สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตาผลกระทบคิวอี3 ระเบิดเวลาสงครามค่าเงิน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

จับตาผลกระทบคิวอี3 ระเบิดเวลาสงครามค่าเงิน? ฉากแรกสะเทือนตลาดเงินฮ่องกง แค่ 2 สัปดาห์ทุ่ม 4.16 พันล้านดอลลาร์ ป้องค่าเงิน "ไทย"ยังไม่กระทบ
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักฟันธงตรงกันว่าคิวอี3 หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ3 ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะไม่คมเหมือนคิวอี1 และ คิวอี2เพราะถ้าดูการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ รวมไปถึงค่าเงินบาทไทยแล้ว ต้องบอกว่า “ราคา” แทบไม่ขยับไปจากเดิมมากนัก

เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินฮ่องกง ล่าสุด อาจทำให้มุมมองที่มีต่อคิวอี3 ของสำนักวิจัยเหล่านี้เปลี่ยนไป เพราะในช่วงเวลาแค่ 2 สัปดาห์ ธนาคารกลางฮ่องกง ต้องใช้เงินราว 3.21 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 4.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรารวม 10 ครั้ง เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินฮ่องกงให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกง/ดอลลาร์สหรัฐ

การเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราของธนาคารกลางฮ่องกง ส่งผลให้ยอดรวมดุลจากบัญชีเคลียร์ริ่งของธนาคารต่างๆ กับธนาคารกลางฮ่องกง หรือ Aggregate Balance ไต่ระดับขึ้นสู่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง

กรณีของฮ่องกง สร้างความฮือฮาให้กับตลาดเงินทั่วภูมิภาคเอเชียอย่างมาก เพราะการเข้าแทรกแซงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พากันกล่าวหาว่าคิวอี3 คือ ตัวการหลักของความปั่นป่วนในตลาดเงินฮ่องกง ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของสงครามค่าเงินที่กำลังจะระเบิดขึ้นอีกครั้ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงนั้น นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายงานวิจัยบางฉบับที่แนะนำให้ธนาคารกลางฮ่องกง เปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยยกเลิกระบบ Currency Board จึงจุดประกายให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินฮ่องกงจำนวนมาก

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินฮ่องกง เป็นเรื่องของนโยบายการเงินที่ไปฝืนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่าจะเป็นเรื่องสงครามค่าเงิน

"หลักแล้วเงินฮ่องกงควรแข็งขึ้น เพราะเศรษฐกิจค่อนไปทางจีน จะเห็นว่าจีนเองช่วงหลังๆ ค่าเงินก็แข็งขึ้นเช่นกัน แต่ของฮ่องกงเขาใช้ระบบ Currency Board เลยทำให้ไม่เคลื่อนไหว เพราะไปผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เงินไหลเข้าฮ่องกง เพราะคิดว่าสามารถซื้อสินทรัพย์ฮ่องกง และเก็งว่าราคาว่าจะเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ค่าเงินฮ่องกงเอง นักลงทุนเหล่านี้ก็คิดว่าวันหนึ่งจะแข็งค่าขึ้น พอเงินไหลเข้าฮ่องกงมากๆ ทางการจึงต้องเข้าดูแล"

@ตลาดเงิน-ทุนของไทยยังไม่กระทบ

สำหรับตลาดเงินตลาดทุนของไทย แม้คิวอี3ยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจน แต่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญไม่น้อย ล่าสุดมีคำสั่งให้ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งธปท. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมทั้ง กระทรวงการคลัง เกาะติดสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหลังปรากฏข่าวความปั่นป่วนในตลาดเงินฮ่องกง อาจเพราะไทยเคยเผชิญกับ “ฝันร้าย” จาก “คิวอี” ที่ผ่านๆ มา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนผู้ประกอบการภาคส่งออกต้องปิดกิจการไปหลายราย

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจปรึกษาหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกกับสื่อมวลชน

@"คิวอี1"พุ่งเป้าตลาดหุ้น

ถ้าย้อนดูผลกระทบ “คิวอี1” และ “คิวอี2” ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า “คิวอี1” เป้าหมายมุ่งไปที่ “ตลาดหุ้น” เป็นส่วนใหญ่ โดยขนาดของ คิวอี1 อยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินบางส่วนจึงไหลเข้าตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

ระยะเวลาของ “คิวอี1” อยู่ระหว่างวันที่ 25พ.ย.2551 ถึง 31 มี.ค. 2553 ช่วงนั้นดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นราว 104% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 386.12 จุด มาอยู่ที่ 787.93 จุด ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี) เพิ่มจาก 6.09 เท่า มาอยู่ที่ 14.27 เท่า นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวมถึง 106,080.04 แสนล้านบาท ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นกว่า 8.78% แต่ยอดถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติลดลง 450 ล้านบาท

@"คิวอี2" เข้าตราสารหนี้

ต่อมาสหรัฐฯประกาศใช้ “คิวอี2”อีกรอบ แต่ผลกระทบแตกต่างจาก “คิวอี1” โดยสิ้นเชิง เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งความจริงแล้วก่อนที่เฟดประกาศใช้ คิวอี2 เริ่มมีเม็ดเงินบางส่วนจากคิวอี1 ที่ได้กำไรจากผลตอบแทนจากราคาหุ้น เริ่มหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยกับพันธบัตรธปท.บ้างแล้ว

หลังจาก “เฟด” ประกาศมาตรการ “คิวอี2” ซึ่งใช้เงินราว 7.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกำหนดระยะเวลา 8 เดือน นับจากวันที่ 3 พ.ย.2553 ถึง 30 มิ.ย.2554 พบว่ายอดถือครองพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่มขึ้นราว 115% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 202,865 ล้านบาท มาอยู่ที่ 436,658 ล้านบาท และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง 3.25% ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย 3.57% โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 11,307.55 ล้านบาท

@คิวอี3" เจาะประเทศผูกค่าเงิน

แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้ “คิวอี3” ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ 13 ก.ย. 2555 โดยกำหนดเป้าหมายอัดฉีดในแต่ละเดือน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังไม่รุนแรงเท่ากับ "คิวอี1-คิวอี2" แต่สัญญาณเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น โดยเป้าหมายของคิวอี3 ดูเหมือนจะล็อกไว้ที่ประเทศ ซึ่งมีค่าเงินอ่อนเกินความเป็นจริง หรือ ประเทศที่ผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ

@“ฮ่องกง” ถือเป็นคำตอบที่ชัดเจน

“คิวอี3 อาจไม่หนักเท่าคิวอีที่ผ่านๆ มา เพราะเป็นลักษณะค่อยๆทำ ไม่ออกมาตูมเดียวเหมือนกับคิวอี1-2 ที่ใช้ในอดีต ส่วนเรื่องเก็งกำไรค่าเงินนั้น คงมีบ้างในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือ ที่ผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ

"กรณีไทยนั้น โอกาสเกิดมีเช่นกัน แต่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยเป็นแบบลอยตัว จึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับมากกว่า”นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าว

คิวอี3 แม้ยังไม่สร้างความลำบากใจให้กับประเทศไทยมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งบางคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ช่วงนี้ยังเป็นเพียงช่วงสะสมพลังของ คิวอี3 เพราะด้วยขนาดเม็ดเงินที่ปล่อยออกมาเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงแค่ 1 ปี 7 เดือน ปริมาณเงินจะเทียบเท่า คิวอี 2

หากปริมาณเงินในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาอีก ผลกระทบต่อตลาดคงปั่นป่วนไม่น้อย ทั้งนี้ ขึ้นกับความสามารถในการรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และก็หวังว่าปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนในตลาดโลก และไหลเข้าสู่เอเชีย จะไม่ก่อโศกนาฏกรรมทางการเงินรอบใหม่กับไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตาผลกระทบ คิวอี3 ระเบิดเวลา สงครามค่าเงิน

view