สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศก.เอเชียฟื้นไม่จริง คิวอี-หนี้ยุโรปยังแผลงฤทธิ์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

นับเป็นการคลายความกังวลของบรรดานักลงทุนที่มีต่อ “เอเชีย” ในฐานะภูมิภาคผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจไตรมาสล่าสุดของประเทศยักษ์ใหญ่ ในภูมิภาค ที่ต่างขยับขยายและเติบโตอยู่ในช่วงขาขึ้นกันอย่างถ้วนหน้า

หากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญสำหรับการวัดแนวโน้มการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการ ผลิตของแต่ละประเทศในเอเชีย ต่างปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นดัชนีพีเอ็มไอของอินโดนีเซีย ที่ขยายตัวขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 มาอยู่ที่ 51.9 จาก 50.5 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่แนวโน้มภาคการผลิตของเกาหลีใต้ ที่แม้ขยายตัวอยู่ที่ 47.4 ในเดือน ต.ค. แต่ทว่าเป็นระดับที่ทะยานขึ้นจากเมื่อเดือน ก.ย. ที่เพียง 45.7 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 43 เดือนทีเดียว

เช่นเดียวกับดัชนีพีเอ็มไอประจำเดือน ต.ค.ของประเทศเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของภูมิภาคอย่างจีน ประจำเดือน ต.ค. ที่พุ่งขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนจาก 49.8 ในเดือน ก.ย. มาอยู่ที่ 50.2 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้อย่างมาก

สอดคล้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดของชาติอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไต้หวันที่ขยายตัวขึ้น 1.02% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังจากที่เมื่อไตรมาสที่ผ่านมาหดตัวลงถึง 0.8% ตลอดจนถึงอัตราว่างงานในสิงคโปร์ที่ลดลงอยู่ที่เพียง 1.9% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2554

ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า ภูมิภาคเอเชียอาจเริ่มหลุดพ้นจากวังวนวิกฤตเศรษฐกิจ ภายหลังถูกพายุเศรษฐกิจหนี้ในภูมิภาคยุโรป และสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวพ่นพิษใส่อย่างช้าๆ แล้ว

“ดัชนีพีเอ็มไอของจีนเดือนล่าสุด พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจแดนมังกรได้ดิ่งอยู่ในระดับต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่าง เสถียรภาพแล้ว” ชาง หลีฉวิน นักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์การวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายของคณะรัฐมนตรีแดนมังกร กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะของแดนมังกรฟื้นตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของภาครัฐที่ทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ยกเครื่องและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่

เรียกได้ว่า ความพยายามดังกล่าวสามารถทดแทนสัดส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนในภาคเอกชนที่ ดิ่งลงอย่างหนัก จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่ช่วยชุบชีวิตภาคการส่งออกที่ต้องซบเซาลง หลังยอดสั่งซื้อสินค้าจากตลาดส่งออกหลักอย่างยุโรป หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความโล่งอกต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของเอเชีย นักวิเคราะห์บางส่วนได้ส่งเสียงเตือนออกมาพร้อมๆ กันว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ปรากฏผ่านตัวเลข ข้อมูล สถิติ ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ แท้จริงแล้ว อาจเป็นเพียงการเติบโตที่เป็นภาพลวงตาเท่านั้น

เหตุเพราะต้องไม่ลืมว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่กระแสเงินทุนร้อนๆ กำลังไหลทะลักเข้ามาในเอเชียอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อคืนพันธบัตร ตามแผนผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา วงเงินสูงถึงเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.24 ล้านล้านบาท)

ถึงแม้ว่าในมุมมองของนักวิเคราะห์บางส่วน ซึ่งหมายรวมถึง ราจิบ บิสวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ มองว่า ผลพวงคิวอี 3 ของสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียได้อีกทางหนึ่ง

เหตุเพราะเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าจากเอเชียของสหรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แล้วยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่ม ขึ้น ตลอดจนผลักดันให้ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพเศรษฐกิจเอเชีย

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชีย จากผลพวงของการใช้นโยบายคิวอีนี้ กลับกลายเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ได้ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเชิงลบอันรุนแรง นั่นก็คือปัญหาเงินแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้

“คิวอี 3 เป็นเหมือนดาบสองคม คือถึงแม้ว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยกระตุ้นให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีคุณภาพแต่ อย่างใด” บอริส สกอลอสเบิร์ก กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดการสินทรัพย์ บีเค กล่าว

เห็นได้จากกรณีของฮ่องกง ที่จำเป็นต้องเดินหน้าเข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่อเนื่องเป็นครั้ง ที่ 5 ในรอบเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากที่ค่าเงินเหรียญฮ่องกงแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 7.75 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเพดานต่ำสุดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ฮ่องกงผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงิน เหรียญสหรัฐ อันเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการเงินเหรียญฮ่องกง ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียไร้ เสถียรภาพ เนื่องจากฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่เอเชียยังคงต้องพึ่งพา ทั้งยุโรปและสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะซบเซาอย่างไม่มีวี่แววดีขึ้น

“เราอาจเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย แต่เชื่อได้เลยว่า จะไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในระยะเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน เพราะปัญหาต่างๆ นานาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียยังคงอยู่เช่นเดิม” เอ็ดเวิร์ด ลี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประจำสิงคโปร์ กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ คู ฮงบิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีน ที่มองว่า หนทางเดียวที่เขตเศรษฐกิจเอเชียจะสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การเดินหน้าลุยผ่อนปรนนโยบายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้สามารถรับมือกับวิกฤตภายนอกได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

“ถึงเวลาที่เอเชียต้องหันมาพึ่งตัวเอง ด้วยการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อต่อสู้กับวิกฤตภายนอก และนำไปสู่การฟื้นตัวในไตรมาสต่อๆ ไป” ฮงบิน กล่าว

เหตุเพราะตราบใดที่วิกฤตหนี้ยุโรปยังอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐยังซบ แถมเอเชียยังชะล่าใจไม่มีนโยบายรับมือกับปัญหาอย่างจริงจัง สภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ก็ยังคงเป็นเพียงสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศก.เอเชีย ฟื้นไม่จริง คิวอี หนี้ยุโรป แผลงฤทธิ์

view