลังงาน
แน่นอนว่า งานหลักของเฮียเพ้งคงไม่ใช่แค่การ “เคาะ” ราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซแอลพีจี และดูแลนโยบายพลังงานเท่านั้น
เพราะเกือบ 10 ปีกระทรวงพลังงานอยู่ใต้เงาคนที่ชื่อ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดินมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งกระทรวงพลังงานยังไม่แยกสายออกจากกระทรวงอุตสาห กรรม โดยส่งคนของตัวเอง หรือแม้แต่ศรีภรรยาอย่าง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ มานั่งเก้าอี้ตัวนี้ โดยมีข้าราชการระดับ “บิ๊ก” ที่เกื้อหนุนกันมาเป็น 10 ปี
เพราะต้องไม่ลืมว่ากระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะบริษัท ปตท.และบริษัทในเครือ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“เฉพาะการเทรดน้ำมัน ก๊าซ และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศของ ปตท. มีผลประโยชน์มหาศาล ไม่รู้ว่าแต่ละปีมีเงินไหลไปไหลมาปีละหลายพันล้านบาท” แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผย
แม้ยุคที่พรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงพลังงาน แต่ไม่อาจ “กัน” สุวัจน์ ให้พ้นทางได้
ไม่ว่าจะเป็น พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ขาเก้าอี้หัก ที่เจ้าตัวเชื่อว่าตัวเองถูก “วางยา” ทั้งการแจกคูปองซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า บัตรเครดิตพลังงานที่ช้าเป็นเต่าคลาน กระทั่งนายใหญ่ต้องเรียกใช้บริการลูกหม้อเครือชินคอร์ปอย่าง อารักษ์ ชลธาร์นนท์ เข้ามาขัดตาทัพ
แต่เมื่อ 6 เดือนผลงานไม่ประจักษ์ นักบริหารมืออาชีพอย่างอารักษ์ ต้องถอยและเปิดทางให้ “เฮียเพ้ง” ที่มีชั้นเชิงและเหลี่ยมคูการเมืองสูสีกับ สุวัจน์ ทั้งมีส่งกำลังหนุนอย่าง ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตซีอีโอบริษัท ปตท. เข้าจัดระเบียบองค์กรใหม่ นั่นหมายถึงการรื้อฐานอำนาจเดิม และทำให้กระทรวงนี้เป็นของพรรคเพื่อไทยแท้จริง
ขณะที่เก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการโยก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ไปเป็น รมช.พาณิชย์ ที่ว่ากันว่า เพื่อให้ณัฐวุฒิเป็นกระบอกเสียงหรือโฆษกชี้แจงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแทน บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่ตกเป็นเป้าถล่มบ่อใหญ่
เก้าอี้รัฐมนตรีที่น่าติดตามที่สุดอีกเก้าอี้หนึ่ง คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่เลื่อนชั้นมาเป็น รองนายกรัฐมนตรี
แม้หลายครั้งตำแหน่งนี้ถูกมองว่า เป็นตำแหน่งที่ถูกแขวน แต่ไม่ใช่นาทีนี้แน่นอน เพราะ ปลอดประสพ เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่กุมเงินลงทุนมากที่ สุด
นั่นเพราะ ปลอดประสพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และประธานคัดเลือกบริษัทที่เสนอกรอบแนวคิดและการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยที่มีวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่จะมีการลงทุนขนานใหญ่อย่างช้าภายในต้นปีหน้า
การที่ ปลอดประสพ มาเป็นรองนายกฯ และมีอำนาจลงนามเสนอเรื่องเข้า ครม.ได้เอง ทำให้การลงทุนระบบน้ำของประเทศมีลักษณะไม่ต่างจากระบบ “One Stop Service” หรือบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
และที่สำคัญที่สุดปี 2556 จะเป็น พ.ศ.แห่งการลงทุนของภาครัฐอย่างแน่นอน
เพราะการทุ่มเงินงบประมาณไปถมโครงการประชานิยมจำนวนมหาศาล รังแต่จะทำให้ฐานะการเงินของประเทศสุ่มเสี่ยงและไม่มีความยั่งยืน
การลงทุนที่แท้จริงอันจะก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน การสร้างกำลังซื้อ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานจึงไม่ใช่เพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่หมายถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานประเทศรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เช่น การลงทุนรถไฟฟ้า 10 เส้นทางในกรุงเทพฯ
รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง และระบบขนส่งเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือทวาย
การลงทุนที่หลากหลายในมิติเหล่านี้ล้วนเป็น “หัวใจ” ที่ต้องการคนมีฝีมือมาขับเคลื่อน
ขณะที่การขึ้นชั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็น รมว.คมนาคม แทน จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่โยกไปเป็น รมว.มหาดไทย ถือว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะจากผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการวิศวกรรมโยธา เป็น รมต.สมัยแรกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และก้าวขึ้นมาเป็นรมว.คมนาคมภายในระยะเวลาไม่ ถึงปี
ด้วยประสบการณ์จากการเป็นที่ปรึกษาโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ และเป็นรัฐมนตรีอีกคนที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เรียกใช้บริการบ่อยครั้ง และบุคลิกที่ “ไม่มีนอกมีใน” เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับกิตติรัตน์ และได้รับความ “เอ็นดู” แม้แต่ทีมที่ปรึกษานายกฯ โดยเฉพาะ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกฯ
บทบาทของ ชัชชาติ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 คือ เร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด
เพราะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องการ “มือปฏิบัติ” ที่รู้เรื่องระบบงานโยธาเป็นอย่างดี
แต่ด้วยวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีเม็ดเงินมหาศาลนับล้านล้านบาท เป็นที่หมายตาของใครหลายคน นายใหญ่จึงตัดสินใจส่ง พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต “เพื่อนซี้” ตท.10 เข้ามาไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ลงตัว เพื่อให้โครงการลงทุนคืบหน้าไปได้
เมื่อไล่เรียงตำแหน่งว่าที่รัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจจะมีนัยการเมืองคละเคล้า
แต่คงไม่สำคัญเท่ากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศภายใต้แผนการลงทุนขนาด ใหญ่ทั้งหลาย หากการลงทุนสูญเปล่าและไม่คุ้มค่า มีเงินตกหล่นกลางทางจนโครงการกลายเป็นเบี้ยหัวแตก
ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน